หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย2 ได้มอบวิสัยทัศน์ให้กับบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรในไทยในการพัฒนาคิวอาร์ โค้ด มาตรฐาน ให้เป็นแบบเดียวกับทั่วโลก เพื่อสร้างถนนสำหรับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ดี ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ “วีซ่า” ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล ก็ได้ฤกษ์สานต่อเส้นทางสู่การเป็น “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) ด้วยการเปิดให้บริการ “สแกนเพื่อจ่าย” (Scan to pay) มาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า หรือการนำบัตรเครดิตวีซ่าเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ปลุกกระแสการใช้จ่ายผ่านบัตรดิตในรูปแบบใหม่ตามร้านค้ารายย่อยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ทั้งยังเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการชำระเงินที่สะดวกสบาย รวดเร็ว ปลอดภัยและได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ให้รายละเอียดว่า “ตลาดไทยใหญ่มาก ทั้งในแง่ของจำนวนประชากร รายได้ และความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และการใช้งานโซเชี่ยล มีเดีย การใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ในชีวิตประจำวันของคนไทยทุกวันนี้ยังใช้เงินสดกันอยู่ 72% การให้บริการ “สแกนเพื่อจ่าย” จึงเป็นหนึ่งในรูปแบบการรับชำระเงินที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้บริโภคใช้เงินสดน้อยลง และเข้าไปอยู่ใน Customer Journey ของผู้บริโภค โดยประโยชน์จากการชำระเงินผ่าน มาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า คือ ผู้บริโภคและร้านค้าได้รับความสะดวกสบาย ,ความรวดเร็ว และความปลอดภัย เพราะถูกพัฒนาตามมาตรฐานโลก ป้องกันความเสี่ยงได้เหมาะสม ส่วนร้านค้าก็สามารถรองรับการชำระเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวชาวไทยก็สามารถใช้จ่ายได้ในประเทศที่เปิดให้บริการนี้แล้วอย่าง อินเดีย ไต้หวัน เวียดนาม กัมพูชา ไนจีเรีย และแทนซาเนีย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อเช่นกัน แต่สำหรับในเฟสแรกนี้ มาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า จะใช้ได้เฉพาะกับบัตรเครดิตวีซ่าก่อน ส่วนบัตรเดบิตวีซ่าซึ่งเป็นเฟสต่อไป คาดว่าจะใช้งานได้ในภายในต้นปี 2562″
นอกจากการสามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในโทรศัพม์มือถือได้แล้ว ยังมีข้อดีคือ ไม่ถูกจำกัดด้วยแหล่งที่มาของเงินเพียงที่เดียว จะเป็นบัตรเครดิตวีซ่าของธนาคารใดก็สแกนเพื่อนจ่ายได้ โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว รวมถึงหมายเลขบัตรเครดิตให้ใครทราบ โดยคิวอาร์ โค้ด มาตรฐาน วีซ่า สามารถใช้ได้กับทั้งระบบโค้ดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (Static) เป็นคิวอาร์ โค้ดเฉพาะที่ระบุตัวตนของร้านค้า แต่ลูกค้าต้องกรอกตัวเลขเงินที่ต้องชำระเงินเอง และระบบโค้ดที่มีการเปลี่ยนโค้ดทุกรายการ (Dynamic) ซึ่งระบุตัวเลขเงินที่ต้องชำระทั้งหมดมาเสร็จสรรพ
นอกจากนี้ยังช่วยคลายความกังวลใจจากการใช้บัตรเครดิตแบบดั้งเดิม หรือ Physical Credit Card ซึ่งอาจสูญหาย มีการลักลอบคัดลอกข้อมูลจากมิจฉาชีพ รวมถึงการนำบัตรเครดิตให้พนักงานร้านค้าไปรูดในแต่ละครั้ง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตขึ้น แต่คิวอาร์ โค้ด มาตรฐาน วีซ่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เนื่องจากการชำระผ่านมาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า เป็น Push Paymentต้องกดรหัสเอง ใส่ไบโอเมตริคเอง
สุริพงษ์มั่นใจว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีความพร้อมที่จะเปิดรับบริการ “สแกนเพื่อจ่าย” เนื่องจากผลสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค ประจำปี 2560 จัดทำโดย Intuit Research ระบุว่า 3 ใน 4 หรือ 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยรู้จักการชำระเงินผ่านคิวอาร์ โค้ด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกือบครึ่ง หรือ 46% ระบุถึงความต้องการที่่จะใช้วิธีการชำระเงินแบบนี้ และ 42% เคยลองใช้ โดยกลุ่มใหญ่ที่เคยลองใช้คือ Gen Y ส่วน Gen X มีจำนวน 1 ใน 3
ขณะเดียวกันข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีบัญชีในแอปพลิช่ันของธนาคารบนมือถือทั้งหมด 34.5 ล้านบัญชีในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ถึง 31% ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญของการชำระเงินผ่าน มาตรฐานคิวอาร์ โค้ด วีซ่า รวมถึง มาตรฐานคิวอาร์ โค้ด อื่น ๆ ของผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร ได้แก่ อเมริกัน เอ็กซ์เพรส, เจซีบี, มาสเตอร์การ์ด และยูเนี่ยน เพย์ ซึ่งทั้งหมดมีบัตรเครดิตรวมกัน20 กว่าล้านใบในไทย
