เมื่อ Google ต้องกระโดดลุย ฮาร์ดแวร์

กูเกิล (Google) นั้น ขึ้นชื่อเรื่องบริการออนไลน์ ทำรายได้มหาศาลจากค่าโฆษณาที่นำเสนอสู่สายตานักท่องเน็ต แต่แนวโน้มรายได้เหล่านี้ใช่ว่าจะยั่งยืน  จึงจำเป็นต้องหันมาพัฒนาฮาร์ดแวร์ เพื่อวางจำหน่ายเป็นสินค้าของตัวเอง

Google จึงต้องเดิมพันครั้งใหญ่ เพราะสินค้าแบรนด์พิกเซล (Pixel) ของ Google ยังไม่รุ่งเสียที จนเป็นข้อจำกัดให้ Google ไม่สามารถขยายไอเดียบรรเจิดของตัวเองได้อย่างที่ตั้งใจ

ส่วนบริการออนไลน์ที่เริ่มพัฒนาแกดเจ็ตฮาร์ดแวร์ของตัวเองแล้วในขณะนี้ มีทั้งอะเมซอน (Amazon), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) รวมถึงเฟซบุ๊ก (Facebook) ทุกรายสร้างสรรค์อุปกรณ์ขึ้นมา เพื่อให้ชาวโลกเดินเข้าประตูสู่โลกออนไลน์ในเวลาว่างที่ไม่ได้ถือสมาร์ทโฟนไว้ในมือ ซึ่งแม้แต่อูเบอร์ (Uber) เองก็ยังเริ่มต้นทำฮาร์ดแวร์ของตัวเองขึ้นมาในรูปสกูตเตอร์ไฟฟ้า

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจน คือ บริษัทเกิดใหม่เหล่านี้กำลังเดินไปในทางเดียวกัน นั่นคือ การพยายามเปิดตลาดธุรกิจฮาร์ดแวร์ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจหลัก กรณีของ Google งานใหญ่ที่จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 9 ตุลาคม สะท้อนว่า Google จัดเต็มกองทัพแกดเจ็ตที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งสมาร์ทโฟนใหม่ตระกูล Pixel, คอมพิวเตอร์สไตล์แท็บเล็ต และหน้าจอวิดีโอที่เปิดใช้งานด้วยเสียง สำหรับใช้ในบ้าน

การเปิดตัวฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ สะท้อนว่า Google กำลังเอาจริงเอาจังกับธุรกิจนี้ ยุทธศาสตร์เรื่องการลุยตลาดฮาร์ดแวร์ไม่เคยมีคุณค่าเท่านี้มาก่อน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะ Google ต้องการเร่งเครื่อง เพื่อให้หน่วยธุรกิจนี้เติบโตเสียทีจากที่เงียบมานาน

ยอดขายสมาร์ทโฟน Google แค่ 5 ล้าน

บริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) ให้ข้อมูลว่า ปีที่แล้ว 2017 และช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 2018 เจ้าพ่ออย่าง Google สามารถจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟน Pixel จำนวนประมาณ 5 ล้านเครื่องทั่วโลก ตัวเลขนี้เทียบไม่ได้กับแอปเปิล (Apple) ที่ขายไอโฟนเป็นจำนวนมหาศาลในเวลา 8 วันที่เปิดตัวสินค้าใหม่ ขณะที่ Google ต้องใช้เวลานานกว่า 18 เดือน

หากมองเฉพาะมกราคม-มิถุนายน 2018 ยักษ์ใหญ่อย่าง Apple จำหน่ายไอโฟนได้ 94 ล้านเครื่อง ขณะที่ Google จำหน่าย Pixel ได้เพียง 2 ล้านเครื่องเท่านั้น

แม้แอปเปิลจะทำยอดขายได้ถล่มทลาย แต่ก็ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมากในตลาดสมาร์ทโฟนโลก ทั้งหมดนี้ทำให้ Google มีชื่อเรียกเพราะพริ้งว่าเป็น “niche seller of smartphones” หรือผู้ขายสมาร์ทโฟนแบบเฉพาะทาง

