CJ E&M ภายใต้ CJ Group เป็นชื่อที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยต้องจำไว้ให้แม่น โดยเฉพาะหลังจากเริ่มปักหลัก KCON 2018 Thailand ในปีนี้ พร้อมๆ กับ การรุกตลาดไทยด้วยการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมบันเทิงหลายราย อาทิ การจัดตั้งบริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด เพื่อนำลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากเกาหลีมาผลิตใหม่ในไทย การตั้งบริษัท ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ร่วมกับ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป เป็นต้น
รู้จักอิทธิพลและที่มาของ CJ Group
CJ Group เป็น 1 ในแชโบลของเกาหลีใต้ที่เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญผลักดันกระแส Korean Wave ไปสู่สายตาชาวโลก
แชโบล คือ กลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มีรายได้รวมกันแล้วมีจำนวนเท่ากับ GDP ส่วนมากของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเกาหลีใช้ยุทธศาสตร์แชโบลหรือเลือกกลุ่มธุรกิจที่ทำอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งเป็นผู้รับหนาที่แบกการพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นมาถึงทุกวันนี้
จากอุตสาหกรรมหลักอย่างเหล็กของกลุ่มแดวู เทเลคอมอย่างเอสเคเทเลคอม ไปจนถึงผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์อีเล็กโทรนิคส์ อย่าง ซัมซุง และแอลจี ทำให้กลุ่มแชโบลซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920 เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1960 – 1990
ในประเทศเกาหลีใต้ กลุ่มนายทุนที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของชาวเกาหลีทั้งประเทศ จึงไม่พ้น กลุ่มแชโบล ซึ่งเป็นหนึ่งในองคาพยพสำคัญที่ทรงอิทธิพลครอบงำการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะคิดรายได้ทั้งหมดรวมเป็น GDP เกือบ 80% ของประเทศ
บริษัทที่รู้จักคุ้นหูกันดีอย่างอย่าง ซัมซุง แอลจี ฮุนได มีธุรกิจครอบคลุมเกือบทุกด้านที่ชาวเกาหลีใต้จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เพราะเป็นผู้ผลิต จัดจำหน่ายอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักอย่างเช่น ธุรกิจรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย แต่ที่กระจายธุรกิจทั่วโลกและเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้นั้นคือ ซัมซุง ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าที่ทำรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุดคือสินค้าอีเล็กโทรนิคส์
หลังจากการจากไปของประธานผู้ก่อตั้ง ลี เบียงชอล ได้มีการแบ่ง ธุรกิจออกเป็น 4 บริษัท ได้แก่ Samsung Group, CJ Group, Shinsegae group และ Hansol Group โดยมีลูกหลานในตระกูลเป็นผู้บริหาร
แต่ที่จะพูดถึงและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีอิทธิพลต่อกระแส “Korean Wave” ก็คือ CJ Group นั่นเอง
ภายใต้ CJ Group จำแนกธุรกิจเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจการผลิตและให้บริการด้านอาหาร 2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในรูปของโฮมช้อปปิ้ง และขนส่ง 3. กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ และ 4.กลุ่มธุรกิจสื่อและสันทนาการ ภายใต้บริษัท CJ Entertainment & Media หรือ CJ E&M
