ไทยพาณิชย์เดินเกมรุกสู่การเป็นผู้นำ Wealth Banking ชวนคนรวยกล้าเสี่ยงเพื่อความมั่งคั่งมากขึ้น

จากการปรับทิศทางธุรกิจของไทยพาณิชย์จากเดิมที่เน้น Retail Banking  มาสู่การเป็น Investment Bangking ทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวของไทยพาณิชย์ในด้านนี้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดผุดกลยุทธ์เดินเกมรุกเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ Wealth Banking ของไทย จากปัจจุบันที่เป็น Top 3  โดยอาศัยหน้าด่านอย่าง SCB Investment Center ซึ่งเปิดบริการเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา เป็นตัวขับเคลื่อน ด้วยคลังความรู้ และแหล่งข้อมูลด้านการลงทุนที่น่าเชื่อถือ ภายใต้เทคโนโลยีทันสมัย พร้อมทีมงานที่ปรึกษาทางการเงินทีเชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่จะให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง หวังปลุกคนไทยสายออมให้เปิดใจและกล้าที่จะลงทุนมากขึ้น

ศลิษา หาญพานิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย First และผู้บริหารสาย Segment Management ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า เราตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำ Wealth Banking ของไทย จึงต้องนำเสนอบริการด้านบริหารความมั่งคั่งแบบครบวงจร มีความรู้ ความเข้าใจ และมั่นใจที่จะลงทุนมากขึ้น เพื่อต่อยอดสินทรัพย์ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่ความท้าทายก็คือจะทำอย่างไรเมื่อลูกค้ามีเงินล้านแล้ว ให้เขานึกถึงเราก่อนคนอื่น เป็น Top of Mind ของเขาให้ได้”

ช้อมูลจาก BCG Global Wealth Report 2017 ระบุว่า ในปี 2561 ประชากรไทยที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีอยู่ 6 แสนคน เป็น 7 แสนคน ในปัจจุบัน  มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 15 ล้านล้านบาท  และคาดว่าในปี 2566 หรือภายในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี 5.7% เพิ่มขึ้นเป็น 9แสนคน และ  AUM จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี 4.4%  เพิ่มขึ้นเป็น 17.6 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมการออมหรือถือเงินสดไว้มากกว่าการลงทุน คิดเป็นสัดส่วน 70 : 30 ตามลำดับ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สวนทางกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่จะเน้นการลงทุนถึง 70% โดยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่มีความมั่งคั่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.เก็บออมอย่างเดียว ไม่ลงทุนอะไรเลย  15-20 %
2.
ลงทุนผ่านตัวแทนการลงทุน             10-15  %
3.
ลงทุนเอง                                  65-75 %

ในกลุ่มที่เป็นนักลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Traditional Investors  25-30 %
2. Value Investors         25-30 %
3. Active Traders           15-20 %

ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณบวกว่าจะมีสัดส่วนคนไทยที่รวยขึ้น เวลธ์แบงก์กิ้งต่าง ๆ จึงต้องช่วงชิงฐาน

ลูกค้าเหล่านี้ให้ได้  ไทยพาณิชย์ก็เช่นกัน ที่เล็งเห็นโอกาสนี้ทั้งจากคนที่คุ้นเคยกับการลงทุนอยู่แล้ว แต่ยังเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่กระจายการลงทุนให้หลากหลาย เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจและที่ปรึกษาที่ดีพอ  รวมถึงลูกค้าสายออมที่ยังไม่มีประสบการณ์ลงทุนอะไรเลย

สำหรับฐานลูกค้า SCB Wealth ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 260,000 ราย (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ  37% ของประชากรที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป)  มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 1.5 ล้านล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10 % ของ AUM ทั้งหมด) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. SCB Private Banking

ลูกค้าที่มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
ปัจจุบันมีราว10,000ราย และมี AUM 7.5แสนล้านบาท

2. SCB FIRST

ลูกค้าที่มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนตั้งแต่ 10 – 50 ล้านบาท ปัจจุบันมีราว50,000ราย และมี AUM 4แสนล้านบาท

