แผนเอาชนะของ BlackBerry

ยิ่งขับเคี่ยวกับ iPhone มากเท่าไร Research in Motion เจ้าของ BlackBerry ก็ยิ่งเติบโตและแข็งแกร่งกว่าที่เคย แต่ศึกครั้งนี้ยังไม่จบ

2 CEO แห่ง Research in Motion(RIM) คือ Jim Balsillie และ Mike Lazaridis เป็นชาวแคนาดา ทั้งคู่ใช้เวลา 17 ปี สร้างบริษัทไฮเทคที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลกขึ้นมา

Balsillie วัย 48 เป็นคนพูดจาเปิดเผย เขาคือพ่อมดการเงินผู้ขับเคลื่อนกลยุทธ์ของบริษัท Lazaridis อายุเท่ากัน มีบุคลิกที่แทบจะตรงข้ามกับ Balsillie เขาเป็นคนพูดน้อย และไม่ค่อยชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว นอกจากเรื่องที่ตอนอายุ 12 เขาเคยได้รับรางวัล จากการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์หมดห้องสมุด Lazaridis เป็นอัจฉริยะทางวิศวกรรม เขาเป็นหัวหอกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท

สิ่งที่แปลกคือ ทั้งสองไม่เคยสังสรรค์กันนอกเวลาทำงานเลย แม้แต่ห้องทำงานของแต่ละคน ที่อยู่ในสำนักงานใหญ่ RIM ที่เมือง Waterloo, Ontario ในแคนาดา ก็ไม่ได้อยู่ในอาคารเดียวกัน Waterloo ตั้งอยู่ห่างจากนครโตรอนโตไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1 ชั่วโมงหากเดินทางโดยรถยนต์ แต่การไม่สนิทสนมกัน นอกจากจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพวกเขาแล้ว ตรงข้าม ทั้งสองยืนยันว่า ความสัมพันธ์ที่เป็นเช่นนี้เอง ที่ทำให้การทำงานให้พวกเขามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น “เราต่างคนต่างรู้ว่า อีกคนเก่งอะไร” Lazaridis กล่าว “โดยไม่ต้องถามกันเลยด้วยซ้ำ”

Balsillie หรือ Lazaridis เพียงคนใดคนหนึ่ง อาจไม่สามารถเทียบชั้นอัจฉริยะทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ไฮเทคเพื่อผู้บริโภค ผู้ครองอำนาจอยู่ที่ Cupertino ในแคลิฟอร์เนีย และเป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่สุดของ RIM ได้ แต่เมื่อรวม Balsillie กับ Lazaridis เข้าด้วยกัน พวกเขากลับมีความน่าเกรงขามมากพอ ที่จะต่อกรกับศัตรูตัวฉกาจอย่าง Steve Jobs แห่ง Apple ได้

แม้ iPhone ของ Apple จะประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ แต่ RIM ก็ยังคงครองตำแหน่งที่โดดเด่นในธุรกิจสมาร์ทโฟน ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วสุดขีด การรวมอีเมล์เข้ากับโทรศัพท์มือถือ เป็นประดิษฐกรรมอันน่าภาคภูมิที่ Balsillie กับ Lazaridis ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น

ในช่วง 10 ปีมานี้ RIM ขายโทรศัพท์มือถือได้ 65 ล้านเครื่อง ให้แก่ลูกค้าซึ่งขณะนี้มีถึง 28.5 ล้านคน ทำให้มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 96 ล้านดอลลาร์ เป็น 42,000 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 10 ปี Balsillie กับ Lazaridis ถือหุ้นอยู่คนละ 6% หรือคิดเป็นเงินเท่ากับคนละ 2.5 พันล้านดอลลาร์

RIM ครองส่วนแบ่งตลาด 56% ในตลาดสมาร์ทโฟนของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ และยอดขายยังคงมีแต่สูงขึ้น ความจริงแล้ว ข้อมูลจากบริษัทวิจัย IDC ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดสมาร์ทโฟน พบว่า สมาร์ทโฟนที่ขายดีที่สุดในอเมริกาตอนนี้ หาใช่ iPhone หากแต่เป็น BlackBerry Curve

