กสทช. ผ่านคุณสมบัติ DTN และ AWN เป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 61

กสทช. ผ่านคุณสมบัติ DTN และ AWN เป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 61 พร้อมทั้งผ่านร่างหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ส.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตามข้อกำหนดในข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/1835-1880 MHz ซึ่งจะจัดให้มีการประมูลในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 มีผู้ผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูล 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และ 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งหลังจากนี้ในวันที่ 17 ส.ค. 2561 สำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงกระบวนการประมูลและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงเช้า ส่วนในช่วงบ่ายจะนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่ที่ใช้ในการประมูล และสาธิตการใช้งานซอฟท์แวร์การประมูล เพื่อทำความคุ้นเคยกับระบบที่ใช้ในการประมูล รวมถึงตอบข้อซักถามต่างๆ เกี่ยวกับการประมูล

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประเด็นปัญหาต่างๆ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อหารือ ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการจัดสรรใหม่ได้ โดยคลื่นที่จะเรียกคืนมี 3 กรณี ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2.คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า 3.คลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเรียกคืนดังกล่าวไม่รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่ใช้ให้บริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้

สำหรับการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ก่อนที่จะเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยประกอบด้วยรายละเอียด 6 ประการ ได้แก่ 1.วัตถุประสงค์ แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่านความถี่ จำนวนคลื่นความถี่ที่จะเรียกคืน 2.ผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่3.สถานะการถือครอง การใช้งานคลื่นความถี่ 4.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณี 5.กรอบระยะเวลาในการเรียกคืนและนำไปจัดสรรใหม่ 6.ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ จากนั้นนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ว่าที่ประชุมเห็นชอบหรือไม่อย่างไร เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว สำนักงาน กสทช. จะทำหนังสือแจ้งหน่วยราชการเจ้าของคลื่นความถี่ภายใน 7 วันว่า สำนักงาน กสทช. จะเรียกคืนคลื่นความถี่ นับแต่วันที่ กสทช. มีมติ โดยหน่วยงานเจ้าของคลื่นต้องมีหนังสือยืนยันการคืนคลื่นทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมแจ้งแนวทางการคืนคลื่นและนำส่งเอกสารประกอบ หรือหนังสือปฏิเสธการคืนคลื่นความถี่ ต่อ กสทช. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติจาก กสทช. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ว่าเห็นด้วยทั้งหมด หรือจะเรียกคืนได้เท่าไหร่ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

เลขาธิการ กสทช. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจ้างสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยของรัฐอย่างน้อย 3 แห่ง เป็นผู้ประเมินเพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ซึ่งการพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ กสทช. จะคำนึงถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1.ข้อมูลการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และข้อมูลการติดตามตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่

2.ความเหมาะสมในการจัดหาคลื่นความถี่อื่นมาทดแทน

3.ระยะเวลาในการทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตเดิม

ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่จะมีผู้แทนจาก 7 หน่วยงานได้แก่ 1.เลขาธิการ กสทช. หรือรองเลขาธิการ กสทช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน 2.ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง 3.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด 5.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6.ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และ 7.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมพิจารณา