ข่าวเชิงวิเคราะห์ ควบรวมทรูดีแทค ความยาว 3 ตอนจบ โดย ibusiness
เทียบความพร้อมศักยภาพของบริษัทเทคโนโลยีไทย AIS ,NT, TRUE+DTAC ในสมรภูมิรบ 6G ยุค 5.0 ปลดแอกจากทุนต่างชาติ ระบุชัด เป้าหมายยกระดับแข่งขันภูมิภาค หรือ อาจจะไปถึงระดับโลก งานนี้อยู่ที่กสทช.จะออกแบบยุทธศาสตร์ผลงานโบแดงอย่างไร
จับตาสมรภูมิ 6G ยกระดับบริษัทคนไทย
เทคโนโลยี 6G เป็นเทคโนโลยีใหม่ต่อจากระบบ 5G ว่ากันว่า 6G จะเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะพัฒนาต่อจากยุคเศรษฐกิจ 4.0 ไป 5.0 โดยความเร็วที่มากกว่า 5G กว่า 100 เท่าจะพลิกโฉมหน้าสิ่งต่างๆ อาทิ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ IoT เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ วิวัฒนาการทางการแพทย์ ให้เปลี่ยนแปลงเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคมและเศรษฐกิจ
หากจะถามว่า ผู้ประกอบการสัญชาติไทยพร้อมกับการเข้าสู่สมรภูมิ 6G แค่ไหน? คงต้องเริ่มจาก การเคลื่อนไหวของ AIS ผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคมของไทยที่การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้วถือเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ “ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ” จากโอเปอเรเตอร์ไปสู่บริษัทเทคโนโลยีเต็มที่
ล่าสุด GULF เพิ่งทุ่มเงินอีก 574 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้น INTUCH หรือ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เจ้าของ เอไอเอส เพิ่มอีก 7.43 ล้านหุ้น ในวันที่ 4-8 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ครองหุ้นทั้งหมด 1,411 ล้านหุ้น หรือรวมคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มจากเดิม 42.52% เป็น 44.02 % ขณะที่ SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE. LTD. ถือหุ้นเป็นอันดับสองจำนวน 680.17 ล้านหุ้น สัดส่วน 21.21%
นั่นหมายความว่า AIS ยุคใหม่ ได้ GULF ที่เป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่สัญชาติไทยที่ว่ากันว่า มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนเข้ามาประสานกับความเชี่ยวชาญการทำธุรกิจของ AIS ที่มีอยู่แล้ว จะทำให้ศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ การลงทุนเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานประเภทโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในไทยและภูมิภาคได้ไม่ด้อยไปกว่าในระดับของ SINGTEL ของสิงคโปร์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
“AIS ไม่สนใจคู่แข่งเป็นอย่างไร สนใจลูกค้าต้องการอะไรเท่านั้น จากเดิมที่ AIS ได้ประกาศเคลื่อนธุรกิจ Telecom Operator สู่ Digital Life Service Provider เมื่อ 6 ปีก่อน และล่าสุดยกระดับสู่ Cognitive Telco (ค็อกนิทิฟ เทลโค่) หรือ องค์กรอัจฉริยะ ภายในระยะเวลา 3 ปี เพราะต้องมีการเปลี่ยนระบบใหม่ มีการสร้าง Intelligence Network ที่เป็น Zero Trusted Network สามารถจัดการตัวเองได้แบบอัตโนมัติ และต้องลงทุนเรื่องไอทีแพลตฟอร์มใหม่ที่จะต้องมีความอัจฉริยะเพิ่มขึ้นด้วย” นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ AIS เปิดเผยในงานแถลงข่าว Next Step 2022 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ การควบรวมธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของรัฐอย่างบริษัท ทีโอที (TOT) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม ( CAT) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT นั้น เห็นได้ว่า การควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียว เป็นการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนของกันและกันเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้มีทรัพยากรด้านการสื่อสารโทรคมนาคมมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