ด้วยยอดขายที่พุ่งกระฉูดนี้เอง ทำให้ RIM กลายเป็นบริษัทที่ติดอันดับหนึ่งในรายชื่อบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดประจำปี 2009 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune ประจำปีนี้ โดยมีการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 3 ปีสูงถึง 84% และรายได้เติบโตถึง 77% แม้กระทั่งเมื่อตลาดหุ้นแทบล่มสลายเมื่อปีที่แล้ว แต่หุ้นของ RIM ยังคงมีผลตอบแทนต่อปีตลอด 3 ปีสูงถึง 45% ในขณะที่ Apple คู่แข่งตัวฉกาจของ RIM ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า RIM ถึง 3 เท่าทั้งด้านยอดขายและมูลค่าตลาด กลับติดเพียงอันดับ 39 ในการจัดอันดับเดียวกันนี้

ครั้งหนึ่ง BlackBerry เคยถูกมองว่าเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับธุรกิจ ไม่ใช่ผู้บริโภคทั่วไป แต่ขณะนี้นี้ BlackBerry ได้กลับกลายเป็นสินค้าเพื่อผู้บริโภคไปแล้ว RIM ออกโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายตลาดแมส เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว (2008) และในไตรมาสที่แล้ว 80% ของลูกค้าใหม่ของ RIM มาจากคนทั่วไปที่ไม่ใช่ธุรกิจ อย่างเช่นวัยรุ่น ซึ่งชอบ BlackBerry Messenger มากเป็นพิเศษ ด้วยคุณสมบัติที่สามารถส่งข้อความทันใจ ซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของ RIM เอง แม้แต่ประธานาธิบดี Barak Obama ยังพกพา BlackBerry กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดชั้นยอดที่ส่งให้วัยรุ่นยิ่งคลั่งไคล้ BlackBerry

ข่าวดีทั้งสำหรับ RIM และ Apple คือ ตลาดสมาร์ทโฟนโดยรวมกำลังเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ในปี 2008 มีโทรศัพท์มือถือถูกขายไปทั่วโลกทั้งหมด 1.19 พันล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟนเสีย 155 ล้านเครื่องหรือประมาณ 13% IDC ทำนายว่า ในปี 2013 สัดส่วนของสมาร์ทโฟนในตลาดมือถือ จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% หรือ 280 ล้านเครื่อง จากยอดขายมือถือทั้งหมด 1.4 พันล้านเครื่อง

อย่างไรก็ตาม ข่าวร้ายก็คือ การแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนจะยิ่งเข้มข้นดุเดือดยิ่งขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Acer และ Dell 2 ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ กำลังพุ่งตรงเข้ามาในตลาดนี้ Palm ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ออกสมาร์ทโฟน Pre หวังต่อกรกับ iPhone โดยเฉพาะ โดยเปิดตัวครั้งแรกบนเครือข่าย Sprint เมื่อเดือนมิถุนายน และจะเริ่มใช้ได้บนเครือข่าย Verizon ในปีหน้า ส่วน Google กำลังทุ่มเทกับระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนที่ชื่อว่า Android และกำลังเล็งตลาดเดียวกับที่ RIM ครองอยู่ ส่วน Motorola กำลังจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนตัวใหม่ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ภายในปีนี้

นั่นหมายความว่า จะมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ เรียงหน้าเปิดตัวกันออกมามากยิ่งกว่าที่เราเคยเห็นมา ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ในขณะที่ BlackBerry รุกเข้าไปครองตลาดสินค้าผู้บริโภค iPhone ก็กลับมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Apple มีส่วนแบ่งในตลาดธุรกิจ 20% เพิ่มขึ้นจาก 6% เมื่อ 1 ปีก่อน (ส่วนใหญ่เป็นการแย่งตลาดมาจากเครื่อง Treo ของ Palm) ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ส่วนแบ่งตลาดของ RIM กลับลดลงเล็กน้อย จาก 76% เหลือ 74%

Apple ยังมีส่วนต่างกำไรต่อเครื่องมากกว่า โดย iPhone มีส่วนต่างกำไร 40% ในขณะที่ส่วนต่างกำไรโดยเฉลี่ยต่อเครื่องของ RIM อยู่ที่เพียง 20.7% (ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 9.7%)

