ปรับชีวิตเพิ่มสุขเริ่มปีใหม่ ด้วยการเปลี่ยน “Mindset – มายด์เซต”

เมื่อปีเก่าผ่านพ้นไป ปีใหม่ก้าวเข้ามาแทนที่ หลายคนต่างดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งความสุข พร้อมอธิษฐานให้กับตัวเองขอให้เป็นปีนี้เป็นปีที่ดี ที่จะได้กลายเป็นคนใหม่ ทิ้งอะไรแบบเดิมๆ พร้อมใช้ชีวิตกับสิ่งรอบข้างได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งใดกันแน่ที่ทำให้ชีวิตของเรามีสุขอย่างแท้จริงล่ะ?

เงิน คือ หนทางสู่ความสุข?

หลายๆ คนอาจจะคิดว่าแค่มี “เงิน” เราก็สามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้แล้ว แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงความต้องการของมนุษย์ การใช้เงินซื้อความสุขเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืนถาวร เพราะเงินนั้นมีวันหมดไป แล้วอะไรคือตัวสร้างความสุขให้กับเราทุกคนล่ะ? แท้จริงแล้ว คนเรามีความสุขได้ง่ายๆ จากคนรอบข้างและสภาพแวดล้อมรอบตัว อย่างที่ อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)” เพราะมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้เพียงลำพัง แต่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุขให้กับตนเองอยู่เสมอ สอดคล้องกับทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ที่ได้อธิบายถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ มิตรภาพ และความรักต่อคนรอบข้างไว้ว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งจะขวนขวายหาความสุขนั้นจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้างๆ ตลอดเวลา แล้วเราจะบริหารความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างได้อย่างไร?

เปลี่ยนความสัมพันธ์ให้ดี ด้วยการปรับ “Mindset – มายด์เซต”

เมื่อคนสองคนเกิดมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันย่อมก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือทางลบ ซึ่งตามแนวคิดเดิม เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น มักมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อกัน แท้จริงแล้ว สิ่งนี้เป็นเพียงปลายทางของการแสดงออกซึ่งไม่ใช่คำตอบสู่การเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงลึกที่ยั่งยืน แต่เบื้องหลังอันเป็นพื้นฐานที่เรียกว่า Mindset – มายด์เซต” หรือ “วิธีการมองโลกและสภาพแวดล้อมรอบข้าง” ต่างหากที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนทุกพฤติกรรมของมนุษย์ โดยผู้ค้นพบอย่าง ดร. เทอรี่ วอร์เนอร์ (Dr. Terry Warner) อาจารย์นักวิจัยด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า มนุษย์เรามีการกำหนด Mindset ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Inward Mindset หรือ การมองที่เป้าหมายของตนเองเป็นใหญ่ และเห็นคนอื่นแค่เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นพาหนะสู่เป้าหมายของตนเอง เป็นอุปสรรคและสิ่งกีดกั้นการมีความสุขของตนเอง หรือแม้แต่เป็นแค่สิ่งไร้ค่า ไร้ตัวตน ไร้ซึ่งความสำคัญ ตรงกันข้ามกับ Outward Mindset ที่เป็นการมองคนรอบข้างเป็นเห็นคนเป็นคนและให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าความสำคัญต่อตัวเราเอง

คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้นำหลักสูตร Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต” เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการมองโลกผ่านเลนส์ทั้งสองแบบนี้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยการมองโลกแบบ Inward Mindset จะก่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงลบ ที่ส่งผ่านคำพูดและภาษากายไปยังผู้คนรอบข้าง ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะสามารถรับรู้ได้ถึงพฤติกรรมดังกล่าว และเริ่มปฏิบัติต่อเราในทิศทางเดียวกัน เกิดเป็นวงจรแห่งการกล่าวโทษที่ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงเรื่อยๆ โดยที่ตัวเราเองก็ไม่ฉุกคิดว่าปัญหาต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลง เพราะเลนส์แบบ Inward Mindset ได้ผลักให้เราเข้าไปอยู่ในกล่องที่เห็นแต่ตัวเองและบิดเบือนจากความเป็นจริงเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่การมองโลกผ่านเลนส์ Outward Mindset จะทำให้เราเห็นโลกตามความเป็นจริง และเริ่มปฏิบัติต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะกับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้าในแบบที่เห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ผู้มีความปราถนา เป้าหมาย และความต้องการที่จะมีความสุขที่ไม่ยิ่งหย่อนไปมากกว่าตัวเรา ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการช่วยเหลือและมุ่งเน้นประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งยินดีช่วยเหลือทุกคนอย่างสุดความสามารถ ผลลัพธ์คือความสุขที่เบ่งบานทั้งในใจของเราและคนรอบข้างร่วมกันแบบทวีคูณ”

