งานสัมมนา “DEEP TECH เปลี่ยนโลกเปลี่ยนชีวิต” จัดขึ้นโดย Positioning ได้สะท้อนอิทธิพลมหาศาลของเทคโนโลยี หรือ “DEEP TECH” ในประเทศไทยได้ชัดเจน ด้าน “สนธิรัตน์” รมว.พาณิชย์ มั่นใจโครงการ “สวัสดิการแห่งรัฐ” คือตัวอย่างสำคัญของการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจรากฐาน ทำให้ร้านโชห่วย 4 หมื่นร้านในโครงการ รวมถึงเขียงหมูและแผงผักไทยสามารถลืมตาอ้าปากได้ตามรอยปรากฏการณ์ทุเรียน 8 หมื่นลูก ซึ่งจำหน่ายได้ในไม่กี่วินาทีบนเว็บไซต์อาลีบาบา
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวบนเวทีงานสัมมนา “DEEP TECH เปลี่ยนโลกเปลี่ยนชีวิต” ว่าเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกฝ่ายในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เกิดขึ้นเพราะไทยจำเป็นต้องรื้อระบบทั้งประเทศ ในวันที่โลกเราอยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจดิจิทัล
“ความเติบโตของดิจิทัลทำให้เกิดการค้ารูปแบบใหม่ที่เศรษฐกิจรากฐานตามไม่ทัน ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง“
สนธิรัตน์มองว่าหนึ่งใน DEEP TECH ที่สำคัญมากกับทุกคนคือบิ๊กดาต้า โดยบอกว่าปัญหาวันนี้คือหน่วยงานรัฐมีข้อมูลมหาศาล แต่ไม่เป็นดิจิทัล โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่ข้อมูลการจดทะเบียนการค้าต้องถูกปรับให้เป็นดิจิทัล ขณะที่หลายบริษัทโดยเฉพาะเอสเอ็มอี มักพบปัญหาจากการที่ข้อมูลไม่เชื่อมกัน ต่างคนต่างทำ จุดนี้ทำให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินโครงการบิ๊กดาต้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพาณิชย์มีฐานข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงกันได้แล้ว ต่างจากฐานข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ไม่เชื่อมกันเลย และแยกเป็นชิ้น
“ถ้าข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงได้ ก็จะเริ่มบริหารจัดการในภาพรวมได้ แต่การประมวลผลวันนี้ต้องยกระดับไปถึง AI” สนธิรัตน์เล่า “ผมได้มีโอกาสกินข้าวกับแจ็ค หม่า ก่อนหน้านี้ผมไม่ตื่นเต้นกับ AI แต่หลังจากนั้นตื่นเต้นมาก เพราะแจ็ค หม่า พูดอะไรมากมาย สุดท้ายก็ลงท้ายว่า AI”
วันนี้โอกาสเปิดกว้าง
สนธิรัตน์มองว่าการประมวลผลคือหัวใจของธุรกิจในวันนี้ เพราะเมื่อเทียบกับยุคหลายสิบปีที่แล้ว ธุรกิจของเจ้าสัวมักจะงอกงามจากการเป็นธุรกิจที่ “คนฉลาดกว่า” ทำเงินจาก “คนที่โง่กว่า”
“ผมอาจจะใช้คำแรง แต่ในยุคนั้นคือใครจับได้ก่อน ก็จะชนะ แต่วันนี้สิ่งเหล่านั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะคู่แข่งทั่วโลกพร้อมจะแข่งในเวลาเดียวกันภายใต้อีคอมเมิร์ซ และอีมาร์เก็ตติ้ง” สนธิรัตน์ย้ำ “ถ้าคนไทยไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ก็จะรับความซับซ้อนไม่ได้“
เพื่อให้ธุรกิจไทยเติบโต สนธิรัตน์เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายต้องมีบิ๊กดาต้าที่ดี เชื่อมโยงข้อมูลกัน เปลี่ยนจากข้อมูลที่เป็นชิ้น จับต้องไม่ได้ มาเป็นระบบที่ทำงานได้ในเวลาเสี้ยววินาที ซึ่งใครทำได้ก็จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังในไทยได้
“แค่บิ๊กดาต้าธรรมดาก็ไม่พอ ต้องเอาบิ๊กดาต้ามาเชื่อมกับทั้งโลก การประชุมเอฟทีเอวันนี้ไม่มีแล้ว เชยไปหมดแล้ว เพราะโลกวันนี้ไม่มีเส้นแบ่งประเทศ วิสัยทัศน์ที่มอบให้กระทรวงพาณิชย์วันนี้คืออีคอมเมิร์ซ“
