อาลีบาบา (Alibaba) ถือว่าเป็นบริษัทที่ทุ่มงบมหาศาลกับการเลือกลงทุนในธุรกิจสาขาต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้า คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยี สื่อ และแม้แต่เรื่องของบันเทิง ด้วยเป้าหมายที่จะทำกำไรมหาศาล และที่ต้องการมากกว่านั้นคือ การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ติดปาก และคุ้นหูผู้บริโภคถึงขนาดซึมลึกเข้าไปในระดับวิถีชีวิต รวมทั้งแทรกอยู่ในวัฒนธรรมของผู้บริโภคในระยะยาว
เป้าหมายใหญ่ขนาดนี้ กลยุทธ์ด้านธุรกิจอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องขับเคลื่อนทุกอย่างไปพร้อมๆ กันในหลายมิติ ซึ่งสิ่งที่เป็นไม้เด็ดให้อาลีบาบาก็คือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่อาลีบาบาสร้างขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยแต่ละแพลตฟอร์มถูกนำมาใช้ผ่านความเชี่ยวชาญในระบบอินเทอร์เน็ตที่เป็นต้นกำเนิดพื้นฐานของธุรกิจอย่างเต็มกำลัง ภายใต้เทคโนโลยีที่พัฒนาและเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น
แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับอาลีบาบา แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่อาลีบาบาใช้สร้างระบบการเผยแพร่ภาพยนตร์ และผลงานบันเทิงต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นคนจีนมากที่สุด อาทิ การให้บริการขายตั๋วออนไลน์ผ่าน Taopiaopiao (เถาเพี่ยวเพี่ยว) การโปรโมตผ่าน Taobao (เถาเป่า) ที่เป็นมาร์เก็ตเพลสสำคัญ รวมถึง Youku (เปรียบเหมือนยูทูบของจีน) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง และการให้บริการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น Alipay
การสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และอีคอมเมิร์ซทำงานร่วมกันอย่างลื่นไหล เป็นกลยุทธ์ที่เข้ามาช่วยให้โรงภาพยนตร์มีช่องทางทำรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากการจำหน่ายตั๋วผ่านตู้อัตโนมัติที่หน้าโรง
โมเดลของอาลีบาบาไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะจริงๆ แล้วเป็นการเดินตามรอยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่าง แอปเปิล (Apple) และแอมะซอน (Amazon) ที่หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจบันเทิงอย่างภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อยๆ และเพียงแต่พยายามทำมันให้ดีกว่ารวมทั้งการยึดความเป็นเจ้าตลาดอย่างน้อยก็ในประเทศจีนไว้ก่อน
ทำไมต้องพุ่งเป้าไปที่ตลาดภาพยนตร์
ทั้งนี้เพราะตลาดภาพยนตร์เป็นตลาดที่เข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย และอาลีบาบายังเชื่อว่า อย่างไรภาพยนตร์ยังเป็นธุรกิจที่จะตอบโจทย์การพักผ่อนและคลายเครียดของมนุษย์ เหมือนที่บริษัทเริ่มลงทุนสร้างอาลีบาบาพิกเจอร์ส (Alibaba Pictures) ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2014
ตัว แจ็ค หม่า (Jack Ma) เอง ก็ให้ความสำคัญกับอาลีบาบาพิกเจอร์ส โดยเคยร่วมแสดงในภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างเองร่วมกับดาราบู๊แถวหน้าของจีน เช่น ดอนนี่เยน (Donnie Yen) แจ็คกี้วู (Wu Jing) โจวซื่อหมิง (Zou Shiming) และดาราคนสำคัญที่คนไทยรู้จักดีและแจ็ค หม่าเลือกให้แสดงด้วยตัวเอง อย่าง จา พนม ส่วนตัวแจ็ค หม่า เล่นเรื่องนี้แบบไม่รับค่าตัว
ในปีนั้นก็ได้เชิญนักแสดงบางส่วนไปร่วมปรากฏตัวในงานวันคนโสดของจีน หรือวันช้อปปิ้งออนไลน์โลกที่อาลีบาบาพยายามปั้นให้ดังระดับโลกในวันที่ 11 เดือน 11 (พฤศจิกายน) หรือ 11.11 เหมือนที่แอมะซอนมี ไพรม์เดย์แบล็กฟรายเดย์ แล้วก็ไซเบอร์มันเดย์โดยปรากฏบนเวทีถ่ายทอดสดการรายงานผลยอดขายของ 11.11 ซึ่งนอกจากจะเชิญนักร้อง นักแสดงจากจีนมาร่วมงาน ก็ยังมีการเชิญดาราฮอลลีวูดที่กำลังมีผลงาน รวมทั้งเซเลบริตี้ที่เป็นเจ้าของสินค้า มาร่วมปรากฏตัวในงานด้วย เช่น เดวิดและวิตอเรีย เบ็คแฮม ที่มีการขยายสาขาร้านวิคตอเรีย เบ็คแฮม เข้าไปในตลาดจีน