CJ E&M ขาใหญ่บันเทิงเกาหลี
CJ E&M คือ กลุ่มธุรกิจที่ผลักดันและสร้างคอนเทนต์ของเกาหลีป้อนสู่ตลาดโลก โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี 1993 เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ อย่าง tvN เจ้าของลิขสิทธิ์ซีรีส์ดังที่คนไทยและคนเอเชียติดกันงอมแงม Mnet รายการเพลงยอดนิยมและ OCN
ไม่เพียงแค่นั้นยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของค่ายบันเทิงมากมาย อย่าง Jellyfish Entertainment , MMO Entertainment , AOMG, Stone Music Entertainment
รวมทั้งยังได้เจรจาขอซื้อหุ้นจากค่ายบันเทิงชื่อดัง Pledis Entertainment ที่มีศิลปินในสังกัดมากมายเช่น After School , NU’EST , SEVENTEEN , PRISTIN และ ฮันดงกึน แม้แต่ นัททิว ณัฎฐ์ ทิวไผ่งาม ก็เป็นศิลปินเดี่ยวสังกัดค่าย CJ E&M
เพื่อตอบสนองรต่อความต้องการที่ขยายตัวของผู้บริโภคในยุค Digital Transformation ทางบริษัทเตรียมผลิตคอนเทนต์รายการกว่า 4,000 รายการต่อปี รวมไปถึง รับผลิตละครและภาพยนตร์ส่งช่องหลัก และลงทุนในด้านหนัง ละครให้หลากหลายยิ่งขึ้น
เป็นผู้ให้กำเนิดรายการค้นหาไอดอลยอดนิยม Produce 101
โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่ดูสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุดสำหรับวงการเคป็อป (Kpop) ตอนนี้คือ การผลิตรายการ Produce 101 ของ Mnet ซึ่งได้วงบอยแบนด์แห่งชาติ ที่มีระยะเวลาการฟอร์มวงชั่วคราวอย่าง WANNA ONE และ NU’EST ซึ่งมีเมมเบอร์ที่ได้เข้าร่วมการแข่งกันในรายการนี้ ก็ได้แจ้งเกิดอีกครั้งในฐานะวงอย่างเต็มตัว
หลังจากจบรายการ เพลงเก่าๆ ของ Nu’est ติดชาร์ตในเกาหลีกันถ้วนหน้า เป็นการกลับมาปังครั้งยิ่งใหญ่อีกรอบแม้จะปล่อยมาหลายปีแล้วก็ตาม และตัวสมาชิกก็ได้รับความสนใจตามไปด้วย
ทั้งนี้รายการวาไรตี้แนวนี้ในเกาหลี เป็นที่นิยมมากด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ชมทางบ้านเลือกไอดอลของตัวเอง ผ่านจากการโหวต และรูปแบบการตัดต่อถ่ายทำที่เรียกซีนดราม่าได้ดี สร้างความรู้สึกร่วมชวนให้ติดตาม อีกทั้งคาแรกเตอร์ของเด็กฝึกมีความโดดเด่นและมีสตอรี่ไลน์น่าสนใจ
รายการนี้ยังคงมีความสดใหม่อยู่เพราะหลายคนยังอินกับ Produce 101 อย่าง IOI จนต่อยอดต่อเนื่องในปีนี้ มีการทำซีรีส์ต่อมาล่าสุด คือ Produce 48 เรียลลิตี้ที่เฟ้นหาไอดอลหญิงจากบรรดาเด็กฝึกของค่ายต่าง ๆ ในเกาหลีและสมาชิกจาก AKB48 Group ของทางฝั่งญี่ปุ่น
รวมไปถึงการหาพื้นที่รองรับ มีงานอีเว้นต์และ กิจกรรมให้ไอดอลแอคทีฟและพบปะกับแฟนเพลงได้เต็มที่ อย่าง K Concert หรือ Kcon Thailand ที่เพิ่งจัดไปในบ้านเรา ก็เป็นผลงานของ Mnet ซึ่งเป็น บริษัทลูกในพาร์ทธุรกิจด้านงานเพลงของ CJ E&M เช่นกัน
อย่างไรก็ตามด้วยความที่ CJ Group ขยายธุรกิจไปในหลายด้านทำให้มีการขัดกันด้านผลประโยชน์ของค่ายเพลงใหญ่ๆ ของเกาหลีด้วย เพราะไม่อาจตกลงกันได้ลงตัวในเรื่องของส่วนแบ่งและไม่อาจหาข้อสรุปที่น่าพึงพอใจทางธุรกิจของทั้งสองฝ่าย
ดังน้น แม้ว่าจะเป็นกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ที่มีการทำธุรกิจในลักษณะผูกขาด มีลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า CJ Group เป็น 1 ในตัวแปรและฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการผลักดันกระแสเกาหลีให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนสร้างรายได้และนำชื่อเสียงเข้าประเทศเกาหลีเป็นกอบเป็นกำจนทุกวันนี้.