คนไทยพร้อมแค่ไหน สังคมไร้เงินสด?

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคนไทยคงคุ้นเคยกับคำว่า “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless society ที่รัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวดีในการผลักดัน ก่อนที่ภาคธนาคารจะออกมาขานรับ จนเป็นที่มาของการโปรโมททั้ง Mobile Banking และการจ่ายเงินผ่าน QR Code กันอย่างครึกโครม

จนถึงวันนี้คนไทยพร้อมแค่ไหนกับ “สังคมไร้เงินสด” ? ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และนีลเส็น จึงได้จัดทำผลวิจัย The Future of Payments  อนาคตแห่งการใช้จ่าย” เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในไทย ในเดือนกันยายน 2018 

มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน อายุระหว่าง 18 – 65 ปี ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยกลุ่มตัวอย่างประกอบไปด้วย Generation Z (อายุระหว่าง 18 – 21 ปี)มิลเลนเนียล (อายุระหว่าง 22 – 37 ปี), Generation X (อายุระหว่าง38 – 50 ปีและกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (อายุระหว่าง 51 – 65 ปี)  อย่างละ 100 คนโดยแบ่งจำนวนเพศชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน

ผลวิจัยพบพฤติกรรมการชำระเงินผ่านมือถือในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยกลุ่มตัวอย่างใช้บริการชำระเงินผ่าน 3.1 แพลตฟอร์ม ที่น่าสังเกตคือ Gen Z ใช้น้อยกว่าราว 2.5 แพลตฟอร์มเท่านั้น

โดยเกือบ 1 ใน 4 (ร้อยละ 22) ใช้จ่ายผ่าน 3 วิธีการชำระเงินผ่านมือถือหลักๆ ได้แก่ คิวอาร์โค้ด การโอนเงินแบบ Peer-to-Peer (P2P) และการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless)

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นทัศนคติของผู้บริโภคโดยรวมที่เป็นบวกเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสด  โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้คนรู้จักหันมาใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ผู้บริโภคร้อยละ 71 กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะแนะนำการชำระเงินผ่านมือถือให้กับครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ในขณะที่ร้อยละ 91 บอกว่า ยินดีที่จะสอนครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับการชำระเงินผ่านมือถือ หากพวกเขาพบกับอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ (อายุระหว่าง 18-21 ปี) กลับมีความรู้สึกกระตือรือร้นน้อยกว่าผู้บริโภครุ่นอื่นๆ โดยมีเพียงร้อยละ 53 ของคนกลุ่มนี้ที่ระบุว่ารู้สึกตื่นเต้นที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 70 นอกจากนี้ ผู้บริโภครุ่นใหม่ยังรู้สึกมั่นใจน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ (ร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 61) หากต้องใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ

สาเหตุที่กลุ่ม Generation Z ให้ความสนใจเรื่องสังคมไร้เงินสดและการชำระเงินผ่านมือถือน้อยกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ นั้น เป็นเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มีฐานรายได้และความสามารถในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ รวมถึงมีกำลังซื้อที่ไม่สูงมาก ทำให้การรับรู้เกี่ยวกับบริการด้านการชำระเงินผ่านมือถือในปัจจุบันจึงไม่สูงนักตามไปด้วย

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวิธีการชำระเงินแบบต่างๆผลสำรวจเผยว่าเงินสดยังคงเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้บริโภคไทยรองลงมาคือคิวอาร์โค้ดซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 75 ระบุว่าชำระเงินด้วยวิธีนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ตามมาด้วยการโอนเงินแบบ P2P ซึ่งร้อยละ 67 กล่าวว่าเคยชำระเงินด้วยวิธีนี้ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ที่เหลือตามด้วย 48% ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต, 50% ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และ 35% ชำระเงินผ่านเทคโนโลยีไร้สัมผัส

ผลสำรวจยังบอกอีกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือก็คือราคาถูกหรือมีสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าเช่นส่วนลดต่างๆและการสะสมแต้มเป็นต้น , สะดวกและรวดเร็ว

แต่ถึงจะข้อดีก็ยังพบอุปสรรคอยู่เช่นกันทั้งที่ร้านค้าที่รองรับมีจำนวนจำกัด , ต้องเติมเงินเป็นประจำ และการใช้เงินสดสะดวกกว่าเมื่อใช้จ่ายจำนวนน้อย ส่วนปัญหาความกังวลด้านความปลอดภัย ผลสำรวจกลับพอว่า กลุ่มอายุ 18-21 ปี มีความกังวลน้อยกว่ากลุ่มอายุ 51-65 ปี ซึ่งเป็นไปตามความเข้าใจทางเทคโนโลยี

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า ต้องใช้ระยะเวลา 12 ปีโดยเฉลี่ยก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยให้ทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 43) ที่รู้สึกมั่นใจว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคตอันใกล้

วินเซนต์ หลิง องผู้จัดการทั่วไปยูเนี่ยนเพย์อินเตอร์เนชั่นแนลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า 

แม้เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน แต่ในขณะที่เรากำลังก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น การชำระเงินผ่านมือถือจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่เงินสด ซึ่งก็เป็นโอกาสของ ยูเนี่ยนเพย์ด้วย”

เพราะเมื่อมีการถามกลุ่มตัวอย่างหากสามารถรวมบริการชำระเงินของธนาคารต่างๆมาไว้ในแพลตฟอร์มเดียวผู้บริโภคต้องการไหมซึ่ง 82% บอกว่าต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่สูงอายุขึ้นไป

ซึ่งบริการลักษณะนี้ยูเนี่ยนเพย์มีให้บริการอยู่แล้วชื่อแอพ UnionPay Unified App (แอพพลิเคชั่นที่รวมบริการชำระเงินของธนาคารชั้นนำต่างๆ ไว้ในแพลตฟอร์มเดียว) เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมปี 2017 ตอนนี้มีเฉพาะในจีนและฮ่องกง มีผู้ใช้บริการแล้วจำนวนกว่า 100 ล้าน ส่วนจะเข้าไทยหรือไม่ คงต้องประเมินสถานการณ์อีกที.