3 แบรนด์ประสานเสียง “ปตท.-ดีแทค-Lumentum” วันนี้ต้องเปลี่ยนตัวเองด้วย Deep Tech

เปิดสุดยอด 3 กรณีศึกษาเรื่องการปรับตัวสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation ของแบรนด์ใหญ่ในประเทศไทยปตท.” จัดเต็มเปลี่ยนตัวเองหลังวิเคราะห์ไดเรคชันโลกจนพร้อมวางจำหน่าย EV Wall Charger เพื่อเจาะกลุ่มรถไร้น้ำมันปลายปีนี้ ด้านดีแทคดึง AI เสริมทัพยกระดับบริการ ขณะที่ Lumentum จุดประกายรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนนโยบายการศึกษาให้รองรับยุค Deep Tech ควรสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกรรม และ นักวิจัย เข้ามาป้อนตลาดไทย

ปตท. ลุย 5 เมกะเทรนด์

วิทวัส สวัสดิ์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ตระหนักถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาตลอด 40 ปีที่ดำเนินกิจการ Oil and Gas บริษัทเริ่มตั้งหน่วยธุรกิจใหม่เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาแข่งกับคู่แข่งต่างชาติตั้งแต่ปี 1981 

วันนี้หน่วยงานนี้ถูกเปลี่ยนบทบาท ไม่ทำเฉพาะ Oil and Gas และ  PetChem อีกต่อไป แต่เน้นค้นคว้านวัตกรรมอื่นด้านไฟฟ้ามากขึ้น เช่น แบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้า นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่าไดเรคชันของโลก ในเร็ววันจะได้เห็นสิ่งที่ทำให้ไทยไม่น้อยหน้าชาวโลกวิทวัสระบุปลายปีนี้ ปตท.จะวางจำหน่าย EV Wall Charger ผ่านการทดสอบว่าปลอดภัยแล้ว ไฟไม่ไหม้

ปตท. วันนี้จึงสร้างผลิตภัณฑ์อนาคตที่ล้อไปกับ 5 เมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการให้บริการในสมาร์ท ซิตี้ เพราะคนจะเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น ยังมีการพัฒนาโรโบติก เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย

ปตท. เดินหน้าสร้างมหาวิทยาลัยที่วิจัยเรื่องหุ่นยนต์โดยเฉพาะที่ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,000 ไร่ รวมถึงแนวคิดในการสร้างโรงงานให้บริษัทยามาใช้ เนื่องจาก ปตท. มีความชำนาญเรื่องการสร้างโรงงานมาอย่างยาวนาน 

อีกจุดที่น่าสนใจคือ ปตท.ในอนาคตยังมีความคิดจะทำสถานีน้ำมันให้เป็นสถานที่จ่ายยา หรือตรวจสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะตอบโจทย์ชาวไทยในอนาคตได้มากกว่าการบริการน้ำมัน 

ผมมีโอกาศไปโรงงานรถ BMW ที่เยอรมนี เขาต้องการเร่งให้ออกรถไฟฟ้า ภาครัฐเดินหน้าเต็มที่เอกชนก็พร้อมลงทุน แต่สำหรับประเทศไทย ปตท. มองว่ารถไฟฟ้ามาแน่ แต่อาจจะไม่เร็วนัก       

ดีแทค มั่นใจพลัง AI

ดร. อุกฤษฎ์ ศัลยพงษ์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ช่องทางการขายและการบริหารผลการปฏิบัติงานของดีแทค มองว่ารูปแบบการปรับตัวสู่ดิจิทัลหรือ Digital Transformation โดยทั่วไปมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือการทำงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว ให้แตกต่างโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนที่ 2 คือการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากธุรกิจเดิม เช่น อูเบอร์และแกร็บที่นำข้อมูลความต้องการมาจับคู่กับบริการ

ส่วนแรกที่ดีแทคทำ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนการเซ็นเอกสารในสาขา เมื่อลูกค้าต้องการเปลี่ยนแพ็กเกจใช้งานโทรศัพท์มือถือในสาขา ขณะที่ส่วนที่ 2 ดีแทคต้องการแทรกตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้ใช้ในโลกใหม่ที่ทุกคนจะได้ใช้งานบิ๊กดาต้าเหมือนไฟฟ้า น้ำประปา ที่เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งมีอยู่รอบตัว จุดนี้ดีแทคระบุว่าใช้เวลาค้นหาตัวเองหลายปีโดยที่สายตาก็ต้องจับจ้องระบบ AI ด้วย  

วันนี้ดีแทคมีข้อมูลในมือมหาศาล บันทึกบิ๊กดาต้าการใช้งานของลูกค้า 1 พันล้านเรคคอร์ดต่อวัน วันนี้ต้นทุนการประมวลผลบิ๊กดาต้าราคาถูกมาก เมื่อประมวลผลแล้วเราสามารถนำผลที่ได้ไปสอนเครื่องจักรให้คิดคล้ายๆ กับคน ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ AI ในดีแทค คือเราวิเคราะห์ว่าถ้าการใช้งานของผู้ใช้แบบนี้ ควรจะเหมาะกับแพ็กเกจแบบไหน

