พลาดไม่ได้จริงๆ กับปรากฏการณ์อาร์ตครั้งยิ่งใหญ่ ที่งานนี้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แลนด์มาร์คสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 พร้อมจัดแสดง ‘14 Pumpkins’ ผลงานอาร์ตระดับ World’s Iconic Masterpiece ของศิลปินระดับโลก “ยาโยอิ คุซามะ” เป็นครั้งแรกและเพียงที่เดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานของ “อังกี้ ปูร์บันโดโน่” (Angki) กับชุดผลงานศิลปะที่ได้สร้างสรรค์ในระหว่างที่ถูกคุมขังในเรือนจำ “ตั้ม วิศุทธิ์ พรหมนิมิตร” เจ้าของผลงาน “น้องมะม่วง” อันโด่งดัง “แพรว กวิตา วัฒนะชยังกูร” ศิลปินวีดีโออาร์ตรุ่นใหม่สุดแนว และ AES+F Russia ศิลปินชาวรัสเซีย
ก่อนไปชมงานศิลป์เจ๋งๆ ของพวกเขาเหล่านั้น มาทำความรู้จักกับผลงานแต่ละชิ้นของศิลปินกันก่อน ว่ามีที่มาที่ไป และได้แรงบันดาลใจอย่างไรในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจในผลงานแต่ละชิ้นและเสพย์งานอาร์ตได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น เริ่มจาก
ยาโยอิ คุซามะ เจ้าของผลงาน ‘14 Pumpkins 2017’ ซึ่งจัดแสดงอยู่บริเวณโซน Beacon III
ยาโยอิ คุซามะ ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลและใช้ลายจุดมากมายในผลงานต่างๆ ของเธอ รวมทั้งงานศิลปะจัดวางที่มีไม่มีจุดสิ้นสุด (Infinity installations) เธอสร้างสรรค์ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะสื่อแสดงสด งานศิลปะจัดวางของเธอมีทั้งในลักษณะป๊อบแบบสีสันสดใส และลดทอนแบบมินิมัล จัดว่าเป็นศิลปินล้ำสมัยตั้งแต่ปลายยุคคริสตทศวรรษ 60 และยังคงทำงานอย่างมีพลังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
คุซามะ เกิดที่เมืองมัตสึโมโต เริ่มวาดภาพมาตั้งแต่เด็กๆ เข้าเรียนศิลปะสั้นๆ ที่ Kyoto City Specialist School of Arts ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เมืองนิวยอร์ค ในปี พ.ศ. 2500 งานยุคแรกๆ ของคุซามะที่นิวยอร์ค ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนที่เธอเรียกว่า “ตาข่ายไร้ที่สิ้นสุด” (infinity net) จัดว่าเคลื่อนตัวไปกับกระแสการเกิดขึ้นของลัทธิศิลปะแบมินิมัล แต่งานของเธอก็ขยับเข้าสู่กระแสแบบป๊อบอาร์ตและศิลปะสื่อการแสดงในที่สุด เธอกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของศิลปินนิวยอร์คอวองการ์ด แสดงงานร่วมกับศิลปินหัวแถวอื่นๆ ไม่ว่าเป็น โดนัลด์ จัดด์ คเลเอส โอดดินเบอร์ก และแอนดี้ วอร์ฮอล
ลายจุดยังปรากฎต่อเนื่องมาที่งานประติมากรรมและงานจัดวาง เธอคงทำงานศิลปะ เขียนบทกวีและนิยาย เธอกลับเข้าสู่เวทีศิลปะนานาชาติในปี พ.ศ. 2532 ด้วยงานแสดงที่นิวยอร์คและออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ ปี พ.ศ. 2536 เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ในปี พ.ศ. 2541 – 2542 มีนิทรรศการย้อนหลังที่ Los Angeles County Museum of Art, LA, The Museum of Modern Art, New York, the Walker Art Center, Minneapolis Minnesota และ Museum of Contemporary Art, Tokyo, ต่อเนื่องมาที่ ปี พ.ศ. 2555 ที่ the Whitney Museum of American Art, New York, ที่ Hirshhorn Museum and Sculpture Garden, Washington D.C. ไล่เลี่ยกับการเปิดพิพิธภัณฑ์ของเธอเองในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ที่กรุงโตเกียว ใกล้กับสตูดิโอและโรงพยาบาลที่เธอพำนักอยู่
อังกิ ปูร์บันโดโน กับผลงานศิลปะที่ได้สร้างสรรค์ในระหว่างที่ถูกคุมขังในเรือนจำ จัดแสดงบริเวณโซน Groove Gallery Walk