ความได้เปรียบของ NT นอกจากมีรัฐบาลหนุนหลัง ความแข็งแรงจากธุรกิจที่มีสายบรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กับธุรกิจด้านไร้สายอย่างบริการ 5G ซึ่งหากยกระดับไป 6G ก็เชื่อกันว่า NT จะเป็นองค์กรที่สามารถให้บริการได้หลากหลายและมีศักยภาพที่เอกชนไม่สามารถมองข้ามได้
ด้าน ทรู และ ดีแทค อย่างที่ทราบกันดีว่า กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการควบรวมของสองบริษัท เพื่อก้าวไปสู่ “เทคคอมปะนี” หรือ บริษัทเทคโนโลยี นอกจากต้องการยกระดับการ “แข่งขันที่เท่าเทียม” ในการแข่งขันภายในประเทศ หากบริษัททั้งสองที่ต่างมีความเชี่ยวชาญต่างกันมาประสานพลังกัน (synergy) การควบรวมก็จะก่อประโยชน์จากจุดเด่นที่สุดของแต่ละฝ่ายมี หรือ ขณะที่กลุ่มทรูมีเครือข่ายแข็งแกร่ง เทเลนอร์ก็มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในธุรกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคไม่ด้อยไปกว่ารายอื่นๆ
การควบรวมย่อมจะช่วยให้เทคคอมปะนีใหม่สัญชาติไทยนี้ สามารถเพิ่มการลงทุนโดยไม่ต้องก่อหนี้ที่ปัจจุบันเป็นภาระหนักอึ้ง ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง ถึงแม้ว่า นักวิเคราะห์จะเห็นว่า การ synergy น่าจะใช้อยู่บ้าง
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC เคยกล่าวไว้ว่า การควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และ TRUE ทำให้บริษัทมีขีดความสามารถแข่งขันสูงขึ้น บริษัทใหม่สามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและนำคลื่นความถี่ของผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่านมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด รวมทั้งจะมีการบริหารเงินลงทุนได้อย่างรวดเร็วขึ้น
บริษัทใหม่จะมีธรรมาภิบาลระดับสากล จะมีกำกับดูแลโดยกรรมการชุดใหม่ โครงสร้างของบริษัทจะดึงเอาทั้งจุดแข็งของ TRUE และ DTAC บวกกับแรงสนับสนุนของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองบริษัท อย่างน้อยๆ เมื่อมองถึงส่วนสินทรัพย์รวมที่จะทำให้มีอยู่ถึง 8.09 แสนล้านบาท จะเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการแข่งขัน
ทั้งนี้ TRUE มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วน DTAC มีกลุ่มเทเลนอร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หากควบรวมกิจการและจัดตั้งบริษัทใหม่แล้ว กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จะถือหุ้น 28.98%, กลุ่มเทเลนอร์ 27.35% China Mobile International 10.43% และผู้ถือหุ้นรายอื่น 33.24% ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ด้วย
ปลดแอกจาก SINGTEL
เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็น AIS NT และ TURE ควบรวม DTAC โดยพื้นฐานขณะนี้ถือว่า ได้ปรับตัวรองรับเพื่อทำให้ตัวเองมีความแข็งแกร่ง และศักยภาพมากเพียงพอที่จะเข้าสู่การแข่งขันในระดับที่ใหญ่ขึ้นด้วยกันทั้งหมด
ประเด็นสำคัญ หากพิจารณาจากสัดส่วนการถือหุ้นของ AIS TRUE ควบรวมกับ DTAC ยิ่งเห็นได้ชัดว่า AIS เมื่อกลับมาอยู่ในมือของคนไทยในมือของ GULF ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีอำนาจใน INTUCH เหนือบริษัทต่างชาติ ย่อมเป็นธงนำธุรกิจโทรคมนาคมของไทยไปสู่สากล
ขณะที่ TRUE ควบรวมกับ DTAC ก็เช่นเดียวกัน หากควบรวมสำเร็จย่อมสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตาม AIS มาติดๆ ซึ่งแบรนด์สัญชาติไทยทั้งสองค่ายจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ SINGTEL หรือ เทมาเส็ก จากสิงคโปร์ที่เป็นบริษัทใหญ่ของภูมิภาคนี้ ซึ่งที่ผ่านมาปฎิเสธไม่ได้ว่า SINGTEL ใช้กลยุทธ “วางสนุ๊ก” ตีกันไม่ให้แบรด์ไทยก้าวขึ้นมาแข่งขันในตลาดภูมิภาค ทั้งที่โดยศักยภาพมีความพร้อมและสามารถที่จะแข่งขันได้
