การบินไทยยังอ่วม ขาดทุนไตรมาส 3/61 กว่า 3.6 พันล้าน พิษน้ำมันแพง-ไต้ฝุ่นถล่ม-นทท.จีนหด

การบินไทยยังต้องเจอภาวะขาดทุนต่อเนื่อง เป็นผลมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้น 40% แถมเจอไต้ฝุ่นถล่มเส้นทางหลัก ญี่ปุ่น ฮ่องกง ผู้โดยสารหด นักท่องเที่ยวจีนลด ต้นทุนเพิ่ม ฉุดผลประกอบการไตรมาส 3/61 อ่วมขาดทุนสุทธิ 3,686 ล้าน

สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2561 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมจำนวน 47,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,025 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แต่มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5,259 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.3% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 3,686 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 1,872 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,701 ล้านบาท

สาเหตุมาจาก ช่วงไตรมาส 3 เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว อีกทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรกถึง 40% ส่งผลให้ความต้องการเดินทางลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น

อีกทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงเดือนกันยายน 2561 ได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเซบีพัดเข้าฝั่งประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ท่าอากาศยานคันไซได้รับความเสียหาย รันเวย์เกิดน้ำท่วมขัง และประกาศปิดการให้บริการเป็นการชั่วคราว แผ่นดินไหวบนเกาะฮอกไกโด และพายุไต้ฝุ่นมังคุดพัดเข้าฝั่งประเทศฮ่องกง ทำให้บริษัทฯ ต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนหนึ่ง ประกอบกับการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน

สำหรับรายได้จากค่าโดยสาร และน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 304 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.8% จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

  • รายได้จากค่าระวางขนส่ง และไปรษณียภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 561 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.9%
  • รายได้จากการให้บริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% 

ในการดำเนินงานนั้น การบินไทยได้ปลดประจำการเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน (ณ วันที่ 30 กันยายน 2561) จำนวน 103 ลำ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4 ลำ

  • อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) เท่ากับ 12.1 ชั่วโมง เท่ากับช่วงปีก่อน
  • ปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 2.0%
  • ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.0%
  • อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.5% ต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 78.2%

โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.0 ล้านคน ใกล้เคียงกับปีก่อน  

ทั้งนี้ การบินไทย ยังคงประสบกับปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีรายได้รวม 47,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขาดทุนสุทธิ 3,086 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น 30% ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรง