นักธุรกิจไทย – เดนมาร์ก ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ สำรวจโอกาสทางธุรกิจ พร้อมก้าวสู่ศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์

สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย เปิดเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระดับสูง โดยมีนักธุรกิจชั้นนำ และบุคลากรภาครัฐของไทยและเดนมาร์กเข้าร่วม เนื่องในวาระครบรอบ 160 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่ศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์ เสริมความแข็งแกร่งด้านการค้าการลงทุน

การแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระดับสูงครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทขนาดเล็กที่มีศักยภาพของทั้งสองประเทศ โดยภายในงานคับคั่งไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนของไทย และเดนมาร์ก รวมถึงบุคลากรจากหน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ บริษัท แพนโดร่า บริษัท เอคโค่ บริษัท เมอส์ก (Mærsk) บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เซ็นทรัล กรุ๊ป ชิลินโด โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และประสบการณ์ในกิจกรรมอภิปรายไทย – เดนมาร์ก 3 หัวข้อ ได้แก่:

  • หัวข้อ “ความยั่งยืนกับการดำเนินธุรกิจ สามารถดำเนินไปด้วยกัน ได้หรือไม่?”
  • หัวข้อ “แรงบันดาลใจร่วมด้านความร่วมมือการค้าไทย – เดนมาร์ก”
  • หัวข้อ “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก – ประเทศไทย 4.0”

นายอุฟเฟอ โวล์ฟเฮซเชิล เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในโอกาสครบรอบ 160 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเดนมาร์กกับไทย ในฐานะเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองช่วงเวลาอันน่าจดจำนี้ ทั้ง 2 ประเทศไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นทางด้านการทูตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนอีกด้วย ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการชาวเดนมาร์กมากกว่า 100 รายเข้ามาดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย และได้สร้างตำแหน่งงานนับหมื่นรายในประเทศไทย ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการชาวไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในเดนมาร์กด้วยเป็นจำนวนมาก และในอนาคตจากนี้ เราจะเดินหน้ารักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีนี้ให้แน่นแฟ้นนี้ยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกันในอนาคตในด้านนวัตกรรม การจัดการด้านดิจิทัล และการศึกษา ที่เรามองว่ามีศักยภาพค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่อยู่เบื้องหลังการจัดงานในวันนี้”

งานในวันนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มากล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงต้นของงาน และนายสุทธิชัย หยุ่น ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นและอดีตประธาน เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ และยังได้รับการสนับสนุนตลอดทั้งค่ำคืน จากทางบริษัท เอคโค่ บริษัท ไอเอสเอส บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส บริษัท แพนดอร่า บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ และเซ็นทรัล กรุ๊ป

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและเดนมาร์กนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 160 ปี อันมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 แห่งเดนมาร์กได้ทรงร่วมลงพระนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ทั้งสองประเทศจึงได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันนับจากนั้นเป็นต้นมา ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นมาเป็นเวลาช้านาน โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่องในหลายโอกาส โดยครั้งแรกเริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเดนมาร์กในปีพ.ศ.2440 และครั้งล่าสุดคือในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เมื่อเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมถวายความอาลัยในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ปัจจุบัน มีบริษัทสัญชาติเดนมาร์กประมาณ 100 บริษัทเข้ามาตั้งธุรกิจอยู่ในประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงานชาวไทยและชาวเดนมาร์กรวมกันกว่า 54,000 คน นอกจากนี้ในแต่ละปียังมีนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 135,000 คน เพื่อดื่มด่ำกับทัศนียภาพอันสวยงามและสัมผัสกับความเป็นมิตรของคนไทย โดยภาคอุตสาหกรรมหลักของบริษัทสัญชาติเดนมาร์กในประเทศไทย ได้แก่ ธุรกิจด้านการบริการและการให้คำปรึกษา ธุรกิจด้านเครื่องจักร การผลิต และวิศวกรรม ธุรกิจด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ และการขนส่งทางเรือ ธุรกิจด้านสุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ ธุรกิจด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงธุรกิจด้านการออกแบบและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยในปี 2560 มียอดการส่งออกจากเดนมาร์กสู่ประเทศไทยกว่า 10.7 พันล้านบาท และมีตัวเลขการนำเข้าสินค้าและบริการจากประเทศไทยกว่า 13.7 พันล้านบาท