ดังนั้น การที่ธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีกลุ่มทุนไทยยกระดับตัวเองขึ้นมาจึงเท่ากับ “ปลดแอก” จากการถูก SINGTEL หรือ กลุ่มทุนต่างชาติครอบงำ
เป้าหมายที่ท้าทายยุค 5.0
แน่นอนว่า การปรับตัวของเทคคอมปานีแต่ละราย โดยเฉพาะ บริษัทสัญชาติไทยนี้ สิ่งที่จับต้องได้ทันทีคือการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรมการให้บริการดิจิตัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น (Digital Transformation) ที่จะทำให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมตลอดจนเศรษฐกิจไทยพัฒนา และ เป้าหมายที่ท้าทายในยุค 6G คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ บริษัทเหล่านี้จะต้อง “โกอินเตอร์”
โอกาสที่บริษัทไทยจะสู้ศึกบนสังเวียนเทคโนโลยีใหม่ ย่อมต้องคำนึงศักยภาพในการแข่งขันที่สูสีกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเทเลนอร์ หรือ สิงเทล หรืออาจจะมีมากกว่า
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทคครั้งนี้จะทำให้มีความพร้อมเข้าสู่ยุค 6G ยุค Space Technology ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ที่จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ผสมผสานกับเสาโทรคมนาคมที่มีอยู่ทำให้เกิดการให้บริการที่ทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในระดับภูมิภาคก็คงไม่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่จะมุ่งเน้นดิจิทัลเทคโนโลยี คลาวด์ IoT นอกจากนี้เรายังมุ่งเน้น AI ที่มาจากข้อมูลมหาศาล นำไปใช้ในประเทศต่างๆ ระดับภูมิภาค และ อาจถึงระดับโลก
นอกจากนี้ ศุภชัย ยังกล่าวในเวทีสัมมนาของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “Enhance the Dots” เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็น 1 ในความท้าทายของทั้งโลก เป็นหนึ่งในความท้าทายที่คิดกันว่าจะเข้ามาคลี่คลายปัญหาทั้งหมดได้ ยกเว้นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) โดยคาดว่า “เทคโนโลยี” จะเป็นตัวชี้วัดการเติบโตและความพร้อมในประเทศเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็น “นิวโกลด์” ของเศรษฐกิจ 5.0
ในยุค 4.0 คือข้อมูล แต่ 5.0 คือ เทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ทั้งหมดในโลก ผลักดันให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในประเทศต่างๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีมือถือของหัวเว่ยของจีน ที่เมื่อ 2 ปีที่แล้วกำลังจะแซงหน้าไอโฟน หรือเทคโนโลยีรถยนต์ EV ที่หลายประเทศนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ
“ประเทศต่างๆ แข่งขันกันเพื่อปกป้องทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด คือเทคโนโลยี หันกลับมามองประเทศไทย ถ้าจะไป 5.0 ต้องสร้างระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงนโยบาย ประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไป มีผลิตภาพที่ดี มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงพอเกิดความมั่งคั่งทั่วถึงได้ต้องทำให้ไทยเข้าสู่การเป็น technology hub ของภูมิภาค”
ศุภชัย ย้ำว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับภูมิภาคได้ หนีไม่พ้นเรื่องคน ซึ่งการทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมสร้าง “คน” ได้เร็วที่สุด ทำได้ด้วยการสนับสนุนให้เกิด “สตาร์ตอัพ” ในความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด บริษัทที่ไม่ปรับตัวจะขาดทุน และปิดตัวลง บริษัทที่เสมอตัว คือบริษัทที่ทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มสำเร็จ แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 บริษัทที่เติบโตและมีกำไรเพิ่มพูนต่อเนื่อง คือบริษัทด้านเทคโนโลยี “ประเทศ” ก็ไม่ต่างกัน จึงชัดเจนว่าเราควรทุ่มเทเวลาและความพยายามไปกับสิ่งใด
