BB Culture คลิก แชต กดกันสนั่น

สมาร์ทโฟน BlackBerry หรือ BB ที่เคยดูเคร่งขรึม เหมาะกับผู้บริหารขององค์กรข้ามชาติ จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนเล็กๆ กลับกลายมาเป็น ”สมาร์ทโฟน” ที่เทรนดี้ เซเลบริตี้ถือในมือ และหลายบริษัทคนไทยซื้อให้พนักงานเพื่อใช้ทำงาน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายในไม่กี่เดือน สามารถข้ามช่องว่างจากลูกค้ากลุ่มแรกๆ มายังคนทั่วไปได้ ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนคือ ความลงตัวของนวัตกรรมใหม่ที่เป็นโปรดักต์สามารถตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน ในช่วงจังหวะที่ส่วนลึกในจิตใจของผู้คนนั้นต้องการ ”สังคม” และติดอยู่ในโลก Social Network อย่างรุนแรง

BB เคยเป็น ”สมาร์ทโฟน” ที่บริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะธุรกิจการเงิน ธุรกิจประกันภัยซื้อให้ระดับผู้บริหารใช้งาน เพราะจุดแข็งที่ RIM (Research in Motion) พัฒนาขึ้น คือ อีเมลที่ต้องเชื่อมต่อกับระบบของ RIM แคนาดา เป็นเครือข่ายปิดเฉพาะผู้บริหารองค์กรเดียวกันเท่านั้นที่จะสามารถเข้าสู่ระบบได้ จึงมีความปลอดภัยสูงเมื่อเทียบกับการเข้าอีเมลจากบราวเซอร์ ซึ่งทั้งเอไอเอส และ RIM ร่วมกันทำตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กรเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2005

เมื่อตลาดลูกค้าองค์กรนิ่งอยู่กับที่ด้วยจำนวนลูกค้าประมาณ 20,000 เครื่องมาได้ระยะหนึ่ง ขณะเดียวกับที่กระแส Social Network มาแรง RIM และเอไอเอส จึงเริ่มทำตลาดในกลุ่ม Mass มากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2008 จนทำให้ BB กลายเป็นสินค้าที่ถูกถามหามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟีเจอร์ BBM ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนชอบแชต

จากความสำเร็จของกลยุทธ์การตลาด Celebrity Marketing ของเอไอเอส ที่ทำให้กระแส BB แรงขึ้น ทำให้เวลานี้ไม่เพียงองค์กรการเงิน และบริษัทข้ามชาติที่ใช้ BB เท่านั้น แต่บริษัทคนไทยหลายแห่ง ก็ลงทุนซื้อ BB แจกพนักงานในระดับบริหาร ตัวอย่างเช่น ”แลนด์ แอนด์ เฮาส์” ที่ ”อนันต์ อัศวโภคิน” ซีอีโอ มองว่าการลงทุนซื้อ BB 100 เครื่องให้พนักงาน คือต้นทุนนิดเดียว เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งทุกวันนี้ ”อนันต์” ไม่เพียงใช้อีเมล แต่เขายังเข้าไปสมัครใช้ Facebook อีกด้วย

แม้ว่า “อนันต์” จะเป็นนักธุรกิจระดับสูง ดูแลธุรกิจระดับยอดขายหมื่นล้าน เป็นเศรษฐีแถวหน้าของเมืองไทย แต่เขาก็ต้องไม่พลาดเข้า Socail Network เพื่อดูเทรนด์ว่าโลกออนไลน์ไปถึงไหน เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับไอเดียการตลาดได้บ้าง หลังจากที่เขาต้องทึ่งกับการตลาดของครูสอนโยคะ ที่สามารถโปรโมตคอร์สผ่าน Facebook จนลูกสาวของ ”อนันต์” สมัครเข้าชั้นฝึกด้วยค่าเรียนหลักแสน