ความท้าทายอีกอย่างคือ ความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อสมาร์ทโฟน กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือต้องการเข้าถึงเว็บมากขึ้นและมากกว่าการใช้โทรศัพท์ และต้องการโปรแกรมการใช้งานหรือซอฟต์แวร์ ที่จะทำให้พวกเขาสามารถตรวจสอบสภาพอากาศ เล่นเกม หรือแม้กระทั่งเช็คยอดเงินในบัญชี Apple คุยว่า มีโปรแกรมมากถึง 65,000 โปรแกรมให้เลือกใน App Store ร้านค้าออนไลน์ของ Apple แต่ร้าน BlackBerry app store กลับมีเพียง 2,000 โปรแกรมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม 2 CEO ของ RIM ดูเหมือนจะไม่หนักใจกับ Apple เท่าใดนัก แต่กลับไปวิตกว่า จะบริหารจัดการกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบริษัทได้อย่างไร Lazaridis บอกว่า เขาเคยจัดการกับการเติบโตของบริษัทแบบ 100% ได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะบริหารอย่างไร ถ้าหากบริษัทเติบโตมากไปกว่านั้น ปีที่แล้วเพียงปีเดียว RIM มีพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 50% เป็น 12,000 คน และแย่งตำแหน่งบริษัทไฮเทคที่เป็นเรือธงของ Canada มาจาก Nortel ได้สำเร็จ

ในปี 1984 Lazaridis ลาออกจากมหาวิทยาลัย Waterloo มหาวิทยาลัยด้านคณิตศาสตร์และวิศวกรรม ซึ่งมีชื่อเสียงเทียบได้กับสถาบัน MIT ของสหรัฐฯ ทั้งๆ อีกเพียงเดือนเดียวเขาก็จะจบการศึกษา เพื่อมาตั้งบริษัท RIM เป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ ร่วมกับเพื่อนสนิท Doug Fregin (ผู้อยู่เบื้องหลัง RIM มาโดยตลอด เขาเป็นกรรมการรองผู้จัดการจนกระทั่งเกษียณไปในปี 2007) หนึ่งในโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ทั้งสองสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงแรกๆ ช่วยให้ลูกค้าในตลาดธุรกิจสามารถทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตได้

และในที่สุด ทั้งสองสามารถค้นพบความคิดที่พวกเขารู้ว่า จะทำเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์ จากการสังเกตเห็นนักศึกษา Waterloo นิยมใช้อีเมล์เป็นอย่างมาก ทำให้ทั้งสองตระหนักว่า อีเมล์จะต้องเป็นเครื่องมือสื่อสารแห่งอนาคตเป็นแน่ และจะต้องสามารถใช้อีเมล์บนอุปกรณ์พกพาอย่างเช่นมือถือได้ด้วย บริษัทใดที่สามารถจะผลิตอุปกรณ์ที่ทำอย่างนั้นได้ จะต้องรุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างแน่นอน Lazaridis เล่าว่า พวกเขารู้ว่าต่อไปอีเมลจะต้องกลายเป็นรากฐานของธุรกิจ และแทนที่แฟ็กซ์ อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นพวกเขาก็พบว่าตัวเองถังแตกเสียแล้ว

ดังนั้นในปี 1992 Lazaridis กับ Fregin จึงต้องหันไปหา Jim Balsillie ที่ปรึกษาการบริหารจัดการ ซึ่งทั้งสองเคยทำงานด้วย Balsillie ตกลงยอมลงทุน 125,000 ดอลลาร์ ซื้อหุ้น 1 ใน 3 ของ Rim และรับตำแหน่ง CEO ร่วม พร้อมกับช่วยระดมทุนให้บริษัท ปี 1997 RIM เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นโตรอนโต และระดมทุนได้ 115 ล้านดอลลาร์ 2 ปีให้หลัง RIM เปิดตัวแบรนด์ BlackBerrys สมาร์ทโฟนซึ่งใช้อีเมล์ได้เป็นครั้งแรก