ตัวเลขยอดขายอันน้อยนิดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ Google เท่านั้น เพราะอุปกรณ์ตระกูลเอคโค่ (Echo) ซึ่งเป็นสินค้าหลักของ Amazon.com Inc. ที่ผู้ใช้จะสามารถพูดสั่งงานได้นั้น มียอดขายประมาณ 3.6 ล้านเครื่องในช่วงเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา (ข้อมูลการประเมินจากบริษัท สเตรดิจี อะแนลไลติกส์ (Strategy Analytics) ตัวเลขนี้ไม่หวือหวา เพราะใกล้เคียงกับที่ฟิตบิต (Fitbit) สามารถขายชุดอุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหวได้ 2.7 ล้านชุดในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สถิติเหล่านี้ตอกย้ำว่า ยอดขายฮาร์ดแวร์ของ Amazon กำลังเติบโตขึ้น ขณะที่ยอดขายของ Fitbit ซึ่งเป็นบริษัทฮาร์ดแวร์ดั้งเดิมกำลังหดตัว ประเด็นนี้ทำให้เกิดภาพชัดว่า ตลาดกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากยุคที่ยักษ์ใหญ่ออนไลน์มองธุรกิจฮาร์ดแวร์เป็นงานอดิเรก แม้ว่ายอดขายจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไปในอนาคตอันใกล้

5 สินค้าและบริการใหม่ล่าสุด ที่ Google เปิดตัวในงานวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์บางรายเทียบ Google กับ Microsoft ว่าอาจมีเหตุผลเดียวกันในการลุกขึ้นมาพัฒนาฮาร์ดแวร์เอง เพราะสินค้ากลุ่มเซอร์เฟซ (Surface) ของ Microsoft นั้น ประสบความสำเร็จงดงามในแง่ของการกระตุ้นแนวคิดใหม่ในสิ่งที่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้ และควรจะทำ เพราะจุดประสงค์นี้ทำให้ Microsoft ยอมลงทุนปั้น Surface ขึ้นมาขายเพียงไม่กี่เครื่องด้วยตัวเอง

แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ ถือว่ามีความชัดเจนมากที่ Google ต้องการชนช้างกับอุปกรณ์ตระกูล Echo ของ Amazon ทั้ง 2 คนกำลังชิงตำแหน่งผู้นำ ซึ่งใครทำได้ก็จะอุ่นใจมากขึ้นในวันที่โลกนิยมใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งควบคุมด้วยเสียง เนื่องจากวันนี้รายได้ในตลาดกำลังถึงจุดอิ่มตัว เห็นได้จากยอดกำไรของ Google ที่เติบโตไม่มากนานกว่า 3 ปีตั้งแต่ปี 2016

หาทางรอดตลาดออนไลน์อิ่มตัว

ประเด็นนี้ค่อนข้างแน่นอนว่าเสียงจะถูกใช้เป็นช่องทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในอนาคต สิ่งที่ยืนยันได้ คือ กองทัพสินค้าของ Google ที่เปิดตัวเมื่อต้นสัปดาห์

งานนี้ทำให้ความสงสัยในตัวต้นสังกัด Google อย่างอัลฟาเบ็ต (Alphabet Inc.) หมดไป โดยเฉพาะความไม่แน่ใจที่เกิดขึ้นในการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นแรกเมื่อสองปีก่อน ที่ไม่ชัดว่า บริษัทจะทำอะไร แต่งานปีนี้แสดงว่า Google ต้องการกระตุ้นตลาดให้ได้ ในวันที่ตลาดโฆษณาออนไลน์เริ่มอิ่มตัว