ไลฟ์สไตล์การทำงานของ ”อนันต์” ในมุมหนึ่งได้เปลี่ยนไปแล้ว

สำหรับคนทั่วไปแล้ว ยิ่งตอบสนองพฤติกรรมได้อย่างดี เพราะหลายคนอยากอัพเดต อยากรู้ อยากบอกเพื่อนว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ไหน …อยากแอบเมาท์คนที่อยู่ใกล้ ๆ … อยากเช็กอีเมลที่เพิ่งได้มา …อยากได้คำตอบจากเพื่อนร่วมงานแบบเรียลไทม์…ทุกอย่างอยากทำทันทีไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน และเวลาใด นี่คือความอยากได้ของผู้บริโภคยุคนี้ ที่ลุกลามมาจากอาการที่ผู้คนใช้ชีวิตติดออนไลน์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ เมื่อ BB มีจุดแข็งทั้งสำหรับอีเมล การแชต การเข้า Social Network ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter จึงเรียกได้ว่ามาถูกที่ ถูกเวลา กับจังหวะของไลฟ์สไตล์คนไทยที่เปลี่ยนไป

BB Lover ยิ่งขยายตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อล่าสุด BB ลงมาทำตลาด Mass มากขึ้นด้วยองค์ประกอบตัว P Price ในระดับหมื่นต้นๆ จากเดิมที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 20,000 บาท นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของ RIM ที่ต้องทำให้โปรดักต์ของ BB ต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทำให้ได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่น

นวัฒนธรรม BB

“ณัฐนิกา ตันวงศ์ประเสริฐ” ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และงานวิจัย บริษัทโลว์ ประเทศไทย ก็เห็นภาพของผู้คนรอบๆ ตัวเธอ เป็น BB Lover มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ความแพร่หลายในกลุ่มคนจำนวนมากนี้ เธอมองว่าเป็น “ปรากฏการณ์ BB” ที่เวลานี้เป็นช่วงตื่นเต้นที่สุดของวัฒนธรรมออนไลน์ของบ้านเรา จน BB สามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำของ “นวัฒนธรรม” (นวัตกรรม +วัฒนธรรม)

“ณัฐนิกา” วิเคราะห์ว่า BB ได้รับอานิสงส์จากระแสของ Social Media อย่างเช่น Twitter, Facebook, hi5 หรือ แม้กระทั่ง Youtube ซึ่งทำให้โลกออนไลน์ได้กลายเป็นเวที ให้ผู้คนได้พบปะแลกเปลี่ยนทรรศนะ ได้ใกล้ชิดดาราหรือนักการเมือง เผยตัวตนของตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเป็นเพื่อนในยามดึก ขณะเดียวกันบริษัทผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือก็ผลักดันให้กระแสนี้แรงด้วยการให้แพ็กเกจเฉพาะผู้ใช้สมาร์ทโฟน รวมทั้ง BB ยิ่งทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการสมัครใช้บริการ อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ ไอโฟน ที่ทำตลาดมาก่อน ที่เธอมองว่าเป็นผู้ปูพรมแดงให้กับ BBเข้าถึงกลุ่ม Trendsetters ของกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว

BB ก้าวสู่ความเป็นดาวโดยเริ่มต้นจากกลุ่มชาว “ไฮโซ” หรืออย่างน้อยก็เป็นกลุ่มของผู้ที่มี Lifestyle แบบไฮโซของกรุงเทพฯ กันก่อน ที่มีวัฒนธรรมการส่งข้อความอัพเดทกันไปมา ไม่ว่าจะส่งผ่าน Twitter หรือตัว BBM เอง จนเอไอเอสลุกขึ้นมาทำตลาดอย่างจริงจัง โดยใช้กลยุทธ์แบบที่เรียกว่า “Celebrity Endorsement” เริ่มด้วยการจัดให้มีกิจกรรม “ไฮ-โซ ปาร์ตี้” เปิดตัว BB โดยความร่วมมือของทั้ง เอไอเอส และ BlackBerry การจัดทำ Facebook ของ BlackBerry Thailand ให้ผู้ใช้ BB เข้ามารวมตัวพบปะกัน

ลึกๆ ของ BB Lover

การจัดให้เหล่านี้สนองตอบกับ ”แรงจูงใจภายในของมนุษย์” (Consumer Insight) อย่างลงตัว
ที่ต้องการผูกสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมไปถึงการได้รับการยอมรับจากกลุ่มของสังคม

