อ่านเกม “โคคา-โคลา” Featuring “ดอยคำ” ออกมินิทเมด 2 รสชาติใหม่ หวังต่อยอดแบรนด์และขยายฐานผู้บริโภค

เรื่อง : Thanatkit

ถึงจะเข้าสู่เมืองไทยได้ 13 ปีแล้ว แต่สำหรับแบรนด์น้ำผลไม้พร้อมดื่มมินิทเมดหนึ่งในผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอของโคคาโคลาในประเทศไทย กลับมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 11.5% ในตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากนีลเส็น : กันยายน 2017 – สิงหาคม 2018)

ตัวเลขที่เกิดขึ้น โคคาโคลา มองว่า อาจจะไม่ได้ดูหวือหวามากนัก แต่ถ้ามองในตลาดก็ติดท็อป 3 ซึ่งในตลาดโลกมินิทเมดรั้งตำแหน่งผู้นำ ที่มียอดขาย 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 150 ประเทศทั่วโลก

การจะมีส่วนแบ่งที่เยอะกว่านี้ กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของโคคาโคลา และถือเป็นโจทย์ใหญ่ด้วย เนื่องจากในตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมีผู้เล่นจำนวนมาก ที่มาพร้อมกับการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ต้องชิงไหวพริบในการดึงดูดผู้บริโภค

ทำให้โคคาโคลาจึงแก้โจทย์ด้วยการจับมือกับดอยคำในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร คือ มะเขือเทศ และเสาวรส จากเกษตรกรส่งเสริมของดอยคำ มาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำผลไม้พร้อมดื่มมินิทเมด ในสองรสชาติ คือ น้ำมะเขือเทศผสมเนื้อส้ม และน้ำรสเสาวรสผสมน้ำผึ้งและมะนาว วางจำหน่าย 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ โมเดิร์นเทรด ขนาด 335 มิลลิลิตร ราคา 18 บาท และเทรดดิชันนัลเทรด ขนาด 280 มิลลิลิตร ราคา 15 บาท

ที่ต้องเป็นมะเขือเทศ และเสาวรสเพราะทั้งคู่เป็นผลไม้ที่สร้างชื่อของดอยคำ และยังตอบโจทย์เรื่องเทรนด์สุขภาพ จะช่วยให้โคคาโคลาสามารถขยายพอร์ตโฟลิโอให้สนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค

คลาวเดีย นาวาร์โร ผู้อำนวยการตลาด บริษัท โคคาโคลา ประจำประเทศไทยและลาว กล่าวว่า

เชื่อว่ามินิทเมด 2 รสชาติใหม่ จะช่วยสร้างทั้งความตื่นเต้นและถูกใจให้กับผู้บริโภคชาวไทย อีกทั้งมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาผลักดันให้ยอดขายและส่วนแบ่งสูงขึ้น

การจับมือในครั้งนี้ถือเป็นการเอาจุดแข็งของทั้งคู่มารวมกัน โดยฝั่งโคคาโคลาเป็นแบรนด์ระดับโลก ที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าจำนวนมาก ส่วนดอยคำมีความเชี่ยวชาญในผลไม้ไทย โดยทั้งคู่จะทำร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เช่น ฤดูที่ผลไม้ชนิดไหนออกมามาก จะนำไปวางแผนสำหรับสินค้าตัวต่อไป ซึ่งผลไม้ที่มีความเป็นไปได้ต่อไป เช่น ลูกพีชและแอปเปิล

ดีลนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่มีโลโก้ของแบรนด์อื่นปรากฏบนแพ็กเกจจิ้งของโคคาโคลา ในเมืองไทย โดยฝั่งโคคาโคลาให้เหตุผลที่ยอมให้ติดโลโก้ของดอยดำบนสินค้า ด้วยเชื่อว่าจะช่วยสร้างการรับรู้ถึงผู้บริโภค ว่าสินค้าชนิดนี้มีวัตถุดิบจากเมืองไทยเป็นส่วนประกอบ

เบื้องต้นทั้ง 2 รสชาติจะวางขายในช่วงนี้ประมาณ 3-4 เดือนก่อน หากได้รับการตอบรับที่ดี ก็มีการวางแผนให้วางจำหน่ายในระยะยาว รวมไปถึงส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและพัมพูชา

ในขณะที่ฟากดอยคำผลประโยชน์หลักที่จะได้จากความร่วมมือในครั้งนี้คือ การขายวัตถุดิบที่ออกมาเกินความต้องการ

แต่ละปีดอยคำจะรับซื้อมะเขือเทศจากเกษตรกรเฉลี่ยปีละ 12,000 – 15,000 ตัน มากที่สุดคือ 30,000 ตัน แล้วแต่แผนผลิตสินค้า ส่วนเสาวรสมีการรับซื้อเฉลี่ย 4,000 – 5,000 ตัน ในระยะหลังๆ เริ่มมีเกษตรกรปลูกมากขึ้น เนื่องจากปลูกได้ง่าย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ด้วยเสารสชอบอากาศในไทยจึงปลูกได้ทั้งภาคเหนือและอีสาน

ซึ่งแต่ก่อนจะมีทั้งขายในประเทศและส่งไปขายยังต่างประเทศ แต่ช่วงที่ผ่านมาตลาดในต่างประเทศเริ่มไม่ค่อยดี ส่งผลให้สินค้าต้องเอามาขายในประเทศมากขึ้น จนเกิดเป็นภาวะที่สินค้าเกินความต้องการในที่สุด

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า

ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ทำให้ดอยคำสามารถขายวัตถุดิบให้กับตลาดที่กว้างและใหญ่ขึ้น อีกทั้งได้เรียนรู้การทำงานของโคคาโคลา ซึ่งบทเรียนที่ได้จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ถือเป็นบทเรียนที่ไม่สามารถหาได้ง่ายๆ

นอกจากแก้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบแล้ว อีกเรื่องที่ดอยคำจะได้คือ การขยับตัวเองจากเดิมในตลาดกลางบน ลงมาสู่ตลาดแมสมากขึ้น เนื่องจากการประกาศเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มพร้อมดื่ม ทำให้ดอยคำได้รับผลกระทบซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี

ผู้บริโภคชาวไทยตื่นเต้นง่ายกับทุกๆ เรื่อง พอเกิดอะไรขึ้นมาก็กระทบทันที อย่างภาษีน้ำตาลก็ทำให้ผู้บริโภคซื้อน้ำผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัดอย่างลิ้นจี่หรือสตรอว์เบอร์รี่น้อยลง เพราะกังวลเรื่องการปรับสูตร กลัวรสชาติจะเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ส่งผลให้ยอดขายในกลุ่มผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัดหายไปถึง 40%”

ด้วยความที่ดอยคำมีสินค้าเยอะมากกว่า 100 SKU เมื่อสินค้าบางตัวทำกำไร บางตัวไม่ทำกำไร จึงต้องบาลานซ์พอร์ตเพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรที่รับซื้อสินค้ามา ดอยคำจึงต้องปรับตัว

กำไรน้อยลงเพราะต้องแบ่งบางส่วนไปจ่ายภาษี รายได้คาดว่าติดลบ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 2,400 ล้านบาท แต่ทำได้จริง 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น เติบโตประมาณ 3%

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ดอยคำต้องการคือ เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่อยู่กับผู้บริโภคตลอดทั้งวัน โดยดอยคำมองว่าตัวเองไม่เคยมีคู่แข่ง ไม่คิดจะทำสงครามราคา ยกเว้นถูกบีบมากๆ เพราะเห็นรายอื่นๆ อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เข้ามาทำให้ตลาดโตขึ้นมากกว่า.