3. SCB PRIME

ลูกค้าที่มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนตั้งแต่ 2 – 10 ล้านบาท (Mass affluent) ปัจจุบันมีราว 200,000ราย และมี AUM  4 แสนล้านบาท
ศลิษาบอกว่า นอกเหนือจากต้องการดึงดูดลูกค้าใหม่แล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้นคือต้องการให้ลูกค้าเดิมใช้บริการมากขึ้น ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม โดยประเมินว่าภายใน 3-5 ปีนับจากนี้ AUM ของ SCB Wealth จะเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งน่าจะทำให้ไทยพาณิชย์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ Wealth Banking ได้ในที่สุด จากปัจจุบันที่เป็น Top 3 ซึ่งใน 3 รายนี้ ยังไม่มีรายใดรายหนึ่งครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ปูพรมเปิด SCB Investment Center ทั่วประเทศ

เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งให้อยู่หมัด หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญก็คือการเปิด  SCB Investment Center  ซึ่งหลัจากที่เปิดมาได้ 8 เดือน ได้ฤกษ์เปิดศูนย์นี้แห่งที่ 10 ณ ชั้น 4 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี โดยตกแต่งภายใต้ธีม British Gentleman Club ที่เน้นการตกแต่งที่มีความหรูหรา สง่างาม และดูภูมิฐาน สำหรับอีก 9 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลเวิล์ด ,เซ็นทรัล พระราม 3, เซ็นทรัล พระราม 2, ซีคอนสแควร์, กระทรวงสาธารณสุข, เซ็นทรัล นครราชสีมา, เซ็นทรัล ขอนแก่น, สยามพารากอน และโรงพยาบาลสมิติเวช  ภายในปีนี้เตรียมเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง ได้แก่ ไอคอนสยาม, เซ็นทรัล ภูเก็ต, เซ็นทรัล อุดรธานี, เซ็นทรัล พัทยา และศศินทร์ ซึ่งจะทำให้มีทั้งหมด 15  แห่ง พร้อมวางแผนขยายเพิ่มเป็น 60 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2562 โดยจะเน้นเปิดในโลเกชั่นที่สามารถเดินทางเข้าถึงได้ง่าย เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น โดยแต่ละแห่งจะทีมที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุนระดับมืออาชีพคอยให้คำปรึกษาการลงทุนและบริหารความเสี่ยงส่วนบุคคล มีแพลตฟอร์ม Open Architecture ให้ลูกค้าได้เลือกลงทุน โดยไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ของไทยพาณิชย์เท่านั้น  รวมถึงการใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง W-PLAN และ I-WEALTH  

ปัจจุบันมี CIO Officer  ราว 40 คน และ Wealth Personal Banker ประมาณ 1,700 คน  เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่หลากหลาย เพราะ Wealth Management ไม่ได้หมายถึงการเติบโตเท่านั้น แต่หมายถึงการปกป้องให้สินทรัพย์นั้นคงอยู่ด้วย ดังนั้นนอกจากกองทุนรวมแล้วยังมีเรื่องของ Family Wealth Planning หรือการบริหารกงสีอย่างมีหลักการและมีประสิทธิภาพ , การวางแผนมรดก,การวางแผนภาษี กระทั่ง Passion Investment ซึ่งสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในสินค้าอย่างนาฬิกา กระเป๋า และรองเท้า เป็นต้น

“SCB Investment Center ซึ่งลงทุนไปแล้วนับพันล้านบาทรวมระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงเป็นมากกว่าเล้าจน์ทั่วไป ไม่ใช่แค่ที่นั่งพักผ่อนเพียงอย่างเดียว เพราะจะเน้น Holistic  Investment Experience หรือประสบการณ์การลงทุนแบบองค์รวม ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้า ใน Strategic location สามารถใช้บริการได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด โดยมีผ่านมามียอดลูกค้ามาใช้บริการหลายหมื่นคนต่อเดือน”

ทั้งนี้หากพิจารณาตามโลเกชั่นจะเห็นว่าการเปิดศูนย์ฯ นอกจากจะเน้นในศูนย์การค้าที่มีทราฟฟิกดีแล้ว ยังเจาะเซ็กเมนท์ตามสาขาวิชาชีพด้วย เช่น การเปิดศูนย์ฯ ในโรงพยาบาลสมิติเวชและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการเปิดศูนย์ฯ ที่ศศินทร์ เพื่อจับกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำซึ่งเป็นอาจารย์และนิสิต เป็นต้น