“ณัฐนิกา” ยกตัวอย่างว่า แอพพลิเคชั่น ของ BB ที่ได้เจาะลึกและตอบสนอง แรงจูงใจทางสังคมของคน คือโปรแกรม “BlackBerry Messenger” (BBM) ซึ่งมีหน้าตาเหมือนโปแกรม Instant Messaging สำหรับการแชตโต้ตอบกันไปมาบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ BBM ได้เพิ่มความ Exclusive โดยเติมความรู้สึกของการเป็นคนสำคัญเข้าไปด้วย เรียกว่าเป็น “BlackBerry Users Only” เพราะเวลาที่คุณไปซื้อ BB มา คุณก็จะได้มี BlackBerry PIN หรือที่เรียนสั้น ๆ ว่า BB PIN เป็นของตัวเอง ซึ่งเจ้า BB PIN นี้จะพาให้คุณเข้าสู่กลุ่มสังคมของผู้ใช้ BlackBerry ซึ่งก็ทำให้คุณรู้สึกแบบ Exclusive ยิ่งกว่าที่เคย

BB Lover นับจากนี้ จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มนักธุรกิจอีกต่อไป หากแต่มีกลุ่มหนุ่มสาว Trendsetters ในสังคมไทยกำลังยกให้ BlackBerry เป็นปัจจัย (ของจำเป็น) ที่เขาและเธอจะต้องมีไว้ให้ได้อย่างรวดเร็ว ความแพร่หลายของวัฒนธรรมการใช้ BlackBerry กำลังกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง บนเครือข่ายของ Social Media ปรากฏการณ์ถือว่า “นวัตกรรม” ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเสริม “วัฒนธรรม” การสารสัมพันธ์กันของมนุษย์ บนวิถีของ “นวัฒนธรรม” แบบ “BB”

รหัส BB
“สร เกียรติคณารัตน์” รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ งานวิจัย และสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทโลว์ ประเทศไทย ถอดรหัสปรากฏการณ์ของ BB Lover ว่า BlackBerry หรือ BB เป็นนวัตกรรมสานวัฒนธรรม ในการสร้าง Social Media โดยมีสื่อกลางต่างๆ เป็นจุดเชื่อมไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, E-mail หรือ BB PIN เองก็ตาม เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับสังคม Social Media ในบ้านเรา อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการที่ “Innovative Technology” ซึ่งเคยเป็นเป็นแค่ “Niche Market” สามารถผันตัวมาเป็น “Mass Product” ได้ โดยอาศัย Social Content ที่โดนใจ เป็นการเฉลยคำตอบของการข้าม Gap จาก Early Adopter ไปสู่ Mass ได้อย่างชัดเจน ซึ่งรหัสลับแห่งความสำเร็จนี้คงอยู่ในตัว Code ของ BB PIN นั่นเอง
B – Best use of Technology
B – Best understanding of Social Context
P – People-oriented
I – Innovative Content
N – Networking

1. Best use of Technology : เป็นการบอกและนำเสนอถึงวิธีการใช้ที่แท้จริงของ Technology ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตมากว่าที่จะพูดถึง Technology ที่เข้าใจได้ยาก ซึ่งจะบดบังความสำคัญของการใช้กับชีวิตประจำวัน
2. Best understanding of Social Context : เป็นการนำเสนอประโยชน์โดนใจ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจสภาพสังคม และ Lifestyle ในปัจจุบันอย่างแท้จริง “ในความต้องการที่จะ Connect ได้กับทุกคนในทุกสถานที่และทุกเวลา แม้ว่าจะเป็นเวลาส่วนตัวก็ตาม”
3. People-oriented : เป็นการนำเสนอจากมุมของผู้บริโภค ซึ่งตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง และเป็นแง่มุมที่ไม่ใช่อยู่เพียงแค่ระดับของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นไปในระดับของคนกลุ่มใหญ่และสังคมโดยรวม
4. Innovative Content : การใช้เนื้อหาข้อมูลในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างการเชื่อต่อระหว่าง Technology กับคน เพื่อยกระดับวัฒนธรรมทางสังคมของผู้บริโภคไปสู่นวัตกรรมในการติดต่อสื่อสารในยุคโลกาภิวัฒน์
5. Networking : ต่อยอด Trend ในด้าน Social Media และ Networking เพื่อนสร้างสังคมที่ไม่หยุดอยู่แค่ในกลุ่มเล็กๆ แต่มีการเชื่อมต่อกันสู่กลุ่มใหญ่ อันก่อให้เกิด Target Group ที่ใหญ่ขึ้นมากว่าการเป็นแค่ Niche… เป็นกลยุทธ์ในการสร้าง Networking เพื่อให้เกิดการ “Forward Connection” ของการได้ประโยชน์ร่วมกัน