คนส่วนใหญ่คิดว่า Apple เป็นคู่แข่งที่กล้าแข็งที่สุดของ RIM แต่จะมีใครรู้บ้างว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ RIM ได้มากไปกว่าการที่ Apple เปิดตัว iPhone อีกแล้ว การออก iPhone เท่ากับ Apple ออกมายืนยันต่อผู้บริโภคว่า คุณสามารถจะเพลิดเพลินกับอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย แต่มีศักยภาพมหาศาลเหมือนคอมพิวเตอร์ ทั้งยังสามารถพกพาได้อีกด้วย เท่ากับ Apple ช่วยเปิดตลาดใหม่เอี่ยมขนาดใหญ่ให้แก่ RIM นั่นคือตลาดโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

เพียงชั่วข้ามคืนหลังเปิดตัว iPhone สมาร์ทโฟนก็กลายเป็นสินค้าเพื่อผู้บริโภคไป เพราะใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของ iPhone กันทั้งนั้น ตั้งแต่ iPhone เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2007 เป็นต้นมา ปรากฏว่า ยอดขายรายไตรมาสของ BlackBerry กลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า จาก 1.1 พันล้านดอลลาร์ เป็น 3.4 พันล้านดอลลาร์ โทรศัพท์มือถือ 3 ใน 5 รุ่นที่ติดอันดับขายดีที่สุดในสหรัฐฯ ล้วนเป็นของ BlackBerry

ในขณะที่ Apple เลือกพัฒนาโทรศัพท์ผ่านผู้ให้บริการเพียงรายเดียวคือ AT&T และนั่งรอลูกค้า แต่ RIM ใช้กลยุทธ์การเติบโตที่ตรงกันข้าม แทนที่จะสร้างสรรค์อุปกรณ์ใหม่ๆ เพียงลำพัง RIM กลับจับมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์รายใหญ่ๆ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้า RIM สร้างสรรค์โทรศัพท์รุ่นพื้นฐานถึง 7 รุ่น โดยที่แต่ละรุ่นยังมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างหลากหลายออกไปอีก และเนื่องจาก RIM จับมือกับผู้ให้บริการมากหน้าหลายตา ลูกค้าของ RIM จึงสามารถซื้อหา BlackBerry ได้ง่าย

กลยุทธ์นี้ได้ผลดีมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อ Verizon ต้องการออกสมาร์ทโฟนตัวใหม่ที่สามารถจะแข่งขันกับ iPhone ได้ ก็ได้ให้ RIM เป็นผู้พัฒนา Storm สมาร์ทโฟนที่มีปุ่มกดระบบสัมผัส และ Storm ก็กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ขายดีที่สุดอันดับ 3 นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีก่อน

RIM เชื่อว่า วิธีหนึ่งที่จะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีคู่แข่งหนาแน่น คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจง เดือนกรกฎาคม RIM ประกาศเปิดตัว Curve 8520 ซึ่งเป็น BlackBerry รุ่นใหม่ที่จับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้เว็บชุมชนออนไลน์ โดยมีปุ่มที่ทำให้ผู้ใช้สามารถ upload ข้อมูลตรงขึ้นไปที่เว็บ social networking อย่าง YouTube และ Facebook ได้อย่างง่ายดาย Curve 8520 เริ่มวางขายเมื่อเดือนที่แล้วที่ห้าง Wal-Mart ในราคาเพียง 48.88 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม Balsillie และ Lazaridis เชื่อว่า โอกาสแห่งการเติบโตมากที่สุดของพวกเขา อาจจะอยู่ที่ตลาดนอกสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งเริ่มที่จะซื้อสมาร์ทโฟนมากขึ้น ในขณะที่ Nokia ยักษ์ใหญ่มือถือจากฟินแลนด์ ซึ่งเคยครองอำนาจในตลาดโลกมานาน กำลังเริ่มสูญเสียงส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น RIM จึงเริ่มวางตำแหน่งตัวเองในตลาดต่างประเทศ โดยจับมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ 475 รายใน 160 ประเทศทั่วโลก Balsillie เชื่อว่า ตลาดลาตินอเมริกากับยุโรปตะวันตก จะเป็นเหมือนกับตลาดอเมริกาเหนือในวันหนึ่งข้างหน้า

