นอกจากกีฬาฟุตบอลแล้ว “วอลลเลย์บอล” กำลังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมจากคนดู ทำให้ลิขสิทธิ์วอลเลย์บอลจึงเป็นที่หมายตาของช่องทีวี
ในที่สุดกลุ่มทรูก็สามารถปิดดีลซื้อลิขสิทธิ์โดยตรงกับสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ในการบริหารสิทธิประโยชน์ และการถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลไทยลีกทั้งชายและหญิง 4 ฤดูกาล 4 ปี ปี 2019-2022 โดยทรูต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับสมาคมวอลเลย์บอลปีละ 40 ล้านบาท รวม 4 ปี 160 ล้านบาท
พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย กลุ่มทรู กล่าวว่า รูปแบบดีลลิขสิทธิ์ครั้งนี้ไม่เพียงแค่สิทธิ์การถ่ายทอดสดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจัดระบบสนามแข่ง การบริหารสิทธิประโยชน์ ตั้งแต่สนามแข่งขัน ทีมสโมสรที่จะลงแข่ง ที่เป็นระบบ ecosystem ใหม่ทั้งหมดของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยด้วย
โดยจะมีสนามแข่งขันทั้งหมด 4 สนามเท่านั้น ทุกสนามที่แข่งขันทรูจะเข้าไปจัดกิจกรรมและต่อยอดลิขสิทธิ์ในการสร้างแบรนด์ร่วมกับสมาคม รวมถึงการ presentation ในรูปแบบ multimedia ระหว่างทำการแข่งขัน ที่จะมีเนื้อที่ในการโฆษณาด้วยเทคโนโลยี
“เราได้สิทธิในการทำ branding ขายป้าย โฆษณาที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรง มีลูกเล่นในการดูกีฬาที่ไม่ใช่แค่นั่งดูแบบเดิมๆ แต่จะมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยดูสนุกขึ้น ทำให้ผู้ชมอยากมาดูที่สนามเหมือนการแข่งขันกีฬาอาชีพในต่างประเทศ”
รูปแบบการบริหารลิขสิทธิ์แบบใหม่นี้ เป็นการเรียนรู้จากการซื้อลิขสิทธิ์มาเป็นเวลานาน ซึ่งการซื้อลิขสิทธิ์แค่เพียงสิทธิของการถ่ายทอดสดนั้น ไม่ได้เป็นรูปแบบที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปแล้ว อย่างฟุตบอลไทยลีก ที่บรรดาบริษัทสปอนเซอร์ต่างๆ เข้าไปเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อโดยตรงกับทีมสโมสร ทำให้การหาสปอนเซอร์ในการถ่ายทอดสดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
“แบรนด์ไปลงทุนในทีมโดยตรง เป็น Local marketing direct to consumer แทนที่จะเป็น nationwide กลายเป็น direct marketing และจัดกิจการเองเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้คือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการตลาด ดังนั้น ช่องที่ถ่ายทอดสดกีฬา ก็ต้องตอบโจทย์ลูกค้าที่จะมาโฆษณาในช่องเราให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็น entertainment เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยชอบ“ ซึ่ง พีรธน บอกว่า จะได้เห็นรูปแบบใหม่ๆ นี้ในวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกที่จะเปิดฤดูกาลปลายปีนี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้รูปแบบการถ่ายทอดและรายการที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทั้งหมด กลุ่มทรูจะนำมาลง 3 ช่องทาง คือ ทรูวิชั่นส์ ทรูโฟร์ยู และทรูไอดี โดยจะมีรูปแบบตั้งแต่ LIVE broadcast, behind the scenes เช่น LIVE สัมภาษณ์นักกีฬา ทีม การสร้างภาพพจน์ และมีรูปแบบ on demand ที่ช่องทางทรูไอดีด้วย
พีรธน บอกว่า วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่คนไทยให้ความนิยมมาอันดับ 2 รองจากฟุตบอลไปแล้ว และเป็นกีฬ่าที่มี Size ของการแข่งขันไม่ใหญ่จนเกินไปในทีม เหมาะสมในการนำเสนอโมเดลใหม่ๆ โดยทีมสโมสรที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในวอลเลย์บอลไทยลีกทั้งชายและหญิง จะมีฝ่ายละ 8 ทีม รวม 16 ทีม
ทั้งนี้ทางทรูมีกำหนดการเซ็น MOU กับสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยในวันที่ 25 กันยายนนี้ และจะเปิดลีกแข่งขันในวันที่ 27 ตุลาคมนี้
สำหรับราคาค่าลิขสิทธิ์ครั้งนี้ถือเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวจากลิขสิทธิ์เดิม โดยสัญญาเก่าอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี
นอกเหนือจากวอลเลย์บอลแล้ว ขณะนี้กลุ่มทรูมีสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ประจำปี 2560 – 2563 นั้น ในนาม ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับสมาคมฟุตบอล ทั้งสิ้นเป็นจำนวน 4,200 ล้านบาท ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลรวม 4 รายการ คือ การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก, การแข่งขันฟุตบอลยามาฮ่า ลีกวัน, การแข่งขันฟุตบอลช้าง เอฟเอคัพ และการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ลีกคัพ.