แม้จะผ่านไปแล้วเกือบ 9 เดือนกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ยังมีเสียงลุ้นอยู่ว่านับจากนี้โลกจะฟื้น หรือจะยังซบเซาต่อ สำหรับเจ้าของสินค้าบริการต่างๆ ที่อยากได้คำตอบ หรืออยากรู้สัญญาณว่ากำลังซื้ออยู่ที่ไหน ต้องมาดูผลสำรวจในระดับทั่วโลกจาก Synovate ถึงความมั่นใจของผู้บริโภคในโลกใบนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 เปรียบเทียบกับพฤศจิกายน 2008 ใน 26 ตลาด ทั้งหมด 17,300 คน ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้ข้อสรุปว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เชื่อว่าขณะนี้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และรออีกสักพักหนึ่งจะฟื้นตัว
เสียงจาก 26 ในตลาดโลกทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น รอบนี้ยังไม่มีไทยในโผรายชื่อเสียงที่บ่งบอกว่าผู้บริโภคเริ่มมองสถานการณ์เป็นบวกมากขึ้น เห็นได้ชัดจากคำตอบที่ได้เมื่อถูกถามว่ารู้สึกว่าสถานการณ์ของตัวเองดีขึ้น หรือจะแย่ลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 33% ตอบว่าแย่ลง แต่พฤษภาคมที่ผ่านมามี 22% ที่บอกว่าแย่ ส่วนคนที่บอกว่าจะดีขึ้นเพิ่มจาก 23% เพิ่มเป็น 28% หรือสรุปได้ว่ารู้สึกแย่ลดลง และรู้สึกบวกมากขึ้น
หากถามถึงเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ผู้ถูกสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 53% บอกว่าจะแย่ลง แต่เมื่อมาถามอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีเพียง 35% ที่บอกว่าจะแย่ลง และความรู้สึกว่าน่าจะดีขึ้นเพิ่มจาก 22% เป็น 33% โดยภาพรวมผู้บริโภคมั่นใจว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับสถานะเศรษฐกิจของตัวเอง
ประเทศที่ให้ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นสูงกว่าหลายๆ ประเทศ เช่น ไซปรัส อินเดีย และเดนมาร์ก โดยผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ เริ่มจ่ายเพื่อกิจกรรมบันเทิงมากขึ้น สินค้าแบรนด์ต่างๆ เริ่มเปิดตัวมากขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ ผู้บริโภคยังคงรู้สึกว่าควรอยู่ภาวะการระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้หากจะวัดให้ใกล้ตัวเข้ามาอีก สามารถดูได้จากผลสำรวจที่จัดให้เป็น Lifestyle Index ดังนี้
-ชาสักถ้วย หรือสักแก้ว บอกได้มากกว่าความหอม อร่อย จัดเป็นดัชนีถ้วยชาได้ อย่างที่อังกฤษยังคงรู้สึกดีกับเศรษฐกิจบ้าง เพราะ 77% บอกว่ายังคงดื่มชาร้อน ๆ สักแก้วเป็นประจำเหมือนเดิม
-ชาวไต้หวัน 20% บอกว่า เช็กราคาสินค้าต่างๆ น้อยลงเมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่แล้ว และราคาอาหารก็ถูกลงเมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว
-ชาวตุรกี 77% ยังคงลดค่าใช้จ่ายลงเช่นเดียวกับพฤติกรรมเมื่อเดือน 6 เดือนที่แล้ว
-คนอเมริกัน แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา ประมาณ 1 ใน 3 ยังคงสต๊อกสินค้าประเภทอาหารไว้
ถึงบรรทัดนี้แม้ตัวเลขที่ออกมายังไม่สวยหรูพาให้มั่นใจได้นักว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในเร็ววัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด หาก “ความรู้สึกดี” ของผู้บริโภคเริ่มสัมผัสได้แล้ว ก็เป็นความหวังของนักการตลาดได้บ้าง