คนรุ่นใหม่เสนอไอเดีย “จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

TDRI เปิดเวที Redesigning Thailand#5 ตั้งโจทย์ท้าทาย “จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย” ชวนคนรุ่นใหม่เสนอไอเดียที่สร้างพลังสดใหม่ให้ประเทศไทยพร้อมรับสังคมสูงวัย โดยไอเดีย Gen X: AGING WITH VITALITY ของนิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยมุมคิดที่แตกต่างเสนอวิธี ต้องสร้างทัศนคติคน Gen X ในวันนี้ที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในวันหน้า ให้เป็นผู้สูงอายุที่มีพลังในตนเองพร้อม มีความสามารถ มีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ โดยสื่อและรัฐต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผู้สูงอายุในรูปแบบที่ชาวGen X สนใจให้มากขึ้น

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จัดกิจกรรม Redesigning Thailand เวทีเปิดกว้างประลองความคิดด้านนโยบายสาธารณะสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดประกายไอเดียให้กับนักศึกษาที่ต้องการออกแบบนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยกิจกรรมมุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับนักวิจัย TDRI เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่เส้นทางนักวิจัยเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต

ในปีนี้ Redesigning Thailand #5 ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมสร้างพลังสดใหม่ ให้ประเทศพร้อมรับมือสังคมสูงวัย ด้วยการตั้งโจทย์ท้าทายความคิดคนรุ่นใหม่ “จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย” ซึ่งมีนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากทั่วประเทศส่งบทความเสนอไอเดียร่วมตอบโจทย์กว่า 30 บทความ และมี 6 ไอเดีย 6 ทีม จาก 3 สถาบันผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ โดยทั้งหมดได้เข้าร่วมปรับปรุงพัฒนาหัวข้อกับนักวิจัย TDRI และนำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน เมื่อวันที่ 20 พฤศิจายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานชิย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า กิจกรรม Redesigning Thailand เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย…..เพื่อพัฒนาประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ การกำหนดหัวข้อ “จับความกระปรี้กระเปร่ามาเขย่าสังคมสูงวัย” เพราะเรื่องสังคมสูงวัยไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุอย่างเดียว วันนี้เรามองเห็นเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งอีกไม่นานเขาจะต้องอยู่กับสังคมสูงวัย พบว่า นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีความแนวคิดก้าวไกลมากกับการรับมือสังคมสูงอายุ บ้างเสนอว่า รับมือด้วยการปรับทัศนคติคนไทยโดยผ่านสื่อว่าผู้สูงอายุยังมีพลังยังทำงานได้ บางทีมเสนอรับมือด้วยมาตรการการออมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการตั้งกองทุนให้สมทบเข้ามาเพื่อสุดท้ายผู้สูงอายุจะได้มีเงินใช้กันในวัยเกษียณ บางกลุ่มเสนอเรื่องการฝึกทักษะให้ผู้สูงอายุยังทำงานต่อไปได้ถ้ายังอยากทำงานอยู่ ทำให้ผู้สูงอายุมีความหมายในสังคม และที่สำคัญหลายทีมเสนอใช้กลยุทธ์โดยเอาชุมชนมาช่วยกันทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวากระปรี้กระเปร่าขึ้น เพราะปัญหาใด ๆ ที่ยังมากและซับซ้อนไม่สามารถแก้ได้จากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ต้องอาศัยหลายฝ่ายช่วยกัน ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าน้องๆ ตีโจทย์ได้ถูกต้อง

วันนี้ทุกทีมได้เรียนรู้ว่าการทำวิจัยเชิงนโยบายไม่เหมือนวิจัยทางวิชาการที่เรียนในมหาวิทยาลัยที่เราเรียนวิชาการแต่ไม่ได้เอาวิชาการไปแก้โจทย์จริงในโลกจริง แต่วิจัยเชิงนโยบายจะต้องใช้โจทย์จริงในโลกจริง ใช้ข้อมูลจริงมาแก้ปัญหาจริง เพื่อให้เกิดการปฎิบัติจริงได้ จึงต้องมีวิธีคิดตั้งต้นที่ถูกก่อน จากนั้นจึงต้องมีการเก็บข้อมูล นำข้อมูลมาวิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำได้จริง และสุดท้ายต้องสื่อสารกับสังคมและผู้กำหนดนโยบายได้ดีด้วย ซึ่งกิจกรรมวันนี้ทุกทีมมีการเตรียมตัวมาอย่างดี มีทักษะในการสื่อสาร และการเตรียมตอบคำถามที่ดีด้วย การที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น หวังว่าเยาวชนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต่อไปได้

