ชำแหละเรทติ้งทีวีดิจิทัล ก.ย.61 วัยรุ่น 12 ปี ฟังวิทยุเพิ่ม

กสทช. ชำแหละเรตติ้งทีวีดิจิตอล เดือน ก.ย. 61 พบช่อง 7HD ยังครองอันดับหนึ่งตามด้วยช่อง 3HD อันดับ 3 ช่อง MONO29 ส่วนวิทยุคนไทยอายุตั้งแต่ 12 ปี รับฟังเพิ่มขึ้นจากเดือน. ส.ค. 61 ประมาณร้อยละ 2.2

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. รายงานสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เดือน ก.ย. 2561 พบว่า ช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด (เรตติ้ง) 10 อันดับแรก

อันดับ 1 ช่อง 7HD เรตติ้ง 1.866
อันดับ 2 ช่อง 3HD เรตติ้ง 1.309
อันดับ 3 ช่อง MONO29 เรตติ้ง 0.917
อันดับ 4 ช่อง Workpoint TV เรตติ้ง 0.830
อันดับ 5 ช่อง ไทยรัฐ ทีวี เรตติ้ง 0.493
อันดับ 6 ช่อง ONE HD เรตติ้ง 0.484
อันดับ 7 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.463
อันดับ 8 ช่อง 3SD เรตติ้ง 0.380
อันดับ 9 ช่อง Amarin TV HD เรตติ้ง 0.290
อันดับ 10 ช่อง NOW เรตติ้ง 0.218

สำหรับเดือน ก.ย. 2561 เรตติ้ง 10 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มช่องรายการเหมือนเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา แต่มีบางช่องรายการที่มีเรตติ้งสูงขึ้นจนส่งผลให้การจัดลำดับของช่องรายการมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มช่องความคมชัดสูง (HD) ซึ่งได้แก่ ช่อง 7HD ช่อง 3 HD ช่องไทยรัฐ ทีวี และช่อง Amarin TV HD

       -ละครพื้นบ้าน สังข์ทอง และละครเย็น เจ้าสาวช่างยนต์ เป็น 2 รายการยอดฮิต ประจำเดือน ก.ย. 2561 ที่ทำให้เรตติ้งของช่อง 7HD พุ่งสูงขึ้น จากเดือนก่อนหน้า (ส.ค. 2561) โดยละครสังข์ทองมีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงถึง 7.708 และ เจ้าสาวช่างยนต์ ก็ได้รับความนิยมจากฐานผู้ชมละครเย็นอย่างสูง โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการ 5.579 (ออกอากาศ 13 ส.ค.-20 ก.ย. 2561) และเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงถึง 6.258

      -ละครหลังข่าว อังกอร์ เป็นม้ามืดช่วยดันเรตติ้งของช่อง 3HD ให้พุ่งสูงขึ้นจากเดือน ส.ค. โดยเป็นละครช่วงไพร์มไทม์ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการ 5.311 (ออกอากาศ 25 ส.ค.-21 ก.ย. 2561) และเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงถึง 5.647

       -การแข่งขันวอลเล่ย์บอลหญิง เอสเอ็มเอ็ม เอวีซีคัพ 2018 ได้กลายเป็นรายการถ่ายทอดสดกีฬาที่ช่วยดันช่องไทยรัฐ ทีวี ให้มีเรตติ้งสูงขึ้นจาก 0.424 (เดือน ส.ค.) เป็น 0.493 ในเดือน ก.ย. 2561 จนสามารถก้าวขึ้นสู่การตัดอันดับ Top 5 ได้สำเร็จ โดยแมตซ์การแข่งขันที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ แมตซ์ระหว่างไทยและจีน เรตติ้ง 4.732 แมตซ์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ เรตติ้ง 3.643 แมตซ์ระหว่างไทยและออสเตรเลีย เรตติ้ง 3.608 และแมตซ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น เรตติ้ง 3.473