คนไทย พร้อมสังกัด BB Lover
คนไทยมีการใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนมาก ผู้ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นประชากรส่วนน้อย นอกจากนี้คนไทยยังใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการส่งอีเมล และการแชตออนไลน์ โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจที่บ่งบอกได้ว่านี่คือโอกาสของ BB ในอนาคต ดังนี้

1. ประเทศไทยติด Top 10 ของประเทศที่มีการใช้งานสื่อสารข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือบนระบบ GPRS
2. แม้หนุ่มสาวไทยชอบคุยโทรศัพท์ ซึ่งคิดเป็น 70% ของจำนวนการใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด แต่ก็ยังมีถึง 57% ใช้โทรศัพท์มือถือในการดูถ่ายทอดสดทีวี และ 18% ใช้โทรศัพท์มือถือถ่าย Video Clips
3. ในกรุงเทพฯ มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 40.2% ใช้ อินเทอร์เน็ต 28.9%
4. มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเติบโตถึง 116.3% นับตั้งแต่ มกราคม 2008
5. คนไทยใช้ใช้อินเทอร์เน็ตทางมือถือนานขึ้น จำนวนเว็บไซต์สำหรับมือถือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีจำนวน Page Views เพิ่มขึ้น 217.9% นับตั้งแต่มกราคม 2008 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทางมือถือเฉลี่ยคลิกดูคนละ 164 Page
6. กลุ่มคนที่ใช้อีเมลมากเฉลี่ยวันละ 20 อีเมลต่อวัน
7. วัยรุ่นและผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากในกลุ่ม Young Adult หรือ First Jobber เฉลี่ยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ต 20% ในแต่ละวัน หรือ 4 ชั่วโมง คนทั่วไปเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง โดยใช้แบบ Multi Tasking เปิดหน้าวินโดวส์ ทั้งแชต อีเมล ทำงาน
8. เครือข่ายเอไอเอสส่ง SMS เฉลี่ยวันละ 4 ล้านข้อความต่อวัน
ที่มา : ข้อ 1- 4 หนังสือประจำปี 2009 Asia Pacific Digital Marketing ของ Asia Digital Marketing Association ข้อ 4-8 เอไอเอส

SWOT Analysis : BlackBerry

Strengths
-ฟีเจอร์ของเครื่องทั้งสำหรับการใช้อีเมลแบบ Pushmail ที่เตือนเจ้าของทันทีเมื่อมีอีเมล และการรวมทุกอีเมลในลิสต์เดียวกัน เข้าถึงสะดวก, ฟีเจอร์การแชต ที่เรียลไทม์ โต้ตอบได้ทันที ลบอุปสรรคเมื่อเทียบกับ SMS และเข้า Social Network เช่น Facebook ด้วยแอพพลิเคชั่นที่เข้าได้เพียง 1 ขั้นตอน
-การร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเสนอแพ็คเกจค่าบริการให้ลูกค้าในราคาแน่นอน ใช้ได้ไม่จำกัด Unlimited Package ทำให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย
-เป็นแบรนด์ดังจากแคนาดา ที่สามารถทำยอดขายได้สูงในอเมริกา และยุโรป และเป็นสมาร์ทโฟนที่ทำตลาดในกลุ่มคนทำงาน ระดับผู้บริหารมาก่อนจึงทำให้ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น
-ระบบการจัดจำหน่ายที่ไม่ผูกขาด จึงมีช่องทางทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และรายย่อยในแหล่งจำหน่ายสินค้าไอที ทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ง่าย
-องค์ประกอบเรื่อง ”ราคา” ที่ถูกลงจากการวางตลาดรุ่นใหม่ล่าสุด ทำให้ BB ขยายกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

Weaknesses
-มีรุ่น ”ทัชกรีน” ให้เลือกน้อย โดย ณ เดือนกันยายน 2009 ยังมีเพียง 1 รุ่น คือ Storm และยังมีข้อจำกัดการใช้งานอีกมาก
-หน้าจอเล็ก และฟีเจอร์สำหรับมัลติมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นกล้อง ภาพ และเสียง ยังน้อย

