Blockchain Thailand Genesis งานมหรรมเทคโนโลยีบล็อกเชนงานแรกที่จัดโดยคนไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักลงทุนรายย่อย ที่มองหาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนรูปแบบใหม่ในยุคเริ่มต้น รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ เช่น การระดมทุนรูปแบบใหม่เรียกว่า ICO ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ทำผ่าน ICO ทั่วโลกระหว่างปี 2017-2018 มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การระดมทุนแบบ ICO เติบโตอย่างต่อเนื่องคงหนีไม่พ้น การทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วโลก ไม่จำกัดแค่เพียงในประเทศตนเอง ซึ่งการให้ความรู้ การส่งเสริมพัฒนาและสนับสนุนจากทั้งทางภาครัฐและเอกชนให้กับผู้ประกอบการ ก็จะช่วยทำให้มีเงินทุนนอกประเทศไหลเข้ามาภายในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีมากยิ่งขึ้น
ดร.ประเวทย์ ตันติสัจจธรรม เลขาธิการสมาคมไทยบล็อกเชน กล่าวถึงงาน Blockchain Thailand Genesis ว่า “งานนี้ถือเป็นงานครั้งแรกและใหญ่ที่สุด สำหรับคนไทยที่จัดโดยคนไทย โดยที่จะรวมผู้เชี่ยวชาญและคนในวงการเกี่ยวกับ Blockchain Cryptocurrency Fintech เข้าด้วยกัน โดยทางผู้ที่เข้ามาเป็นวิทยากรก็มาจากหลากหลายสายอาชีพ ซึ่งจะได้เห็นความคิดความอ่าน ที่จะได้รุ้ว่าตัว Blockchain จะทำงานได้อย่างไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ในธุรกิจต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ใน Fintech หรือ Cryptocurrency เท่านั้น โดยความรู้จากท่านวิทยากรที่มาในงานจะทำให้คนเข้าร่วมงานจะเห็นภาพมุมมองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถือว่างานนี้เป็นงานที่จัดได้ไม่แพ้ของต่างชาติที่มาจัดในไทยเลยทีเดียว จึงทำให้คนเข้ามาร่วมสัมมนาในงานนี้อย่างล้นหลาม”
บล็อกเชนและคริปโตจะเติบโตอย่างแน่นอน
นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า “เงินคือนวัตกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ จุดบกพร่องของเงินทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของ Cryptocurrency โดยมีเทคโนโลยี Blockchain มาแก้ไขปัญหาจุดบกพร่องดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น เงินในสกุลเงินดอลลาร์มีธนาคารกลางเป็นตัวกำหนดว่าจำนวนเงินดอลลาร์ในระบบจะมีเท่าไหร่ ซึ่งก็แล้วแต่จะกำหนด แต่เงินในคริปโตอย่างบิทคอยน์มีจำนวนที่ตายตัวและการโอนคริปโตจะมีต้นทุนต่ำกว่าสกุลเงินทั่วไปด้วย แต่ปัญหาของบิทคอยน์คือต้นทุนการผลิตสูงเพราะใช้ไฟฟ้าเยอะและขาดความสะดวกในการใช้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการตรวจสอบการทำธุรกรรม รวมไปถึงปัญหาที่บิทคอยน์โดนแฮค ซึ่งถ้าเป็นเงินที่หายไปจากธนาคาร เราสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ แต่ในโลกของคริปโตยังทำไม่ได้ จึงถือเป็นข้อเสียเปรียบ แต่เชื่อว่าวันหนึ่งจะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ไขจุดนี้ และผมเชื่อว่าในอนาคตบล็อกเชนและคริปโตจะเติบโตอย่างแน่นอน”
มองไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ที่ยั่งยืนกว่าด้วย Tokenization
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ICORA หนึ่งในหญิงเก่งและแกร่งที่ขับเคลื่อนวงการสตาร์ทอัพไทย จนมาถึงยุคฟินเทค “Tokenization หรือ กระบวนการออกเหรียญ เป็นสิ่งที่มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรง เช่น เลขบัตรเครดิต โดยการแปลงข้อมูลบัญชีส่วนบุคคลให้กลายเป็นโทเคน แล้วจึงนำโทเคนไปใช้ดำเนินการชำระเงิน สามารถทำให้เรามีส่วนร่วมด้วยกันมากขึ้นและมันจะไม่ใช่แค่การซื้อถูกขายแพง แต่เราจะมองไปไกลกว่านั้น มองไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจซึ่งสามารถสร้างความยั่งยืนได้มากกว่า และในด้านของเทคโนโลยี เช่น AI Big Data หรือ AV สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตของ Tokenization และทุกอุตสาหกรรมกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็น Fintech มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ร้านค้า ที่ดิน ก็สามารถเข้าสู่การเป็น Fintech ได้ โดยการใช้แนวคิดแบบ Tokenization”