        -รายการ ทุบโต๊ะข่าว ออกอากาศทางช่อง Amarin TV HD เป็นรายการที่มีแฟนข่าวเฝ้าติดตามอย่างเนืองแน่น สม่ำเสมอ โดยในเดือน ก.ย. 2561 มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการ (ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์) 1.425 และ 1.346 สำหรับรายการที่ออกอากาศเสาร์-อาทิตย์

ส่วนกลุ่มช่องคมชัดปกติ (SD) ซึ่งได้แก่ ช่อง 8 ช่อง MONO 29 ช่อง 3SD และช่อง NOW มีรายละเอียดดังนี้

       -แฮรี่ พอตเตอร์ โดยเฉพาะตอนแฮรี่ พอตเตอร์กับนักโทษ เรตติ้ง 4.373 และแฮรี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี เรตติ้ง 4.181 ซึ่งช่วยให้ช่อง MONO 29 มีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนสูงขึ้น และกลับมาทวงบัลลังก์ช่องที่มีค่าความนิยมสูงสุดอันดับ 3 คืนจากช่อง Workpoint TV ได้สำเร็จ

      -ละครเย็นเรื่อง พยัคฆา และละครอินเดีย พิฆเนศ มหาเทพไอยรา เป็นสองรายการที่ช่วยให้เรตติ้งช่อง 8 เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. ก่อนหน้านี้ โดยทั้ง 2 เรื่อง มีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือน 1.518 และ 1.713 ตามลำดับ

      -ละครรีรันของช่อง 3SD ถือว่าประสบความสำเร็จในการช่วยดันเรตติ้งของช่อง โดยเฉพาะในเดือน ก.ย. 2561 ละคร ผู้กองยอดรัก มีเรตติ้งสูงถึง 2.672 นอกจากนี้ รายการข่าวนอกลู่ก็ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างต่อเนื่อง โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยประมาณ 2.054

       -แม็ก มวยไทย, เดอะ แชมป์เปี้ยน, มวยไทยตัดเชือก, มวยไทยแบทเทิล และมวยไทยไฟต์เตอร์ เป็นซีรีส์รายการมวยที่ช่วยให้ช่อง NOW มีเรตติ้งเฉลี่ยสูงขึ้น และสามารถคงอยู่ในการจัดอันดับ Top 10 ได้

วัย 12 ฟังวิทยุเพิ่ม
สำหรับสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงของไทยประจำเดือน ก.ย. 2561 พบว่า
จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม. จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่าในเดือน ก.ย. 2561 มีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับฟังวิทยุ ประมาณ 10,554,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ประมาณ 228,000 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.2

เมื่อดูจากพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ พบว่า ถ้าแยกตามสถานที่
-นิยมรับฟังวิทยุที่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 49.40
-ฟังวิทยุในรถ ร้อยละ 37.24
-ฟังที่ทำงาน ร้อยละ 12.76
อื่นๆ ร้อยละ 0.60

หากแยกการรับฟังวิทยุตามประเภทอุปกรณ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมรับฟังวิทยุผ่านทางเครื่องรับวิทยุคิดเป็นร้อยละ 72.68 ตามมาด้วยการรับฟังผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ร้อยละ 25.63 และผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ร้อยละ 1.69

แต่เม็ดเงินโฆษณาลด
ในส่วนของมูลค่าโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม.ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี (88.0 MHz-91.5 MHz, 93.0 MHz-103.5 MHz และ 104.5 MHz-107.0 MHz พบว่า ในเดือน ก.ย. 2561 มีมูลค่าโฆษณารวมประมาณ 401,783,000 บาท ซึ่งลดลงจากเดือนก่อน (ส.ค. 2561) ประมาณ 388,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของเดือน ก.ย. 2561 กับปีก่อนหน้า พบว่า มีมูลค่าลดลงประมาณ 25 ล้านบาท