หลังจากหามาหลายปี สุดท้ายดีแทคจึงมอง 2 ด้าน หนึ่งคือต้องไปอยู่ในที่ที่เกิด Synergy กับฐานลูกค้า สองคือต้องไปอยู่ในที่ที่ Synergy กับความรู้ เทคโนโลยี ความชำนาญที่ดีแทคมี สรุปเลยว่า 1 ต้องมีอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน 2 ลูกค้าต้องการเชื่อมต่อตลอดเวลา และเป็นบริการเฉพาะคน 3 คือประสิทธิภาพของการบริหารงาน 

“AI จึงตอบโจทย์มาก เพราะต้องเก็บข้อมูล หาเทรนด์แนะนำได้ และทำให้เกิดระบบอัตโนมัติที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกคนได้ด้วย นี่ไม่ใช่เทรนด์เฉพาะของดีแทคหรือเทเลนอร์ แต่เป็นเทรนด์ของทุกบริษัทที่ต้องหาวิธีสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

ดีแทคย้ำว่ากำลังร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีสิรินธร ในการตั้งศูนย์วิจัย AI เพื่อจะหาวิธีทำอย่างไรให้ AI มาทำงานแทนพนักงานคีย์ข้อมูล รวมถึง AI สามารถช่วยตอบคำถามลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาทางโซเชียลมีเดีย ผ่านแชต บอท ได้ ดังนั้น Deep Tech จึงเป็นตัวช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าได้

ผู้บริหารดีแทคเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเทคโนโลยีในอนาคต เนื่องจากไม่เชื่อว่าจะมีคนชาติไหนสามารถพัฒนาระบบที่เข้าใจภาษาประจำชาติไทยได้ดีกว่าคนไทย เพียงแต่คนต่างชาติอาจจะเห็นปัญหาก่อน และสามารถพัฒนาบางระบบได้ก่อน 

Deep Tech ไม่ได้น่ากลัว

ดร.ปรอง กองทรัพย์โต ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท Lumentum International (Thailand) Co.Ltd ยืนยันว่า Deep Tech ไม่ได้น่ากลัว เพราะมนุษยชาติมีการปฏิวัติใหญ่แค่ 3 ครั้งเท่านั้น เช่นเมื่อ 7 หมื่นปีที่แล้วที่เพิ่งฉลาดขึ้นและแยกตัวเองออกจากสัตว์อื่น ต่อมาเริ่มรู้จักทำการเกษตรเมื่อ 1 หมื่นปีที่แล้ว และเมื่อ 500 ปีเท่านั้นที่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดนี้เป็น Deep Tech ที่คนแต่ละยุคสมัยนิยามไว้แตกต่างกัน

ยุคศตวรรษที่ 17 การขุดคลองก็เป็น Deep Tech แล้ว ตู้เย็นก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดีที่สุด เป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนชีวิตจริงๆ ทำกับข้าวที่บ้านได้ เก็บไว้ได้หลายวันได้ ดังนั้นอย่าไปกลัวกับคำว่า Deep Tech” เช่นเดียวกับโทรศัพท์ ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบเดียวกันที่ไม่แพร่หลายในระยะแรก แต่จะมีอัตราการใช้งานเพิ่มก้าวกระโดดในเวลารวดเร็วมากดังนั้นอย่าตกใจ อย่าปิดกั้นกับ Deep Tech แต่จงเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจก้าวทันในยุคที่ Deep Tech มาแน่

ดร. ปรองย้ำว่า Deep Tech ขึ้นอยู่กับคำว่าวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งนำมาแก้ปัญหาและเกิดสิ่งใหม่ ประเด็นนี้ ดร.ปรองย้ำว่ารัฐบาลควรสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกรรม และนักวิจัย เข้ามาป้อนตลาดด้วย เพราะเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐต้องมีการเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาและภาคเอกชน ต้องทำให้สตาร์ทอัพเป็นแบบ Deep Tech ที่ต้องสนับสนุนให้อยู่รอด

ส่วนเรื่อง IoT ก็ต้องตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย เพราะอุปกรณ์ยิ่งเล็ก การถูกเจาะก็จะยิ่งง่าย

สำหรับ Lumentum เป็นบริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านแสงเป็นหลัก เพิ่งเริ่มตั้งเมื่อปี 2014-2015 ธุรกิจทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของพลังซึ่งประหยัดและมีการประยุกต์ใช้หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือระบบตรวจจับใบหน้า 3D เซ็นเซอร์ ที่ใช้แพร่หลายในระบบยืนยันบุคคลในปัจจุบัน.


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง

• จากทุเรียน 8 หมื่นลูกถึงโชห่วยไทย 4 หมื่นร้าน ปรากฏการณ์ย้ำอิทธิพล DEEP TECH