กรุงเทพฯ…เมืองหลวงคริปโตเคอเรนซี ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายศิวนัส ยามดี ผู้ก่อตั้งคอยน์ แอสเซท กระดานเทรดเงินดิจิทัลที่กระแสแรงสุดในขณะนี้ หลังประกาศเดินหน้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และเหรียญดิจิทัลบนกระดานเทรดเป็นเจ้าแรก กล่าวว่า “ปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับที่ดีมาก เราเป็นเอ็กเซนจ์ที่มีแนวคิดที่อยากสนับสนุนวงการคริปโตของไทย อยากให้วงการคริปโตของไทยเติบโตขึ้น ประการแรกคือบนกระดานของเราลิสต์เหรียญที่มีคุณภาพของคนไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประการที่สองเราเพิ่ม QR Payment ที่แก้ไขปัญหาการลงทุนระยะสั้น ฝากเงินได้รวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป้าหมายของเราในวันนี้ไม่ใช่แค่การแข่งขันในประเทศ แต่เราจะทำให้กรุงเทพเป็นเมืองหลวงของคริปโตเคอเรนซีในภูมิภาคนี้ เราตั้งเป้าจะทำให้ร้านค้าต่างๆ รองรับจ่ายเงินด้วยคริปโตด้วยระบบที่พัฒนาขึ้นมาให้ใช้ได้จริง”
บล็อกเชนเป็นเพียงหนึ่งในฟันเฟืองของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งแบไต๋ไฮเทค ชุมชนคนรักไอทีชื่อดังของเมืองไทย ที่ครองความนิยมมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า AI หรือที่ย่อมาจาก Artificial Intelligence เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคิดได้ สอนได้ หลายคนกลัว AI เพราะมองว่า AI คือสมองของคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นเราต้องรีบพัฒนาตัวเองก่อนถูกแทนที่ด้วย AI AI ถูกนำไปพัฒนาหลายด้าน ทั้งการสร้างหุ่นยนต์เลียบแบบมนุษย์หรือแม้กระทั่งสัตว์ ยกตัวอย่างธนาคารในยุคปัจจุบันที่กลายเป็น Digital Banking ถ้าธนาคารไม่มีสาขาแล้ว ความต้องการคนทำงานก็น้อยลง ถ้า AI ถูกใช้ในแวดวงธนาคาร อาจทำให้อีกหลายตำแหน่งงานถูกยุบลงไปอีก และการมาถึงของบล็อกเชนก็ยิ่งอาจทำให้ผู้บริโภคพึ่งพาธนาคารน้อยลง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นอยากให้มองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคมที่จะเปลี่ยนไป Blockchain AI หรือ IoT เป็นเพียงฟันเฟืองของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดังนั้นการตามทันเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศในยุคนี้
กำกับดูแลให้ประชาชน สามารถใช้สินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ
นางสาวอัญชิสา ฐาปนากรวุฒิ เจ้าหน้าที่อาวุโสแผนกฟินเทค สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าตนมองตลาดของสินทรัพย์ดิจิตอล ว่าเป็นตลาดของ ‘แฟนพันธู์แท้’ เนื่องจากคนที่อยู่ในวงการล้วนต้องอาศัยการศึกษาอย่างเข้าใจ รู้ลึก รู้จริง ทั้งในเชิงเทคโนโลยี และการซื้อขาย อีกทั้งยังรู้ถึงความเสี่ยงและวิธีการรับมือ ปัญหาที่ทาง กลต. เป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้เป็นเรื่อง ICO เพราะทั่วโลกมี ICO ที่หลอกลวงนักลงทุนเป็นจำนวนมาก อันนำมาสู่ความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการกำกับดูแล เพื่อป้องกันการหลอกลวงประชาชน ตลอดจนการฟอกเงินและความเสี่ยงอื่นๆ โดยมุ่งสร้างความชัดเจน ความสุจริต ให้ประชาชนสามารถใช้สินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ
ในต่างประเทศเริ่มมีการวางกลยุทธ์และนโยบาย การใช้ปัญญาประดิษฐ์และบล็อกเชน
ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ทั่วทั้งโลกกำลังตื่นตัวที่จะพัฒนา Blockchain เพื่อนำไปใช้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น ในต่างประเทศเริ่มมี AI National Strategy หรือการวางกลยุทธ์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในระดับชาติ รวมถึงมีการวางนโยบายที่จะทำให้ Blockchain เข้ามามีผลในการการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ได้แก่ จีน สวิตเซอแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การใช้ Blockchain อย่างแพร่หลายในไทยต้องใช้เวลา บางอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การเงิน การประกันภัย หรือการขนส่ง โจทย์สำคัญคือทำอย่างไร อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สำคัญของประเทศจะสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ เช่น การเกษตร การผลิตอาหาร การแพทย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องกฎหมาย ที่อาจต้องมีการปลดล็อกบางส่วนเพื่อทดสอบว่าระบบใหม่ๆ เหมาะกับเมืองไทยหรือไม่ ปลอดภัยแค่ไหน แทนการปิดกั้น ก่อนที่จะเข้าไปกำกับดูแลต่อหากมีการรับเข้ามาใช้