สนธิรัตน์ย้อนถึงปรากฏการณ์ทุเรียน 8 หมื่นลูกที่อาลีบาบาขายผ่านอีคอมเมิร์ซในเวลาไม่กี่นาที โดยบอกว่าจากชาวสวนทุเรียน ส่งไปล้ง ค่อยขยายไปไปตามวงจรตลาดทุเรียนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบนี้มีปัญหาทุเรียนอ่อนเรื้อรังมานาน เนื่องจากทุเรียนต้นฤดูราคาสูง แต่เพราะอีคอมเมิร์ซทำให้วงจรเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป มีการบังคับสเปกว่าทุเรียนบนอาลีบาบาต้องตัดใน 120 วัน สเปกต้องได้จึงจะมีสิทธิขาย ทั้งหมดนี้ทำได้เป็นครั้งแรก
“ผมคิดว่าสินค้าเกษตรยังมีช่องรวย มีประเทศไหนบ้างที่เพาะปลูกได้ทุกที่ แต่ที่เรายังยากจนอยู่ทุกวันนี้คือถูกกลไกตลาดกดไว้ เรื่องทุเรียนถือเป็นครั้งแรกที่สามารถรวบรวมทุเรียนที่ตัดใน 120 วัน ผ่านกระบวนการตามสเปก ใส่กล่องแช่แข็ง ส่งไปเมืองจีน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าอีคอมเมิร์ซเปลี่ยนแปลงหมดทั้งระบบผลิต ระบบขนส่ง” สนธิรัตน์สรุปบนความเชื่อมั่นว่าระบบล้งจะหายไป ถ้าไทยเราทำบิ๊กดาต้าได้ดี ขณะเดียวกันก็จะทำราคาได้เพราะคุณภาพสินค้าเป็นไปตามสเปก เรียกว่าเทคโนโลยีช่วยทะลุทะลวงธุรกิจได้ทั้งระบบ
แผงผัก เขียงหมู โชห่วยรอด
สนธิรัตน์ระบุว่ามีหน้าที่โดยตรงเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว การแก้ด้วยวิธีเดิมทำไม่ได้ แต่ที่ทำได้คือการเอาเทคโนโลยีมาแก้ ตัวอย่างที่สำคัญคือการทำโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยให้เกิดการยกระดับภาพรวมเศรษฐกิจได้
“เราทำสำรวจคนจนรายได้ต่ำกว่าแสนบาทต่อปี พบว่ามี 11.4 ล้านคนในรอบแรก รอบ 2 ยังรอการอนุมัติอีก 4 แสนคน เท่ากับคนไทยมีคนจนกว่า 12 ล้านคน ถ้าให้เป็นเงิน เงินเหล่านี้จะมีเจ้าหนี้มารองรับ รัฐจึงให้เป็นคูปองซื้อของใช้ประจำวัน” สนธิรัตน์เล่าบนเวที “ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีมากที่จะฟื้นโชห่วยทั่วประเทศด้วยงบช่วยเหลือโครงการ 4 พันล้านบาท เราไม่เปิดให้ห้างใหญ่ แต่กันสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะ 4 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ เราทำแอปพลิเคชันที่คนยากจนสามารถใช้ซื้อหมู ผัก ได้ เป็นการกระจายเงินลงเขียงหมูเขียงผัก ซึ่งเมื่อซื้อแล้ว รัฐบาลจะมีข้อมูลว่าเงิน 4 พันล้านบาทกระจายตัวอย่างไร รู้เลยว่าพื้นที่ไหนจนจริงหรือจนไม่จริง“
สนธิรัตน์ย้ำว่าข้อมูลจากแอปพลิเคชันจะทำให้รัฐบาลรู้ว่าสินค้าไหนเป็นที่ต้องการ หรือสินค้าใดที่ต่อยอดได้ ทำให้สามารถนำเอากะปิ–กาละแม–น้ำปลา หรือสินค้าชุมชนที่ต้องรองานโอท็อปอย่างเดียว มาขายใน 4 หมื่นร้านค้าที่ขึ้นทะเบียน ทั้งหมดนี้จะแก้ปัญหาสินค้าโอท็อปไม่มีที่ขายได้
“บิ๊กดาต้าจะรู้ว่าเอากาละเมไปขายที่ไหนดี กะปิขายที่ไหนดี เศรษฐกิจฐานรากจะฟื้นตัวได้ เช่นเดียวกับการเปิดตัวโรงแรม บูทีคโฮเทล ก็จะรู้ว่าเปิดที่ไหนรุ่ง หาเมืองหลักเมืองรอง พวกนี้ไม่ต้องจ้างใครมาทำวิจัย ข้อมูลของบิ๊กดาต้ากระทรวพาณิชย์จะตอบได้ว่า เอสเอ็มอีจะไปทำที่ไหนถึงรุ่ง“
สนธิรัตน์ทิ้งท้ายว่ากระทรวงพาณิชย์มีวิสัยทัศน์จะทำอีมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งไม่ใช่แค่อีคอมเมิร์ซ แต่ต้องมีระบบจ่ายเงินและขนส่งดิจิทัล เบื้องต้นกำลังเร่งตั้งกรมธุรกิจบริการใน 3 เดือนก่อนหมดวาระ ซึ่งหากไม่ทำไว้ ไทยจะไม่มีหน่วยงานรองรับข้อมูลการค้าที่ทำบนอีคอมเมิร์ซได้เลย จะทำให้ไทยแข่งกับประเทศไหนไม่ได้.