16 ปีแห่งความหลัง “Champion” คัมแบ็กตลาดไทย สู้ศึกตลาดแฟชั่น 2.4 หมื่นล้าน

เรื่อง : Thanatkit

การแต่งตัวแนว “สปอร์ตแวร์” กำลังเป็นเทรนด์ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากคนทำงานออฟฟิศ ที่ไม่จำเป็นต้องใส่สูทผูกไทอีกแล้ว หากสามารถใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ทับด้วยสูทและรองเท้าผ้าใบ ก็ดูเป็นชุดลำลองที่สุภาพ และเข้าทำงานได้

เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดแฟชั่น ของเมืองไทยในปี 2018 เติบโตขึ้น 20-30% มีมูลค่าราว 704 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,640 ล้านบาท (คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ)

เซ็กเมนต์ที่มีขนาดใหญ่สุดและเติบโตสูงคือเสื้อผ้า ที่มีมูลค่าประมาณ 16,415 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 22.4% โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,044 บาท/ชิ้น

ที่สำคัญเสื้อผ้ายังมีแนวโน้มที่สัดส่วนในตลาดจะเพิ่มจาก 37.8% ในปี 2018 ไปเป็น 51.1% ภายในปี 2022

ด้วยแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปิดรับ และสถานการณ์ตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้สปอร์ต รีโวลูชั่นผู้นำเข้า จำหน่าย และบริหารธุรกิจร้านค้าปลีก สินค้ากลุ่มสปอร์ตและไลฟ์สไตล์แฟชั่น ตัดสินใจนำ “Champion” (แชมเปี้ยน) แบรนด์สปอร์ตแฟชั่นสัญชาติอเมริกา ที่มีอายุ 99 ปีให้เข้ามาให้เมืองไทยอีกครั้ง

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว Champion เคยมีผู้รับสิทธิ์เข้ามาวางขายแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ลูกค้าเท่าไหร่นัก จึงต้องออกจากตลาดไป และเริ่มกลับเป็นที่รู้จักอีกครั้งเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยการพรีออเดอร์ของกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบ และมีบางร้านเช่น Footwork Noir ที่นำเข้ามาวางขาย แต่ก็ไม่ได้เป็นดิสทริบิวเตอร์

พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สปอร์ต รีโวลูชั่น จำกัด กล่าวว่า

ดีลนี้ใช้เวลากว่า 2 ปีในการเจรจา และเพิ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อปลายปีก่อน โดยสปอร์ต รีโวลูชั่นจะเป็นดิสทริบิวเตอร์รายเดียวในเมืองไทย และถือเป็นรายแรกของอาเซียนด้วย ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกันแล้วตลาดแฟชั่นในสิงคโปร์ใหญ่ที่สุด รองลองมาเป็นไทยที่สูสีกับมาเลเซีย แต่ Champion ตัดสินใจเซ็นสัญญากับเรา ซึ่งเชื่อว่าเหตุผลที่เลือกมาจากภาพรวมตลาดที่โตต่อเนื่อง และมั่นใจในตัวสปอร์ต รีโวลูชั่นที่มีประสบการณ์ในด้านนี้

พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา

เขายังกล่าวอีกว่าการนำเข้า Champion จะช่วยเข้ามาเสริมภาพความเป็นไลฟ์สไตล์แฟชั่นของสปอร์ต รีโวลูชั่นให้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้แบรนด์ที่มีอยู่ในมือจำนวน 13 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์กีฬาทั้งนั้น เช่น Nike, Under Armour, ASICS เป็นต้น

Champion สาขาแรกเปิดขึ้นที่ชั้น 3 โซนเอเทรียม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อ 1 กันยายน 2018 โดยวางให้เป็นแฟล็กชิพสโตร์ ใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 80 – 100 ตารางเมตร

สินค้าถูกนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 100% ซึ่งหลักๆ แล้วสินค้าของ Champion จะมีฐานผลิตอยู่ที่อเมริกาและญี่ปุ่น แต่เหตุผลที่เลือกญี่ปุ่นเนื่องจากมีดีไซน์แบบมินิมอล (Minimal) และมีขนาดที่เหมาะกับคนไทย ส่วนอเมริกาจะเน้นสินค้ากลุ่มสปอร์ตมากกว่าไลฟ์สไตล์ อีกทั้งถ้านำเข้าจากที่นี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท

ราคาจะห่างจากญี่ปุ่นประมาณ 10-15% มีตั้งแต่ 1,100 บาท เป็นเสื้อทีเชิ้ต ไปจนถึง 7,000 บาท ที่เป็นแจ็กเก็ต โดยรวมๆ จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3,200 บาท

Champion วางตำแหน่งตัวเองให้อยู่ในกลุ่มเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ และเสื้อผ้ากีฬา โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับ B ขึ้นไป อายุ 18-34 ปี เป็นผู้ชาย 60% และผู้หญิง 40%

เป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยทำงานตอนต้นถึงกลาง มีกำลังซื้อสูง มีพฤติกรรมความต้องการสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีสไตล์เป็นของตนเอง ส่วนกลุ่มรองลงมาคือกลุ่มวัย 40 ปีขึ้นไปที่เคยใช้ Champion มาก่อน และอยากจะใช้อีกครั้ง

ส่วนแผนการตลาดในเบื้องต้นมีเป้าหมายสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายว่า Champion กลับมาแล้ว จะเน้นใช้ช่องทางดิจิทัลผ่านสื่อออนไลน์และ Influencers เข้ามาเสริม

สปอร์ต รีโวลูชั่น จะพยายามไม่ให้มีอุปสรรคในเรื่องของราคา แต่จะกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อด้วยสินค้า ไปพร้อมๆ กับการสร้างลอยัลตี้

ถามว่าคู่แข่งของ Champion คือใคร ถ้าเป็นทางตรงก็คงไม่มี เนื่องจากเสื้อผ้าและ Accessories มี Category เป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เป็น ส่วนทางอ้อมก็เป็นแบรนด์กีฬาอื่นๆ ที่มีสินค้าไลฟ์สไตล์อยู่ในพอร์ต

นอกจากสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์แล้ว ในปีนี้ยังวางแผนเปิดอีก 2 สาขา ไอคอนสยาม และเมกาบางนา คาดว่าจะสามารถเปิดร้านได้ในเดือนพฤศจิกายน

ส่วนปีหน้าวางแผนเปิดอีก 5-6 สาขา หลักๆ มีสถานที่เตรียมไว้หมดแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลใจกลางเมืองและเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า คาดว่าจะใช้งบลงทุนสาขาละ 20 ล้านบาท มีพื้นที่ 80-100 ตารางเมตร โดยปีถัดไปวางแผนจะเริ่มขยายไปในหัวเมืองอื่นๆ ด้วย

สำหรับสปอร์ต รีโวลูชั่นปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 2,000 ล้านบาท หลักๆ จะมาจาก 4 แบรนด์ คือ Nike, Under Armour, ASICS และ Crocs

ส่วน Champion มีการตั้งเป้ารายได้ 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20-25% ภายในปี 2020 หรือจะมีรายได้รวมทั้งบริษัทที่ 3,000 ล้านบาท หลังจากนี้มีแผนที่จะนำเข้าแบรนด์ใหญ่อีก 2-3 แบรนด์.