รอยเตอร์ – แอปเปิล อิงค์ กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯแห่งแรกที่มีมูลค่าตลาดแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (2 ส.ค.) หลังดีดตัวต่อเนื่องมานานกว่าทศวรรษจากความนิยมแพร่หลายของไอโฟน ที่เปลี่ยนบริษัทแห่งนี้จากผู้ครองตลาดเฉพาะทางในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเข้าสู่มหาอำนาจโลกที่แผ่ขยายครอบคลุมอาณาจักรบันเทิงและการสื่อสาร
หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้พุ่ง 2.8% แตะระดับสูงสุด 207.5 ดอลลาร์ ปรับขึ้นมาราวๆ 9% ตั้งแต่วันอังคาร (31 ก.ค.) หลังจากแอปเปิลรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ดีกว่าที่ประมาณการไว้ และบอกว่าจะซื้อหุ้นคืน 20,000 ล้านดอลลาร์
แอปเปิลเปิดเผยผลประกอบการช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ซึ่งเป็นไตรมาส 3 ตามปีงบการเงินของบริษัท โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 17% อยู่ที่ระดับ 5.33 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.23 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 2.34 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 40% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.18 ดอลลาร์
แอปเปิล ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในโรงรถของ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งร่วมในปี 1976 เดินหน้าผลักดันรายได้ของบริษัทพุ่งทะยานจนกระทั่งแซงหน้าผลผลิตทางเศรษฐกิจของโปรตุเกส, นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ระหว่างนั้นพวกเขายังได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการเชื่อมโยงกันระหว่างกันของพวกผู้บริโภค รวมถึงแนวทางการค้าขายรายวันของภาคธุรกิจทั้งหลาย
จ็อบส์ หนึ่งใน 3 ผู้ก่อตั้ง ผลักดันให้เกิดแอปเปิลในช่วงกลางทศวรรษ 1980 แต่เพิ่งได้รับผลตอบแทนในทศวรรษต่อมาและช่วยกอบกู้บริษัทคอมพิวเตอร์จากการเข้าใกล้ภาวะล้มละลาย
เขาเปิดตัวไอโฟนครั้งแรกในปี 2007 ถอดคำว่าคอมพิวเตอร์ออกจากชื่อของแอปเปิลและเพิ่มสรรพกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ สร้างความประหลาดใจแก่ ไมโครซอฟต์ คอร์ป, อินเทล คอร์ป, ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และโนเกีย ที่ต่างตั้งตัวกันไม่ทัน
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯแห่งแรกที่มีมูลค่าตลาดแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว แอปเปิล ยังอยู่บนเส้นทางขึ้นแท่นบริษัทใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯหากคิดตามมูลค่าด้านการตลาด แทน เอ็กซอนโมบิล ที่เคยทำไว้ในปี 2011
หุ้นของแอปเปิลทะยานขึ้นมามากกว่า 50,000% นับตั้งแต่เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ปี 1980 และในช่วงเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ช่วยเข็นเอสแอนด์พี 500 ปรับขึ้นมาราวๆ 2,000%
ทิม คุ๊ก ก้าวเข้ามาสืบทอดตำแหน่งซีอีโอ หลัง จ็อบส์ เสียชีวิตในปี 2011 โดยเขาขับเคลื่อนให้บริษัทมีผลกำไรเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ประสบปัญหาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อสานต่อความสำเร็จของไอโฟน ที่ยอดขายลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แอปเปิล ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 บริษัทสหรัฐฯ ที่ก้าวขึ้นมานั่งแท่นบริษัทใหญ่ที่สุดในวอลล์สตรีทด้านมูลค่าตามราคาตลาดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 อาจสูญเสียบัลลังก์นี้ไปให้แก่บริษัทอื่นๆ อย่างเช่น อัลฟาเบ็ท อิงค์ หรือ อเมซอนดอทคอม อิงค์ หากว่าพวกเขาไม่สามารถค้นพบผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ในขณะที่กระแสอุปทานของสมาร์ทโฟนเริ่มชะลอตัวลง.