แต่การรุกตลาดทั่วโลกเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ RIM ประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ แม้ว่า RIM จะเคยมีไม้เด็ดที่เป็นผู้บุกเบิกการนำอีเมล์มารวมกับมือถือ แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดโลก มีโปรแกรมการใช้งานบนมือถือใหม่ๆ ดีๆ มากมายเป็นพันๆ โปรแกรม บริษัทจึงต้องปรับตัวยอมรับในจุดนี้ Balsillie ดูเหมือนจะเข้าใจดีว่า โทรศัพท์มือถือจะต้องเป็นทั้งเครื่องเล่น MP3 และกำลังจะเป็นทีวีพลาสม่าในอนาคตอันใกล้ ทั้งยังต้องเป็นเครื่องมือที่เล่นเว็บ social network ได้ ต้องเป็นทางเข้าสู่ Internet เป็นกล้องถ่ายรูป และเป็นผู้ช่วยส่วนตัวในการระบุพิกัดสถานที่

นอกจากนี้ โทรศัพท์มือถือกำลังกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ดาวน์โหลดโปรแกรมการใช้งานหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ตามแต่ผู้ใช้ต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้ ที่บริษัทใดเพียงแห่งเดียว จะสามารถพัฒนาโปรแกรมการใช้งานบนมือถือได้มากพอ ที่จะสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าได้ทุกคน

ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจึงต้องพยายามอย่างหนัก ที่ชักจูงนักพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ ให้มาสร้างสรรค์โปรแกรมที่สามารถใช้งานบนมือถือให้กับบริษัท แม้ว่าตลาดสำหรับซอฟต์แวร์ประเภทนี้ยังมีขนาดเล็ก แต่กำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทวิจัยประเมินว่า ยอดขายโปรแกรมใช้งานบนมือถือจะพุ่งสูงถึงระดับ 25,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 จากเพียง 7 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

แม้ RIM จะเป็นบริษัทที่รวบรวมนักพัฒนาโปรแกรมได้มากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังคงพยายามดึงดูดนักพัฒนาโปรแกรมให้มาทำงานด้วยมากขึ้น หน้าที่อันท้าทายนี้ตกเป็นของ Jeff McDowell กรรมการรองผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ การตลาด และพันธมิตรของ RIM เขาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการ BlackBerry Alliance Program ซึ่งทำหน้าที่จัดหานักพัฒนาโปรแกรมและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค รวมไปถึงการสนับสนุนด้านการตลาด ให้แก่หุ้นส่วน 1,700 รายของบริษัท
ปีที่แล้ว RIM จัดงานประชุมนักพัฒนาโปรแกรมเป็นครั้งแรกที่ Silicon Valley เพื่อให้นักพัฒนาโปรแกรมเข้าใจแผนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท มีการให้คำแนะนำแบบตัวต่ออย่างใกล้ชิด และให้นักพัฒนาโปรแกรมได้มีโอกาสพบปะอย่างใกล้ชิดกับทีมสุดยอดวิศวกรของบริษัท

และในเดือนเมษายน RIM ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว BlackBerry App World ร้านออนไลน์ที่รวบรวมโปรแกรมใช้งานบน BlackBerry ไว้ในที่เดียวกัน นักพัฒนาโปรแกรมจะได้ส่วนแบ่ง 80% จากราคาโปรแกรมที่ตั้งไว้ (ในขณะที่ Apple ให้เพียง 70%)

อย่างไรก็ตาม ทั้ง Balsillie และ Lazaridis ตระหนักดีว่า สิ่งที่ท้าทาย RIM มากที่สุด คือการคาดการณ์รสนิยมของตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งมีแต่ความไม่แน่นอน แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นว่า พร้อมเต็มที่สำหรับงานนี้ Lazaridis กล่าวว่า เขาเชื่อมั่นในความสามารถของบริษัท และบริษัทได้ทำวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคอย่างเข้มข้น ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไร “สินค้าของเรามีแต่ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ” มันสมควรเป็นเช่นนั้น สำหรับใครก็ตามที่ต้องเผชิญคู่แข่งอย่าง iPhone **

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 7 กันยายน