กสทช.เดินหน้าประชาพิจารณ์รอบด้าน
คำถามสำคัญมีว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแลจะวาง “โรดแมป” มองป่าทั้งป่า สร้างมิติใหม่ หรือแนวคิดใหม่ให้หลุดออกจาก “กับดัก” ก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมาย หรือ หลักเกณฑ์ดั้งเดิมเพื่อสนับสนุน หรือ มอบโอกาสของผู้ประกอบการไทยแค่ไหนเพียงใด เนื่องเพราะ ภารกิจสำคัญนี้จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาตลาดโทรคมนาคมไทยยุคใหม่
ประการสำคัญ คือ 6G จะ “ปลดแอก” ให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยได้ออกไปสู่เป้าหมายใหม่เพื่อการแข่งขันในระดับภูมิภาค และ ระดับโลก อย่างแท้จริง งานนี้จึงอยู่กับว่า กสทช.จะออกแบบยุทธศาสตร์ผลงานชิ้นโบแดงนี้อย่างไร
น่าสนใจว่า กรณีการควบรวมทรู–ดีแทคนั้น ขณะนี้กสทช.ชุดใหม่เริ่มเดินหน้าตามโรดแมป โดย เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมาได้ให้เห็นชอบแผนงาน (Roadmap) โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย, คณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง, คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยีและคณะอนุกรรมการฯด้านเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดประชุม Focus Group เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ตลอดจนมอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. และที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคมในระยะเวลาที่เร็วที่สุด โดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทคครั้งที่ 1 สำหรับกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่สนใจในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2565 นี้
นี่เรียกว่า ก้าวแรกที่แท้จริงของกสทช.ในการเดินเครื่องการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค เพื่อตอบโจทย์ในทุกมิติ อย่างครบถ้วน
หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกสทช. ทรู ดีแทค เอไอเอส เพื่อร่วมให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการและความคืบหน้าในการดำเนินการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค กฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การเตรียมการและความคืบหน้าในการดำเนินการของหน่วยงานต่อการดำเนินการรวมธุรกิจดังกล่าว ใน 7 ประเด็น อาทิ ด้านผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคม ด้านข้อกฎหมาย แนวทางการกำหนดมาตรการของหน่วยงานกำกับดูแล และ ข้อกังวลของสังคมและองค์กรต่างๆ
โดยเฉพาะความกังวลรวมถึงความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ และ มีนักวิชาการ องค์กรผู้บริโภคที่ยื่นหนังสือถึงกสทช.เพื่อเสนอต่อกสทช.
ทั้งนี้ นักวิชาการบางราย เห็นว่า กสทช.ต้องเปิดประชาพิจารณ์ การควบรวมกิจการดังกล่าว กำลังเป็นบททดสอบว่าระบบกฎหมายไทยสามารถคุ้มครองการแข่งขันในตลาดได้หรือไม่ หากการควบรวมผ่านการพิจารณาได้โดยง่าย ผู้ตรวจสอบทำโดยเร่งรีบ ไม่มีความรอบด้านในการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยอคติที่ต้องการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเหนือผลประโยชน์ของสังคม หรือไม่
แน่นอนว่า “รีแอกชั่น” ของกสทช. ได้ตอบคำถามดังกล่าวแล้ว ทั้งการเปิดประชาพิจารณ์ และ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ก่อนการควบรวมจะเสร็จสิ้น และ หากอาจจะรวมถึงการเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะ ระบบกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย ก็จะมีคำคอบให้สังคมในทุกด้าน ครบถ้วนในทุกมิติ ตามที่หลายฝ่ายต้องการ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นี่คือ การเปิดฉากของแบรด์ไทยที่จะไปสู่สมรภูมิอินเตอร์ โดยมีกสทช. เป็นแรงผลักดัน
อ่านต่อ