อังกิ เป็นศิลปินร่วมสมัยที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งของอินโดนีเซีย จบการศึกษาจากสถาบันศิลปะแห่งชาติอินโดนีเซีย เขาทำงานในหลายรูปแบบ และมักถูกกล่าวถึงความพิเศษของด้านงานถ่ายภาพ โดยเฉพาะ เทคนิคส่วนตัวที่เขานิยมใช้และเรียกมันว่า “scanographies” หรือการสแกนวัตถุต่างๆ บน เครื่องสแกนแบบแท่นแทนการถ่ายภาพ ซึ่งให้ผลลัพท์ที่แตกต่างจากการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก ทั้งระยะห่างของวัตถุที่ลดลงจนแนบชิดกับเครื่อง ทำให้พื้นผิวและรูปลักษณะบางอย่างของวัตถุปรากฎเด่นชัด รวมทั้งทำให้เกิดแสงเงาคอนทราสท์ตัดกันระหว่างวัตถุที่ถูกสแกนกับพื้นหลังอีกด้วย แม้ว่าศิลปะการสแกนภาพจะไม่ใช้เรื่องใหม่ แต่ อังกิ มีวิธีนำเสนอที่ยอกย้อนและหยอกล้อกับสังคมอยู่เสมอ เช่น นิทรรศการ Noodles ของเขา ในปี พ.ศ. 2553 ที่เขานำบะหมี่สำเร็จรูปจำนวนหนึ่งมาสแกน
อังกิ มีช่วงชีวิตที่พลิกผัน เมื่อเขาต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ 10 เดือน ประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นกลับทำให้เขาเกิดมุมมองใหม่ในการทำงาน เขาเริ่มสร้างผลงานศิลปะจากขยะในเรือนจำ และยังก่อตั้งโครงการศิลปะในคุก เพื่อสอนศิลปะให้กับนักโทษอีกด้วย ซึ่งผลงานเหล่านั้นก็ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ The Swimmers ที่ Mizuma Gallery ญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2556 อีกผลงานหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก ทั้งในแวดวงศิลปะและแฟชั่นระดับนานาชาติ คือผลงานเสียดสีสังคม สะท้อนปัญหาการแบ่งชนชั้น เช่น สมุดรวมภาพที่ใช้ชื่อว่า Beyond Versace หรือ เหนือกว่า เวอร์ซาเช่ ด้วยการตระเวนถ่ายภาพคนเร่ร่อน ในเมือง ยอกยาการ์ตา ที่มีวิถีชีวิตและการแต่งกาย ที่สำหรับตัวศิลปินเองมองว่า คนเหล่านี้เหมือนนายแบบและนางแบบในชีวิตจริง
เออีเอส+เอฟ กลุ่มสิลปินชาวรัสเซีย กับผลงาน “INVESO MUNDUS” แสดงบนจอ the panOramix @centralwOrld จอ Digital Interactive ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
กลุ่มศิลปิน AES+F เริ่มต้นทำงานจากกลุ่ม AES ที่มีสมาชิก 3 คน และเริ่มแสดงงานในระดับนานาชาติครั้งแรกในปี 2530 ที่ Howard Yeszerski Gallery เมืองบอสตัน หลังจากได้สมาชิกเพิ่มจนใช้ชื่อ AES+F พวกเขากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากได้แสดงผลงานในศาลารัสเซีย ในเทศกาลศิลปะ นานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ 3 ครั้งติดต่อกัน โดยเป็นซีรีส์งานวีดีโอและศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ แบบ ไตรภาค 3 ตอนจบ ที่สามารถบ่งบอกความเป็นตัวตนของพวกเขาได้เป็นอย่างดี เริ่มที่ปี 2550 ผลงานชื่อ “Last Riot” ในปี 2552, The Feast of Trimalchio และสุดท้าย Allegoria Sacra ในปี 2554 และกลับมาฉายพร้อมกันในชื่อ The Liminal Space Trilogy ที่ Central Exhibition Hall, Moscow Manege บ้านเกิดในปี 2555 ผลงานไตรภาคชุดนี้ยังได้ตระเวณไปแสดงยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกมากมาย โครงการล่าสุดของ AES+F ชื่อ Inverso Mundus จัดแสดงในเทศกาลเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 56 ที่ Magazzini del Sale ด้วยผลงานที่โดดเด่นและชัดเจนในเนื้อหา ทำให้ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา AES+F ได้รับความสนใจจากวงการศิลปะร่วมสมัยทั่วโลก และได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงผลงานในกว่า 100 นิทรรศการ ทั้งในพิพิธภัณฑ์ อาร์ทสเปซ คอมเมอร์เชี่ยลแกลเลอรี่ อาทิ Neuer Berliner Kunstverein เบอร์ลิน ปี 2538, the Moderna Museet สต็อกโฮลม์ ปี 2542, Kiasma เฮลซิงกิ 2549, MACRO Future บรัสเซล เบลเยี่ยม ปี 2551, ZKM คารล์สรูห์ ปี 2554, Musee des Beaux-Ars ฝรั่งเศส ปี 2557 เป็นต้น
ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร โดยผลงานน้องมะม่วง ถูกนำมาแสดงบนจอ the panOramix @ centralwOrld จอ Digital Interactive ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นักวาดการ์ตูน, วาดภาพประกอบ และนักดนตรี จบการศึกษาจาก คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การ์ตูนเล่มแรกของเขา ชื่อ HESHEIT (ฮีชีอิท) ด้วยลายเส้นอันยุ่งเหยิง เหมือนเด็กวาดรูปเล่น แต่เนื้อหากลับหนักหน่วง บวกมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ตามแบบฉบับของเขา โดยที่ในบางตอนไม่มีแม้แต่ตัวหนังสือ ทำให้ผลงานเล่มนี้โดดเด่นและได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้อ่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2548 วิศุทธิ์ได้เดินทางไปศีกษาภาษาและหาแรงบันดาลใจที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยลายเส้นและเนื้อหาอันเป็นเอกลักษณ์ ผลงานการ์ตูนของเขาจึงเป็นที่สนใจ ของสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นและได้เซนต์สัญญากับ Shinchosha and Shogakukan ทำให้เขาเป็นนักวาดการ์ตูนไทยคนแรกที่มีผลงานตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ everybodyeverything และหนึ่งในตัวการ์ตูนของเรื่อง คือ “มะม่วง” ซึ่งถือกำเนิดจากเรื่องนี้ด้วย เขาได้สร้างปรากฎการณ์แปลกใหม่ในประเทศญี่ปุ่น จนได้รับเลือกจากนิตยสาร Elle ของญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งใน 250 บุคคล ที่น่าจับตามองของโลก
แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ร่วมชมผลงานอาร์ต บนจอ the panOramix @ centralwOrld จอ Digital Interactive ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่สร้างงานวิดีโออาร์ต ที่สำรวจลึกลงไปถึงมุมมองเชิงจิตวิทยา และการให้คุณค่าต่อวิถิชีวิตประจำวันของผู้หญิงในสังคมได้อย่างมีพลังและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กวิตา จบการศึกษาปริญญาตรี ด้านวิจิตรศิลป์ จาก RMIT University เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2554 และเริ่มแสดงผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้ร่างกายของเธอเป็นเครื่องมือหลักในการนำเสนอแนวคิดต่างๆ ที่เธอตั้งใจ อยากสะท้อนสู่สังคม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิสตรี ในผลงานวิดีโอ กวิตา ใช้ร่างกายตัวเองเข้าไปแทนที่เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ในท่าทางที่ท้าทายแรงโน้มถ่วง เช่นห้อยตัวกลางอากาศขณะทำการปอกผลไม้ หรือใสน้ำแข็งด้วยปากไปมาซ้ำๆ ด้วยการสื่อสารแบบเล่นจริง สร้างความรู้สึกให้ผู้ชมคล้อยตามไปกับสิ่งที่ศิลปินเผชิญอยู่ ทั้งเจ็บ เปียก เลอะเทอะ บนแบ็คกราวนด์ของสีพื้นหลังการแสดงที่ดูจัดจ้าน ทำให้ผู้ชมลุ้นไปกับขอบเขตความอดทนของศิลปิน ทั้งอึดอัด แต่ก็อยากชมในเวลาเดียวกัน กวิตา จงใจใช้สีสดผนวกเข้าไปในงานของเธอเพื่อเทียบเคียงกับสื่อและภาพที่ปรากกฎในโลกยุคดิจิตอลและบริโภคนิยมในปัจจุบัน
ร่วมชมผลงานของศิลปินระดับโลกได้ในงาน “the wOrld’s iconic masterpiece art centralwOrld” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่วันนี้ – 3 กุมภาพันธ์ 2562