สำหรับผลการตัดสิน ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ “จับความกระปรี้กระเปร่ามาเขย่าสังคมไทย” มาจากแนวคิด Gen X: AGING WITH VITALITY ของทีมนิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ นางสาวธมกร จันทร์สว่าง นางสาวนิธินันท์ แจงวาณิชย์ และ นางสาวสริตา พิทักษ์ธีระธรรม โดยตีความคำว่า “พลังสดใหม่”ต้องเป็นพลังที่ต้องมาจากภายในตัวผู้สูงอายุที่รู้สึกกระปรี้กระเปร่าอยากออกไปทำกิจกรรมหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงออกแบบนโยบายโดยมุ่งเป้าหมายไปที่คนการเตรียมความพร้อมคน Gen X ซึ่งจะกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้าให้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยมีพลังจากภายในตนเอง จึงต้องปรับทัศนคติ สำคัญ 3 อย่างคือ ความหมายของคำว่าชราภาพ ว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่งนั้นไม่เสมอไป มุมมองต่อโลกปัจจุบันคนสูงวัยก็สามารถเรียนรู้โลกปัจจุบันได้ไม่ต่างจากคนวัยอื่น และมุมมองต่อค่านิยมที่คาดหวังให้ลูกหลานมาดูแลเมื่อมีอายุมากขึ้น อยากให้ผู้สูงวัยมองว่าแม้จะอายุมากขึ้นแต่ก็ยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ด้วยเชื่อว่าสื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ จึงทำสำรวจความคิดเห็นของคน Gen X เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุในสื่อ พบว่า ชาว Gen X จำนวนหนึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่ปรากฎในสื่อ ว่ามีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ออกไปเที่ยว ไปพบปะสังคม เป็นคนร่าเริง อัธยาศัยดี แต่ยังมีชาว Gen X จำนวนไม่น้อยที่มีภาพลักษณ์ที่ลบต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่ปรากฎในสื่อ เช่น ไม่ทันสังคม เป็นผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ จึงอยากสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่เป็นบวกและแตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยสร้างเนื้อหาและนำเสนอผ่านรูปแบบรายการที่ ชาว Gen X สนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ได้แก่ รายการเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ รายการท่องเที่ยว รายการข่าวสาร และรายการบันเทิง อาทิ การให้ผู้สูงอายุหรือผู้มีอิทธิพลต่อชาว Gen X เป็นผู้ดำเนินรายการในรายการไลฟ์สไตล์หรือการท่องเที่ยว เพิ่มทัศนคติว่าความชราไม่จำเป็นต้องอยู่ที่บ้าน ส่วนสื่อบันเทิงและสื่อโฆษณา อยากเห็นการถ่ายทอดภาพลักษณ์ในเชิงบวกมากขึ้น เช่นเดียวกับในด้านข่าวสารอยากเห็นการนำเสนอข่าวสารที่ผู้สูงอายุมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยชรามากขึ้น ส่วนสำคัญที่จะทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้ต้องผนวกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยประชาชนคือเป้าหมายที่เราจะต้องไปเปลี่ยนทัศนคติ ส่วนภาคเอกชนคือผู้ผลิตสื่อเองที่จะทำเนื้อหาที่สามารถปรับทัศนคติได้ โดยภาครัฐควรมีนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนผู้ผลิตสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจูงใจ ถ้านโยบายนี้ถูกปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะได้ผลตอบรับที่ดีเพราะได้เข้าไปปรับถึงฐานความคิดทัศนคติของคน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากแนวคิด กองทุนพัฒนาวัฏจักรชีวิตผู้สูงอายุใหม่ เพื่อประเทศไทยยั่งยืนของกลุ่มเพื่อนต่างคณะจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ นายทัชภูมิ ทุมสวัสดิ์ จากคณะศิลปศาสตร์ นายรัฐพงศ์ หมะอุ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายกรวิชญ์ อินทวงษ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 แนวคิด Elderly Community Policy ของทีมนักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ นางสาวจุฬาภัค คำบุศย์ นายเจตวัฒน์ ภัทรรังรอง และนางสาวณัฐมล อินทะเขื่อนนอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 ทีม ได้แก่ ทีมนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแนวคิด “Smart Age Modelนโยบายสูงวัยไปด้วยกัน และอีก 2 ทีมจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากแนวคิด “เกษียณอย่างมั่นใจขับเคลื่อนแรงงานสูงวัยอย่างยั่งยืน” และ “เศรษฐกิจดี ต้องมีแรงงาน”

ทั้งนี้ทีมชนะเลิศ รับเงินรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับสอง 12,000 บาท ประกาศนียบัตร TDRI Junior Policy Researcher สิทธิฝึกงานกับทีดีอาร์ไอ และได้รับพิจารณาเข้าทำงานระบบ Fast Track ที่ทีดีอาร์ไอหลังสำเร็จการศึกษา