“ปูนอินทรี” แก้โจทย์ธุรกิจวันนี้ ด้วย 4 กลยุทธ์บริหารคน

โจทย์ใหญ่ของธุรกิจวันนี้ไม่ว่าจะเป็น “ความต้องการของลูกค้า” ที่เปลี่ยนไป “รูปแบบการทำธุรกิจและการแข่งขัน” ที่เปลี่ยนไป รวมทั้ง ”คนทำงาน” ที่เปลี่ยนไป โดยมีตัวแปรสำคัญคือเทคโนโลยี ในวันนี้ในยุคดิจิทัลที่ทำให้โจทย์ที่ว่าซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ “ปูนอินทรี” เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ต้องเร่งปรับตัว เช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจอื่นๆ

ที่ผ่านมา “ปูนอินทรี” แก้โจทย์ธุรกิจทั้งความต้องการของลูกค้า รูปแบบธุรกิจและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่งแล้ว เช่น การค้นหาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การใช้ช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ ฯลฯ รวมทั้งการขยายธุรกิจเข้าไปในภูมิภาค เช่น การลงทุนซื้อและสร้างโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ในเวียดนามและกัมพูชา เป็นต้น ขณะที่เรื่องของ “คน” หรือ “บุคลาการ” ซึ่งแม้จะให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในวันนี้ยังต้องเพิ่มดีกรีความเข้มข้น มาดูกันว่า “ปูนอินทรี” แก้โจทย์ในเรื่องของคนอย่างไร ไม่เพียงเพื่อให้ไม่ตกยุค แต่ยังต้องสามารถ “ก้าวทัน” และ “ก้าวล้ำ” ธุรกิจได้อีกด้วย 

อนุตตรา พานโพธิ์ทอง รองประธานอาวุโส สายงานการบริหารบุคลากรและประสิทธิภาพองค์กร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปูนอินทรี” วาง กลยุทธ์ที่ใช้ในการบริหารจัดการคน กลยุทธ์แรก right size, right shape คือ การให้ความสำคัญกับจำนวนของบุคลากรและความสามารถในการทำงาน ด้วยการเพิ่มหน้าที่ให้มากกว่าเดิม เมื่อมีพนักงานลาออก ให้คนคนหนึ่งมีหลายหน้าที่ โดยเฉพาะพนักงานที่มีศักยภาพหรือที่เรียกว่า “talent” ซึ่งจะทำให้สามารถเติบโตหรือขยับขึ้นไปเป็นผู้บริหารได้เร็วขึ้น เป็นการรักษาคนเก่งเอาไว้ในองค์กร ขณะที่องค์กรก็จะไม่ต้องมีพนักงานเกินความจำเป็น และสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วย “ความคล่องตัว” ไม่เพียงเพื่อให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในไทย แต่กลยุทธ์นี้เป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างและขนาดขององค์กร เพื่อตอบโจทย์ทิศทางธุรกิจในอนาคตโดยเฉพาะการมุ่งไปในต่างประเทศอีกด้วย

กลยุทธ์ที่สองright fit, right people คือ “คนที่เหมาะ คนที่ใช่” กลยุทธ์นี้ต้องการเฟ้นหา พัฒนา และสร้างศักยภาพของพนักงานให้มีความพร้อมไม่ใช่เพียงวันนี้ แต่สำหรับวันข้างหน้าของธุรกิจอีกด้วย โดยมี ตัววัด ได้แก่ 1) เข้าใจเรื่องกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ 2) ขับเคลื่อนกลยุทธ์ให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง 3) สร้างความผูกพันและขวัญกำลังใจให้คนอื่นๆ หรือลูกน้องได้เป็นอย่างดี และ 4) ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี (role model)

นอกจากนี้ ยังมีอีก เรื่อง เรื่องแรกคือdo the right thing ทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะด้วยการแข่งขันที่รุนแรงรวดเร็วจึงมีความเสี่ยงที่พนักงานจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้ชนะหรืออยู่รอด เช่น ฝ่ายขายที่ต้องขายให้ได้ตามเป้า จึงอาจใช้วิธีการที่ผิดเพื่อให้ได้ยอดขายตามเป้าที่ต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะองค์กรไม่ได้ต้องการแค่คนเก่งแต่ต้องการให้พนักงานเป็นคนดีด้วย กับเรื่องที่สอง “challenging convention” ต้องท้าทายตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงหรือพัฒนางาน โดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ เพราะปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก สิ่งที่เคยทำแล้วได้ผลดีในอดีตอาจจะใช้ไม่ได้ในวันนี้ จึงต้องหาแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ มาใช้

กลยุทธ์ที่สาม right culture, right mindset คือวัฒนธรรมและหลักคิดที่จะทำให้พนักงานช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและองค์กรไปได้ด้วยดีในทิศทางเดียวกัน วัฒนธรรมของที่นี่คือ ”คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลง” เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วในโลกยุคนี้ ขณะที่ธรรมชาติของมนุษย์ การปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องยาก จึงใช้การตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการหาคำตอบและเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ด้วยการให้พนักงานถามตัวเอง เช่น ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือไม่? เราปรับตัวหรือตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือไม่?  

นอกจากนี้ ยังมีการนำเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเชื่อมโยงกับเรื่องการเปลี่ยนแปลง เช่น เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ซึ่งมีความกลัวกันว่าจะมาแย่งงาน ด้วยการชี้ให้เห็นว่า AI หรือการใช้หุ่นยนต์ในโรงงาน เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เข้ามาแทนที่คนในงานที่คนไม่จำเป็นต้องทำ ส่วนในงานออฟฟิศ การใช้ AI เป็นการช่วยให้สามารถทำงานได้สะดวกสบายขึ้น เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างฉลาด ทำให้เกิดการต่อต้านกับการเปลี่ยนแปลงน้อยลง

กลยุทธ์ที่สี่ “right cost , right pay เป็นกลยุทธ์ในการวางแผนการจ่ายค่าตอบแทน และผลประโยชน์ทุกด้านให้กับพนักงาน ในแบบที่แข่งขันได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบ incentive ที่ให้กับทุกหน่วยงานไม่ใช่แค่ฝ่ายขายเท่านั้น เช่น การประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างน้ำและไฟฟ้า เมื่อทำได้แล้วจะมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ตอบแทน ซึ่งช่วยให้เกิดสำนึกของการเป็นเจ้าของอีกด้วย และทำให้เกิดคำถามว่าถ้าพนักงานเป็นเจ้าของบริษัทจะทำอย่างไร? ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ถูกต้องและผลลัพธ์ที่ดีตามมา