เปิดผลสำรวจสถิติและรายได้ พร้อมทั้งพฤติกรรมเชิงลึกและความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourist) จากทั่วโลกที่เข้ามาใช้บริการในเมืองไทย ที่จัดทำขึ้นในปีนี้ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) การวิจัยครั้งนี้เลือกเจาะลึกใน 4 กลุ่ม ได้แก่ “เวชศาสตร์ชะลอวัยและความงาม – รักษาผู้มีบุตรยาก – รีสอร์ตและศูนย์บำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์ และติดยา – รีสอร์ตสุขภาพชั้นนำ” ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีแนวโน้มที่จะเติบโตในไทยจากปัจจัยบวกต่างๆ
จากการวิจัยพบว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงาม ประมาณ 66,492 คน คิดเป็น มูลค่าตลาด 23,128,859,400 บาท คาดการณ์รายได้ในปี 2561 จะเพิ่มขึ้น 13.9% หรือประมาณ 26,436,038,047 บาท
สำหรับการใช้จ่าย (Spending) ของกลุ่มเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงาม อยู่ที่ 234,923 – 700,000 บาทต่อคน กลุ่มรักษาผู้มีบุตรยากใช้จ่าย 200,000 – 400,000 บาท กลุ่มรีสอร์ตและศูนย์บำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์และติดยาใช้จ่าย 230,000 – 440,000 บาท และกลุ่มรีสอร์ตสุขภาพชั้นนำใช้จ่าย 37,000 – 160,000 บาท นับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูงสุดโดยเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน (เป็นการใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ ยังไม่รวมการใช้จ่ายในกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ช้อปปิง ฯลฯ) เมื่อเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ใช้จ่ายเฉลี่ย 4-5 หมื่นบาท
สถิติและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการเชิงการแพทย์ 4 กลุ่ม
จากการสำรวจพฤติกรรมเชิงลึก ความคิดเห็น และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 500 คน ที่มาจากประเทศเมียนมา ลาว ตะวันออกกลางออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย พบว่าส่วนใหญ่หาข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยจากเพื่อนหรือญาติที่เคยมาใช้บริการมากที่สุด รองลงมาคือเอเจนซี่ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและเว็บไซต์ของสถานประกอบการ
ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจมาใช้บริการ พบว่า ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสถานประกอบการ อัตราความสำเร็จในการรักษา คำแนะนำและชื่อเสียงของสถานประกอบการ เป็นอันดับต้นๆ โดย 75.8% รับผิดชอบค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ด้วยตนเอง 19.8% จ่ายโดยรัฐบาล 4% จ่ายโดยบริษัทประกันสุขภาพ และ 0.4% จ่ายโดยนายจ้าง
สำหรับที่พัก ร้อยละ 80 เลือกโรงแรมระดับ 3 ดาวเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยโรงแรมระดับ 4 ดาว และ 5 ดาว ที่เหลือร้อยละ 20 เลือกเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเฉลี่ย 3-5 วัน การเดินทาง 65.6% มาด้วยตัวเอง และ 34.4% มากับเอเจนซี่ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ 57.6% มีผู้ร่วมเดินทาง และ 42.4% ไม่มีผู้ร่วมเดินทาง
โดยเกือบทั้งหมดคือ 93.4% มีกิจกรรมท่องเที่ยวในระหว่างที่มาใช้บริการ มากที่สุดคือช้อปปิง รองลงมาคือสปา ท่องเที่ยวทะเล และท่องเที่ยวชมเมือง ตามลำดับ ส่วนความพึงพอใจ 84.8% พอใจมากที่สุด และ 15.2% พอใจมาก ซึ่งทั้งหมดคือ 100% จะเดินทางกลับมาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยอีกอย่างแน่นอน และจะแนะนำผู้อื่นให้มาใช้บริการ
ในการสำรวจศักยภาพและความพร้อมของบริการสุขภาพของประเทศไทย พบว่า มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI จากองค์กรรับรองมาตรฐานทางการแพทย์ระดับโลก จำนวน 64 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค AEC และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก อันดับหนึ่งคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 195 แห่ง ตามด้วยจีน 108 แห่ง และซาอุดีอาระเบีย 107 แห่ง ส่วนพื้นที่ที่มีศักยภาพพร้อมให้บริการทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพสำหรับตลาดต่างประเทศ มี 12 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เขาใหญ่ พัทยา หัวหินเกาะช้าง เกาะสมุย เกาะพะงัน ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น
ผู้ให้บริการด้านสุขภาพสำหรับตลาดต่างประเทศ ทั้งหมด 20 ประเภท ดังนี้
- โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI (JCI Accredited Hospital)
- โรงพยาบาล/ศูนย์เฉพาะทาง โรคซับซ้อน (Specialized Hospitals)
- โรงพยาบาลและศูนย์ศัลยกรรมความงาม (Cosmetic Surgery Hospitals/Clinics)
- ศูนย์รวมบริการสุขภาพ (Health Complex)
- โรงพยาบาลและคลินิกศัลยกรรมแปลงเพศ (SRS: Sex Reassignment Surgery Hospitals/Clinics)
- โรงพยาบาลและคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility & IVF)
- โรงพยาบาลและคลินิก เลสิกและการรักษาตา (Lasik $ Eyes Hospitals/Clinics)
- โรงพยาบาลและคลินิกทันตกรรม (Dental Hospitals/Clinics)
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุ (Elderly Care Hospitals)
- โรงพยาบาลเด็ก (Children Care)
- คลินิกและศูนย์แพทย์ชะลอวัย (Regenerative & Anti aging Clinics)
- ศูนย์บริการผิวหนังและความงาม (Aesthetic & Dermatology Centers)
- ศูนย์/คลินิกสุขภาพเพศชาย (Men Health Clinics)
- รีสอร์ตและศูนย์สำหรับการบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์และติดยา (Rehabilitation & Drug Addiction Centers)
- ศูนย์สเต็มเซลล์ (Cell Therapy Centers)
- แล็บปฏิบัติการทางการแพทย์ (Labs)
- สปาทางการแพทย์ (Medical Spas)
- รีสอร์ตสุขภาพ (Health Resorts)
- รีสอร์ต และศูนย์สำหรับบริการดูแลผู้สูงอายุ (Senior Care Resorts)
- ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและศูนย์กายภาพบำบัด (Sport Medicine & Rehabilitation Center)
ทั้งนี้ ททท. กำลังวางแผนผลักดันตลาดโดยจะมีการจัดทำคู่มือสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แยกแต่ละประเภทเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เช่น โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI ฯลฯ รวมทั้งการจัด trade meeting ให้กับ buyer จากต่างประเทศ เพื่อนำเสนอ product ต่างๆ.