ปตท. ลุยอัพเกรด “อเมซอน” ขึ้นโกลบอลเทียบชั้นสตาร์บัคส์ ตั้งเป้าขยาย 2 หมื่นสาขา

ปตทเตรียมนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเตรียมยกระดับอเมซอน เป็นโกลบอล ภายใน 5-10 ปี เทียบชั้นสตาร์บั้คส์ด้วยการเปิดสาขาให้ได้ 2 หมื่นสาขา

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2562 บริษัทเตรียมนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด ซึ่งบริหารธุรกิจค้าปลีกและอาหาร เช่น ร้านกาแฟอเมซอน ฮั่วเซงฮง เป็นต้น เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ

ไม่เพียงเท่านั้น ปตท.ยังมีแผนการที่จะพัฒนา Cafe Amazon สู่ Global Brand จะทำให้ได้ภายใน 5-10 ปี เพื่อสร้างแบรนด์ของคนไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ โดยจะต้องขยายสาขาให้ได้ทั้งสิ้นรวม 20,000 สาขา หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสาขาของโกบอลแบรนด์อย่างสตาร์บัคส์ 

การเตรียมความพร้อมในการยกระดับเป็น Global Brand เริ่มต้นเมื่อ 2-3 ปีก่อนด้วยการขยายธุรกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา โดยตั้งเป้าสาขารวม 700 สาขาภายใน 5 ปี และหลังจากนี้ไปอีก 3-5 ปี อรรถพลบอกว่า จะเริ่มขยายสาขาในภูมิภาคเอเซียให้ได้มากที่สุดก่อน ล่าสุดเตรียมเปิดสาขาที่ญี่ปุ่น โอมาน และจีน โดยให้ความสำคัญกับโอมานมาก เพราะมีความเป็นตะวันออกกลางมากกว่าดูไบ

สำหรับโมเดลการขยายธุรกิจไปตลาดเอเชีย จะมีทั้งการตั้งมาสเตอร์แฟรนไซส์ การร่วมทุน เป็นต้น หลังจากนั้นจะค่อยๆข้ามทวีปไปขยายสาขาในภูมิภาคอื่นๆ

ตอนนี้ปตท.ได้ตั้งทีมโกลบอลแบรนด์ขึ้นเพื่อศึกษาตลาดกาแฟในระดับโกลบอลแบรนด์ และศึกษาตลาดกาแฟในต่างประเทศ เพื่อปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศที่เข้าไปเปิดสาขา อเมซอนต้องสร้างโมเดลให้สอดรับกับพฤติกรรมและวัฒนธรรมของคนในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างให้อเมซอนเป็นพ๊อพปูล่าแบรนด์  ของแต่ละประเทศ นั่นคือ Value for money แต่ยังยึดคอนเซ็ปต์หลักคือความเป็นกรีนโอเอซีส คือเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

อรรถพล บอกอีกด้วยว่า อเมซอนสำหรับเขาในตอนนี้กลายเป็น popular brand ไปแล้ว ปตท.ไม่ได้เข้ามาเพื่อแย่งส่วนแบ่งในตลาดกาแฟสด แต่ตลาดนี้เป็น new demand ที่ใครก็เข้ามาในตลาดนี้ได้ และที่สำคัญราคากาแฟของอเมซอนไม่ได้แพงมาก เป็นราคาให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง และผู้ประกอบการที่สนใจอยากลงทุนก็สามารถจะเข้าถึงได้เช่นกัน เพราะใช้เงินลงทุนเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้นที่สำคัญคือได้เงินคืนที่เร็วมากเช่นกัน

ทั้งนี้ ร้านกาแฟอเมซอนในปัจจุบัน มีสาขารวมทั้งหมดประมาณ 2,300-2,400 สาขาทั้งไทยและต่างประเทศ โดยในประเทศไทยแยกเป็นสาขาที่อยู่ในสถานบริการน้ำมันของ ปตท. 1,525 แห่ง นอกสถานีบริการน้ำมันที่ 603 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตโรงคั่วกาแฟ 8,000 ตัน/ปี

ขณะที่ข้อมูลยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกถึงภาวะการแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟในไทยช่วงปี 2560 ว่ามีมูลค่าประมาณ 21,220 ล้านบาท เติบโต 10% โดยมีสาขาร้านกาแฟ อเมซอน 2,000 สาขา อินทนิล 450 สาขา กาแฟชาวดอย 380 สาขา สตาร์บัคส์ 321 สาขา แบล็คแคนยอน 275 สาขา และทรูคอฟฟี่ 274 สาขา.