ยกตัวอย่าง สถานการณ์ความแตกต่างระหว่าง Inward และ Outward Mindset ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง โดยหัวหน้าที่มี Inward Mindset จะมองลูกน้องเป็นเพียงวัตถุหรือพาหนะสู่ผลประโยชน์ของทีม หรือแม้แต่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมเชิงลบที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการคอยจับผิดและกล่าวโทษอย่างรุนแรง การควบคุมการทำงานแบบไม่เปิดรับความคิดเห็น หรือการเพิกเฉยและไม่สนใจลูกน้องคนนั้นว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในทีม ที่จะส่งผลเชิงลบในการบั่นทอนความสามารถและประสิทธิภาพการทำงาน อาทิ การหมดไฟในการทำงานและรู้สึกหดหู่จนอาจถึงขั้นต้องหางานใหม่ เกิดเป็นภาวะสมองไหล หรือในกรณีที่แย่กว่านั้นคือลูกน้องตั้งตนเป็นศัตรูกับเจ้านาย เกิดการหันหลังคุยกันและใช้มาตราการแรงมาแรงกลับ ซึ่งส่งผลต่อทีมองค์รวมและองค์กรแบบหยั่งรากลึก ตรงข้ามกับหัวหน้าแบบ Outward Mindset ที่จะมองลูกน้องทุกคนเป็นคนที่มีความต้องการและเป้าหมายชีวิตที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าของตัวเอง ส่งผลให้การแสดงออกที่เต็มไปด้วยความหวังดี ที่อยากให้เขาพัฒนายิ่งขึ้นหรือก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ได้จริงๆ ช่วยให้ลูกน้องพัฒนาศักยภาพหรือพร้อมทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างเต็มใจและใช้ความสามารถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความสุข

นอกจากนี้ เรายังสามารถนำเอากระบวนการมองโลกแบบ Outward Mindset มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยอาจถือเอาช่วงเทศกาลต้อนรับปีใหม่นี้เป็นจุดเริ่มต้น เสมือนการให้ของขวัญรับปีใหม่ชิ้นสำคัญให้กับตนเอง ด้วยชีวิตที่กำลังจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น อาทิ เริ่มปรับลดความหงุดหงิดรำคาญใจในช่วงวันหยุดเทศกาลที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน เพียงปรับการมองโลกเป็นแบบ Outward Mindset ที่มองผู้คนที่กำลังเดินเบียดเสียดกับตัวเรา หรือคนเดินทะเล่อทะล่าเข้ามาในเฟรมถ่ายรูปของเรา ว่าเขาเป็นมนุษย์ที่ต้องการดื่มด่ำและเก็บภาพบรรยากาศแห่งความสุขนี้ไว้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นเราจะหงุดหงิดใจหรือแม้แต่ส่งเสียงไม่พอใจดุด่าเขาเหล่านั้นไปทำไม ในเมื่อเราสามารถแบ่งปันช่วงเวลาเหล่านี้ให้กับตัวเราพร้อมกับทุกๆ คนได้ หรือแม้แต่กรณีใกล้ตัวอย่างสถานการณ์ในบ้าน ที่ต่างคนต่างทำงานของตนเองให้เสร็จก่อนวันหยุดรับปีใหม่ จนอาจละเลยหน้าที่ในบ้านบางอย่าง เช่น การกวาดพื้น หรือล้างห้องน้ำ ไปบ้าง ซึ่งถ้ามองทุกคนผ่าน Inward Mindset จะทำให้เรารู้สึกรำคาญใจจากการขาดความรับผิดชอบของสมาชิกในบ้านจนอาจเกิดปากเสียงกันเป็นระยะๆ แต่หากเราปรับมุมมองผ่าน Outward Mindset เราจะพร้อมให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างสุดความสามารถ และเอาใจช่วยทุกคนให้ทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผลลัพธ์คือทุกคนมีเวลาได้ใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านอย่างมีความสุขตลอดเทศกาลวันหยุดอย่างเต็มที่ไปพร้อมกัน

การปรับเปลี่ยน Mindset จึงเปรียบเสมือนการปรับเปลี่ยนเลนส์ในการมองโลก มองตัวเรา และมองคนอื่น ซึ่งจะมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี ที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ และการทำงานได้อย่างเป็นสุขในทุกสถานการณ์ ซึ่งการมองโลก Inward และ Outward Mindset สามารถเกิดกับเราทุกคนในทุกวินาทีของจังหวะชีวิต ดังนั้น เราจึงควรมีสติและฝึกใช้ Outward Mindset ทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อเปลี่ยนคุณให้เป็นคนใหม่ที่มีความสุขกับการใช้ชีวิตกับสิ่งรอบข้างมากขึ้นกว่าเดิม