Opportunities
-ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคหันมานิยม Social Network และต้องการความสะดวกในการติดต่อสื่อสารมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากกลุ่มที่ใช้งานอีเมลมากๆ ในแต่ละวันจะรับส่งอีเมลเฉลี่ยคนละ 20 อีเมล และออนไลน์เกือบตลอดทั้งวันที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์
-กลุ่ม Trend Setter ขยายวงกว้างมากขึ้น
-เทคโนโลยีสื่อสารรองรับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น GPRS Wi-Fi และ 3G ในอนาคต

Threats
-แบรนด์คู่แข่ง ทั้ง iPhone Samsung HTC LG ต่างรุกทำตลาดอย่างจริงจังเพื่อชิงตลาดทุกระดับ
-ฟีเจอร์เด่นอย่าง BBM ทำให้ติดต่อกับคนในกลุ่มได้สะดวก แต่กลายเป็นอุปสรรคสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางคน ที่หากเพื่อนในกลุ่มไม่มีใครใช้ การมี BB ก็อาจใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่

10 อาการ “BB Lover”

1. ”BB PIN (รหัส) อะไร” (BlackBerry PIN : รหัสที่มีทั้งตัวเลขและตัวอักษร)
เพื่อนๆ หรือคนที่เพิ่งเจอกันในวงสังคมยุคนี้ พอเจอหน้ากันปุ๊บ คำถามเพื่อไว้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เบอร์โทรศัพท์และอีเมลอีกต่อไป แต่คำถามแรกๆ คือ “PIN เบอร์อะไรจ๊ะเธอ” เมื่อได้ BB PIN แล้ว ก็สามารถแชตกันผ่านฟีเจอร์ BlackBerry Massenger หรือ BBM ในเครือข่ายเฉพาะกลุ่มของตัวเอง หรือจะไว้ส่งเสียงเป็น Voice Note ก็ยังได้

2. BB Thumb
BB Thumb เป็นคำบัญญัติใหม่ ที่มาจากอาการของคนใช้นิ้วโป้งของทั้งสองมือ กด กด และกดบนแป้นมือถือ เพื่อส่งตัวอักษร เพื่อแชตออนไลน์ ส่งอีเมล หรือคีย์ข้อความบนเอกสารต่างๆ บนพีดีเอโฟน แต่กระแสความแรงมาจากแบรนด์ BlackBerry ที่ดีไซน์เครื่องได้เหมาะกับการถือเครื่องด้วยมือทั้งสองข้าง และคีย์บอร์ดบนเครื่องเหมาะกับการวางนิ้วโป้งทั้งสองพอดี จึงทำให้เรียกเป็น BB Thumb

BB Thumb ยังกลายเป็น ”ซินโดรม” ที่คนฟากฝั่งตะวันตกนิยามให้กับคนที่ใช้นิ้วโป้งในการคีย์ข้อความผ่านมือถือจนเกิดอาการบาดเจ็บ ปวดนิ้ว เพราะกระแส BB ที่ทำให้เกิดการกด กด โดยใช้นิ้วโป้งลุกลามไปยังมือถือแบรนด์อื่นๆ จนมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เตือนว่าหากคุณจะส่งข้อความผ่านมือถือกรุณาใช้นิ้วอื่นๆ ด้วยเพื่อให้นิ้วโป้งของคนไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป รวมไปถึงการเลือกเครื่องที่แป้นพิมพ์ไม่เล็กเกินไป

3. BB (always) in hand
มือที่เคยว่าง เพราะมือถือมักถูกเก็บไว้ในกระเป๋า แต่ BB กลายเป็นอุปกรณ์ที่เจ้าของถือไว้เกือบตลอดเวลาทั้งที่เครื่องใหญ่ เกะกะพอสมควร แต่ยุคนี้ถ้าถือแล้ว ”เท่” ก็ยอมได้ เหมือนยุคแรกๆ ที่มือถือเกิดขึ้นในโลก ที่ไม่ว่าเครื่องใหญ่ขนาดไหน ก็พร้อมหิ้วตลอดเวลา