อีกมุมของสมาร์ทโฟน Pixel รุ่นใหม่

สำหรับงานเปิดตัวสินค้าล่าสุด Google พยายามชูฟีเจอร์ที่ไม่มีในสมาร์ทโฟนรุ่นไหน โดยเฉพาะกล้องสมาร์ทโฟน Pixel รุ่นใหม่ที่จัดโหมดถ่ายภาพครอบครัวได้ในภาวะที่คุณยายกำลังกระพริบตา หรือสุนัขกำลังซุกซน ยังมี Google Home Hub อุปกรณ์สั่งงานด้วยเสียงที่มีหน้าจอสำหรับแสดงวิดีโอ แต่ไม่มีกล้องวิดีโอในอุปกรณ์

ส่วน Google Home Hub คือ สามารถเล่นเพลง แสดงสูตรอาหาร โชว์ภาพ และให้ผู้ใช้ได้เห็นอย่างรวดเร็วว่าล็อกประตูหน้าบ้านหรือยัง สินค้ากลุ่มนี้สะท้อนแนวคิดเดียวกับ Amazon และ Microsoft เพราะ Google กำลังพยายามเผยแพร่แนวคิด วิธีการทำงานของฟีเจอร์ และปฏิสัมพันธ์ของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่กับมนุษย์

ประเด็นเดียวที่ยังไม่ชัดเจน คือ ทำไม Google ไม่สามารถกระจายแนวคิดผ่านอุปกรณ์แอนดรอยด์ (Android) ซึ่งเป็นมันสมองของสมาร์ทโฟนใหม่กว่าพันล้านเครื่องที่จำหน่ายได้ทุกปี หรือแม้แต่แอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนที่แพร่หลายของ Google เช่น เว็บเบราเซอร์อย่างโครม (Chrome) หรือบริการยูทูบ (YouTube)

เทคโนโลยีของ Google มีอยู่แล้วทุกหนทุกแห่ง หลายคนมองว่า Google อาจไม่ต้องปั้นฮาร์ดแวร์ของตัวเองเพื่อให้เกิดผล จุดนี้ตัวแปรสำคัญอาจเป็นเพราะยอดขายจากธุรกิจโฆษณาที่ราบเรียบ และหากไม่มีฮาร์ดแวร์ของตัวเอง Google อาจถูกจำกัดอิทธิพล ไม่สามารถทดลองตลาดที่ Google มั่นใจว่าเป็นแนวโน้มได้

ปัจจุบัน หน่วยธุรกิจ Google ของ Alphabet สร้างรายได้ราว 86% จากธุรกิจโฆษณาในบริการค้นหาเว็บไซต์, วิดีโอ YouTube และเนื้อหาอื่นทั่วโลก แน่นอนว่าอำนาจที่เหนือกว่า และกำไรที่สูงกว่าย่อมรออยู่หาก Google ขยายพื้นที่ทำตลาดให้กว้างไกลได้มากกว่านี้

นอกจากตลาดสินค้าในบ้าน Google ยังตั้งความหวังในตลาดสินค้าวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ และระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ทั้งหมดนี้จะสามารถเป็นรากฐานของจักรวรรดิ Alphabet ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

บทสรุปจึงไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่านี้อีกแล้วว่า Google จำเป็นต้องชนะศึกในตลาดฮาร์ดแวร์ให้ได้.

สมาร์ทโฟน Pixel รุ่นใหม่ที่จัดโหมดถ่ายภาพครอบครัวได้ในภาวะที่คุณยายกำลังกระพริบตา หรือสุนัขกำลังซุกซน
Google Home Hub อุปกรณ์สั่งงานด้วยเสียงที่มีหน้าจอสำหรับแสดงวิดีโอ แต่ไม่มีกล้องวิดีโอในอุปกรณ์
หากไม่มีฮาร์ดแวร์ของตัวเอง Google อาจถูกจำกัดอิทธิพล ไม่สามารถทดลองตลาดที่ Google มั่นใจว่าเป็นแนวโน้มได้ ในภาพคือ Google Home Hub ที่ Google มั่นใจว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ทุกบ้านอยากมี

Source