ทั้งนี้ปัจจุบันสถาบันการเงินที่เปิดให้บริการมาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า แล้ว ได้แก่ ไทยพาณิชย์, ซิตี้แบงค์, เคทีซี และกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ส่วนที่จะใช้ในอีก 1-2 เดือนนับจากนี้ คือ กสิกรไทย, กรุงเทพ และธนชาติ ขณะที่ออมสิน, อิออน,ธกส. ,ทีเอ็มบี รวมถึง ไทย สมาร์ท การ์ด จะใช้ได้ในต้นปี 2562 เบ็ดเสร็จภายในต้นปีหน้าจะมีทั้งสิ้น12 แห่ง ซึ่งหากผู้บริโภคถือบัตรเครดิตของสถาบันการเงินทั้ง 12 แห่ง ก็ยังจำเป็นจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของธนาคารแต่ละแห่งเพื่อใช้งานบริการนี้อยู่ เพราะยังไม่มีการพัฒนาแอปพลิชั่นแยกออกมา
ส่วนตัวอย่างร้านค้าแบบมีหน้าร้านที่เปิดรับชำระบริการนี้แล้ว ได้แก่ เดอะมอลล์, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, ชายสี่หมี่เกี๊ยว, ซับเวย์, สลัด แฟคทอรี่ และร้านค้าออนไลน์ ได้แก่ การบินไทย, เอเชีย บุ๊คส์, บีทูเอส, อาวิยองส์ ช็อป,คิวท์ เพรส, โอเรียนทอล พริ้นเซส, อีซี่บาย, เมืองไทยประกันภัย และเซ็นทรัล ออนไลน์ เป็นต้น
โดยสิ่งที่วีซ่าและบัตรเครดิตจะได้รับจากมาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า ก็คือ Big Data ที่จะนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนแคมเปญต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายและตรงจุดมากขึ้น
นับเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) รวมถึงเป็น จุดเปลี่ยน (Turning Point) ที่สำคัญของระบบการชำระเงินของประเทศไทย ทั้งยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายเล็ก (Small Merchant) ที่ปกติไม่รับชำระด้วยบัตรเครดิต เพราะไม่คุ้มที่จะติดตั้งระบบ โดยเฉพาะอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture : EDC) ทำให้นับจากนี้สินค้าทั่วไปที่ไม่ได้มีราคาค่างวดมากมาย เช่น อาหารข้างทาง ก็สามารถจ่ายด้วยคิวอาร์ โค้ด มาตรฐาน วีซ่า ได้
วีซ่าชี้ให้เห็นว่านี่คือฝันที่เป็นจริงของร้านค้าเล็ก ๆ หรือร้านค้ารายย่อยรวมถึงร้านค้าออนไลน์และอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ที่จะมีโอกาสในการทำมาค้าขายมากขึ้น เพิ่มการซื้อขาย (Transaction) มีรายได้มากขึ้น และที่นอกเหนือจากนั้นยังมีประโยชน์ในเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัย ทำให้ผู้บริโภคคลายความกังวลใจในการรับประทานอาหารจากร้านค้าข้างทาง ที่ส่วนใหญ่แล้วแม่ค้ามักจะหยิบจับเงิน พลางหยิบจับอาหารไปมา โดยไม่ทันระวังหรือไม่สะดวกที่จะล้างมือตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์เพิ่มเติมในแง่ของร้านค้ารายย่อยที่ไม่ต้องจมอยู่กับเงินสด ขณะที่ผู้บริโภคก็จะทราบรายจ่ายในแต่ละเดือน โดยเฉพาะรายจ่ายที่่ไม่ได้บันทึกไว้มาก่อน เช่น ค่าอาหาร ค่าตั๋วหนัง ฯลฯ ที่เคยจ่ายด้วยเงินสด ด้วยการสรุปบัญชีรายจ่ายอัตโนมัติ ทำให้มีวินัยทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันได้รับสิทธิประโยชน์จากโปรแกรมสะสมคะแนนเพื่อแลกรับของรางวัลหรือลุ้นโชคต่าง ๆ ด้วย
“สิ่งที่ร้านค้ามักมองข้ามก็คือ ต้นทุนของเวลาและการบริหารจัดการเงินสด ต้องไปฝากธนาคารทุกวัน ทำให้เสียโอกาสในการทำอย่างอื่นที่ก่อเกิดรายได้มากกว่า หรือทำให้ Productivity มากกว่า ซึ่งต่อไปนี้มาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า จะมาเติมเต็มโอกาสนั้น”
สำหรับรูปแบบการนำมาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า ไปใช้นั้น มีความหลากหลายมากนอกเหนือจากร้านค้ารายย่อยและร้านค้าออนไลน์แล้ว ยังนำไปใช้ในการชำระค่าแท็กซี่ ,โฮม เดลิเวอรี่, การจ่ายบิลที่โต๊ะอาหารในร้านอาหารที่เป็นเชน, การสแกนจ่ายบนโทรทัศน์ และจ่ายชำระบิลค่าใช้บริการต่างๆ เป็นต้น
ท้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มาตรฐาน คิวอาร์ โค้ด วีซ่า ประสบความสำเร็จและได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายก็คือ ความง่ายและความรวดเร็วในแต่ละการซื้อขายที่เกิดขึ้น รวมถึงคิวอาร์ โค้ด มาตรฐาน พร้อมเพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจกับการชำระเงินผ่านคิวอาร์ โค้ด เพราะปัจจุบันมีร้านค้าเกือบ 2 ล้านแห่งที่รับชำระด้วยมาตรฐาน คิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ เพียงแต่สิ่งที่ท้าทายก็คือจะต้องให้ความรู้และความเข้าใจเพิ่มขึ้นกับผู้บริโภคบางกลุ่มที่อาจจะยังสับสนกับการใช้งานคิวอาร์ โค้ด ประเภทอื่นๆ เช่น การเพิ่มเพื่อนในไลน์ และการสแกนเพื่อเข้าไปสู่เว็บไซต์หรือฐานข้อมูลบางอย่าง.