4. BB (always) on table
BB เป็นสมาร์ทโฟนที่เจ้าของหลายคนพร้อมภูมิใจวางไว้บนโต๊ะ ไม่ว่าจะบนโต๊ะอาหารดินเนอร์ หรือบนโต๊ะในห้องประชุม เพราะบอก Status ได้ชัดเจนว่าเป็น Trend Setter

5. BB E-mail ได้ทันใจ
ถ้าคุณส่งอีเมลถึงใคร แม้แต่ระดับผู้บริหาร แล้วพวกเขาเหล่านั้น ตอบอีเมลกลับมาอย่างรวดเร็ว อย่างแทบไม่น่าเชื่อ จงรู้ไว้เถิดว่า พวกเขาคือ BB Lover ตัวจริงเสียงจริง เพราะแม้ว่าจะอยู่ในห้องประชุม ระหว่างที่ผู้ร่วมประชุมคนอื่นกำลังพูด การคีย์ข้อความสั้น ๆ เพื่อตอบอีเมลสักนิดผ่าน BB ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

6. BB Social Networking
วงการ Twitter และ Facebook คึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะ BB Lover ที่หากเพื่อนแชตใน BBM ไม่ว่างคุยด้วย BB ในมือก็ทำให้พวกเขาเข้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างสะดวก ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะอัพรูป ข้อความ เมนต์ ทำได้แบบ Realtime Network อย่างที่ BB Lover พูดกันว่า “โค-ตร Real” โดยเฉพาะคนดังที่ใช้ Social Network เป็น ก็จะยิ่งดัง ด้วย BB ในมือได้ไม่ยาก โดยเฉพาะ Twitter ที่หากใคร tweet ผ่านBB จะโชว์ว่า UberTwitter ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่น Twitter ที่ใช้เล่นบน BB

7. BB Family
เป็นสมาร์ทโฟนที่ทุกคนในครอบครัวยุคใหม่ใช้แบรนด์เดียวกัน เพราะด้วย BBM ที่ทำให้ติดต่อกันได้สะดวกมากขึ้น สนองตอบกับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันที่ทุกคนในครอบครัวต่างกระจัดกระจาย มีภารกิจนอกบ้าน แค่ถามผ่าน BBM ว่าอยู่ที่ไหน เจอกันอย่างไร ก็ถูกกว่าการโทร หรือส่ง SMS ไปหลายบาท (แม้ว่าจริง ๆ แล้วค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่กลุ่มนี้คิดถึงก็ตาม) แต่เอาเป็นว่าคีย์ตัวหนังสือคุยกันดีกว่า

8. BB Gossip
เพราะ BBM หลายครั้งจะเห็นภาพเพื่อนกันที่ถือ BB ต่างมุ่งมั่นกับปุ่มบนเครื่อง หันหน้าสบตากันเป็นระยะๆ พร้อมกับยิ้มอย่างมีเลศนัย ซึ่งไม่ต้องบอกก็พอเดาออกได้ว่า พวกเขาคงกำลังเมาท์อะไรสักอย่าง หรือใครสักคนในบริเวณใกล้ๆ นั้นอย่างแน่นอน เหมือนอย่างยุคหนึ่งเกิดขึ้นกับคนติด MSN แชตผ่านคอมพิวเตอร์เมาท์กระจายกับสิ่งมีชีวิตรอบข้างกันมาแล้ว หรือในกรณีที่อาจเป็นประโยชน์กับงาน หากคุณกำลังขายงานสักชิ้นให้กับที่ประชุม แต่มีบางคนกำลังกดคีย์บอร์ดบน BB กัน ก็ให้รู้ได้เลยว่า นี่คือการหารือลับอีกวงหนึ่ง ก่อนจะมีคำตอบว่าเขาจะซื้องานคุณหรือไม่

9. BB Word of Mouth
อาการบอกต่อๆ แบบ Word of Mouth ว่า ”ใช้ BB สิ” กลายเป็นเสียงที่มีน้ำหนัก เมื่อเทียบกับคำแนะนำมือถือแบรนด์อื่นๆ เพราะสำหรับ BB แล้ว คนที่ใช้งานส่วนใหญ่รู้สึกชอบ และภูมิใจนำเสนอต่อ

10. BB “Wow! I’ve got it”
กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ทำให้คนที่ได้เป็นเจ้าของรู้สึกดีใจ และภูมิใจบอกกับเพื่อนๆ ว่า ”ฉันถอย BB มาแล้วนะ”