บอร์ด กสทช. นัดพิเศษ (15 ม.ค.) เห็นชอบหลักการแผนเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ของทีวีดิจิทัลมาประมูล พร้อมแผนเยียวยาทีวีดิจิทัลทั้งระบบ ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 1.6 หมื่นล้าน และค่าส่งสัญญาณทั้งหมด แถมยังเปิดทางให้เลิกได้ด้วย
ฐากร ตัณทสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ได้แถลงข่าวผลการประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษครั้งนี้ว่า บอร์ด กสทช.ให้สำนักงาน กสทช.ไปจัดทำประชาพิจารณ์ หลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่าน 694-790 MHz ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ มาจัดสรรใหม่สำหรับการประมูลคลื่น เพื่อเปิดบริการ 5G และนำเงินที่ได้จากการประมูลมาจ่ายชดเชยให้กับธุรกิจทีวีดิจิทัล โดยคาดว่าจะสามารถประชาพิจารณ์ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมขั้นตอนการประมูลประมาณเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ เป็นผลจากคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาคลื่นความถี่ 700 MHz ที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน ได้ทำร่างหลักเกณฑ์ทั้งการเยียวยาและการประมูลคลื่น 700 MHz เสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในวันนี้
สาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์นี้ คือ กำหนดรูปแบบของการชดเชยการเสียประโยชน์จากการใช้คลื่น 700 MHz ให้กับกลุ่มที่เกี่ยวข้องทีวีดิจิทัลทั้งระบบ
ตามที่ระบุไว้ในร่างนี้ มีตั้งแต่ ชดเชยในรูปแบบที่ทีวีดิจิทัลไม่ต้องจ่ายเงินค่างวดประมูล 2 งวดสุดท้ายที่เหลืออยู่ ค่าเช่าโครงข่าย MUX และค่าใช้จ่ายที่ทีวีดิจิทัลทุกช่องต้องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามประกาศ Must Carry และในส่วนของผู้ประกอบการ MUX ก็จะได้รับเงินค่าชดเชยจากการต้องย้ายย่านคลื่น หรือถูกเรียกคืนคลื่นบางส่วน และยังได้เงินสนับสนุนเรื่อง TV Rating ด้วย
“วงเงินเบื้องต้นที่ทีวีดิจิทัลจะได้รับการช่วยเหลือคือ ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทจาก 2 งวดสุดท้ายของค่าประมูล จะไม่มีใครต้องจ่ายแล้ว และเปิดทางให้คืนใบอนุญาตได้ด้วย” ฐากรกล่าว
ทั้งนี้ มีบอร์ดบางคนได้เสนอให้ผู้ที่คืนใบอนุญาตได้รับการชดเชยด้วย แต่เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัว ไม่ได้สรุปเป็นมติแต่อย่างใด
ยังไม่ลงตัว จะประมูลคลื่นแบบ 7 ใบ หรือ 9 ใบ
ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้มีการประมูลคลื่น 700 MHz จำนวนกี่ใบ จากจำนวนคลื่นทั้งหมดที่คาดว่าจะจัดสรรคืนมาได้ 96 MHz จากที่คณะอนุกรรมเสนอว่า ประมูล 7 ใบ และเวลาใบอนุญาต 20 ปี แต่บอร์ดบางคนมีข้อเสนอว่า ควรเป็น 9 ใบ และ 15 ปี จึงให้ไปประชาพิจารณ์ให้ได้ข้อสรุปก่อน
ข้อมูลที่จะนำไปประชาพิจารณ์ของคณะอนุกรรมการนั้น ระบุว่า จะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ย่านรับ 703-738 MHz และ ย่านส่ง 758-793 MHz โดยมีจำนวนแบนด์วิดท์รวมทั้งสิ้น 2×35 MHz ซึ่งจะมีการเปิดประมูลเป็น 7 ใบอนุญาต ใบละ 2 x 5 MHz และมีเงื่อนไขที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยการกำหนดรอบการจ่ายเงินค่าประมูลไว้ยาวถึง 10 ปี จำนวน 9 งวด ปีแรกจ่าย 20% และอีก 8 ปีจ่ายเพียงปีละ 10% ของวงเงินประมูลทั้งหมด
ฐากรบอกว่านอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องระยะเวลาการขยายเครือข่าย และราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่เท่าไรนั้น ยังไม่มีข้อสรุป จะต้องรอให้คณะทำงานของ กสทช.ไปกำหนดหลักเกณฑ์ราคาค่าประมูลคลื่นออกมาก่อน
ส่งที่ปรึกษา กม. ช่วยดู อำนาจทาง กม. การจ่ายเงินเยียวยาได้หรือไม่
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการประมูล จะนำส่งรัฐบาลตามกฎหมาย แต่บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จะต้องยื่นจ่ายค่าประมูลตามงวดไปก่อน แล้วนำใบเสร็จมาเบิกคืนตามจำนวนทั้งหมดจากกองทุน กสทช. ในภายหลัง ซึ่งในขั้นตอนนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องทางกฎหมาย บอร์ดจึงให้ไปปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช.ด้วยว่า สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า ควรจะแยกร่างการประมูลกับร่างการเยียวยา ออกเป็น 2 ร่าง หรือให้เป็นร่างเดียว เพื่อให้การทำงานรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงต้องรอผลการประชาพิจารณ์ก่อน.