‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน TFFIF’ทางเลือกภาครัฐคุมเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ


จากนโยบายในการพัฒนาประเทศที่มีความจำเป็นและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลายโครงการ โดยเฉพาะกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูง ที่ผ่านมาภาครัฐเลือกใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินเป็นหลัก ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งตามนโยบายความยั่งยืนทางการคลัง รัฐบาลต้องการรักษาระดับเพดานหนี้สาธารณะให้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ด้วยภาระของรัฐบาลที่มีอย่างมากทำให้แต่ละปีสามารถชำระหนี้ในส่วนเงินต้นได้เพียง 3%เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าระดับเหมาะสมที่ 10% รัฐบาลจึงต้องบริหารจัดการภาระการคลังเหล่านี้ ควบคู่กับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในขณะเดียวกัน

การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจึงเกิดขึ้นในประเทศไทย และถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะเข้ามาตอบโจทย์ ทั้งการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยที่รัฐยังสามารถควบคุมระดับหนี้สาธารณะ ไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเห็นโอกาสการระดมทุนรูปแบบดังกล่าวที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้ประเทศไทย ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2559 จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ขึ้น เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

การจัดตั้ง TFFIF ในครั้งนี้ถือเป็นกลไกของภาครัฐที่จะช่วยผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน และทำให้การพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรากฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมให้สามารถเดินหน้าต่อได้

กองทุนจะลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากเส้นทางในปัจจุบันของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังเป็นผู้บริหารจัดการทางพิเศษดังกล่าว และเงินที่ได้จากการโอนสิทธิในการรับรายได้ กทพ. จะนำไปพัฒนาทางพิเศษ 2

โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก

ในส่วนการบริหารจัดการกองทุน TFFIF มีบริษัทจัดการคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และมีที่ปรึกษาทางการเงินประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติและร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการเพิ่มทุนของสำนักงาน ก.ล.ต.

นอกจากประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การเปิดระดมทุนในรูปแบบนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับประชาชนที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้หรือการจัดสรรงบประมาณดั่งเช่นที่ผ่านมา …

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวนได้ที่เว็บไซต์

https://market.sec.or.th/public/mrap/MRAPView.aspx?FTYPE=I&PID=0659&PYR=2559

หมายเหตุ: บทความนี้ห้ามเผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, และญี่ปุ่น