เรียกว่า ไม่เพียงเป็นผู้ให้กำเนิดอาลีบาบา แต่พร้อมจะผลักดันธุรกิจใหม่ในเครือให้เกิดทั้งในฐานะผู้สร้าง ผู้ผลิต ผู้ลงทุน แถมพร้อมเป็นนักแสดงอีกให้ด้วย ทั้งหมดนี้คือการแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำของแจ็ค หม่า ที่พร้อมจะทำทุกอย่างมากกว่า โดยไม่จำเป็นว่าทุกเรื่องที่ทำจะต้องดีที่สุด เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในฐานะผู้นำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่า
อาลีบาบาพิกเจอร์สไม่ได้เล็งแค่ตลาดจีน เพราะล่าสุดภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ภาคต่ออย่าง Mission Impossible: Rogue Nation และ Star Trek: Beyond ที่เป็นที่รู้จักและฉายไปทั่วโลกมาแล้วในภาคแรกๆ อาลีบาบาก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวกับสตูดิโอในฮอลลีวูดเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว
แล้วขณะที่งานของคนฮอลลีวูดจบแค่การผลิตภาพยนตร์ แต่ธุรกิจของอาลีบาบาทำครบวงจร เพราะทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในจีนผ่านช่องทางออนไลน์ และได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Amblin Partners ของผู้กำกับชื่อดัง Steven Spielberg
การทุ่มเทขนาดนี้ เพราะอาลีบาบาเห็นโอกาสสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในธุรกิจภาพยนตร์นั่นเอง
สำหรับการร่วมมือระหว่างอาลีบาบาพิกเจอร์สกับพาราเมาท์พิกเจอร์สในภาพยนตร์เรื่อง Mission: Impossible – Fallout ที่นำแสดงโดย ทอมครูซ นั้น อาลีบาบาจึงรับหน้าที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกสตาร์ทอย่างสวยงามตอนเข้าฉายในจีน โดยทำรายได้ในสัปดาห์แรกได้มากถึง 153 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รายได้จากการเข้าฉายช่วงสัปดาห์แรกในแถบอเมริกาทำเงินได้แค่ 61.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรายได้ทั่วโลกจาก 36 ประเทศทำเงินได้แค่ 94.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้ที่สูงในตลาดจีน ไม่ใช่เพราะจำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้อีโคซิสเต็มของอาลีบาบา ที่มีช่องทางและข้อมูลในการเข้าถึงผู้บริโภคที่มีอยู่ในมือจำนวนมากได้โดยตรง
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า จีนเป็นตลาดที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สูงที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ โดยคาดว่าจะมีขนาดใหญ่และแซงหน้าอเมริกาภายในปี 2020 ดังนั้นแม้ธุรกิจบันเทิงของอาลีบาบาจะขาดทุนในระยะเริ่มต้นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะหากย้อนมองธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือโอกาสเติบโตใหญ่กว่าการขาดทุนในช่วงเริ่มต้นในช่วงต้นที่เทียบกันแล้วมีขนาดต่างกับโอกาสกำไรในอนาคตหลายเท่า
ส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบนี้อาจจะเป็นสไตล์ของแจ็ค หม่า ซึ่งมีแนวคิดว่า ผู้นำที่ดี ควรมีสายตาที่กว้างไกล ต้องพยายามมองไปข้างหน้า และต้องตัดสินใจทำอะไรให้ล้ำหน้ากว่าคู่แข่งอย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ เหมือนเช่นกลยุทธ์ที่ทำให้อาลีบาบาชนะคู่แข่งมาแล้วในตลาดอีคอมเมิร์ซและเป็นโมเดลที่นำไปใช้ทั่วโลก รวมถึงการลงทุนในลาซาด้าในไทยที่แม้ทุกวันนี้ยังไม่ทำกำไร แต่ใครๆ ก็มองออกแล้วว่าธุรกิจนี้จะเติบโตและสร้างกำไรได้มากแค่ไหนในอนาคตอันใกล้
จากอีคอมเมิร์ซ อาลีบาบาก็กำลังใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้กับอุตสาหกรรมบันเทิง นั่นคือการสร้างอีโคซิเต็มที่เจาะจงไปถึงไลฟ์สไตล์และรสนิยมของผู้บริโภคโดยเฉพาะ ด้วยความเชื่อที่ล้ำลึกกว่าการทำธุรกิจทั่วไปว่า ซอฟต์คัลเจอร์ (Soft Culture) นี่แหละที่จะซึมลึกและทำให้แบรนด์ผูกพันกับผู้บริโภคได้ดีที่สุด
เพราะฉะนั้น หลังจากอาลีบาบากลายเป็น Digital Company ที่มีอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มในสังกัดแซงหน้าแอมะซอนจากอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว อีกไม่นานบริษัทสร้างหนังของอาลีบาบาก็คงจะแซงหน้าบริษัทสร้างหนังในฮอลลีวูดสักวันหนึ่งได้เหมือนกัน
Mission Impossible โดย แจ็ค หม่า “พ่อมดแห่งวงการอีคอมเมิร์ซจากจีน” จะทำสำเร็จเมื่อไรต้องติดตามดูกันไว้ งานนี้น่าจะใช้เวลาไม่นานหรอก.