ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ควบรวมทรู-ดีแทค” ความยาว 3 ตอนจบ โดย iBusiness
เปิดกรณีศึกษา TOT+CAT = NT บทพิสูจน์สมการ “ควบรวม=การแข่งขัน” รวมกันแล้วแกร่ง ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน เสริมศักยภาพทรัพยากรด้านสื่อสารโทรคมนาคมกว่า 3 แสนล้านบาท แข่งขันสู้กับภาคเอกชนได้ทุกบริการ จับตา กสทช.เดินโรดแมปควบรวมทรู-ดีแทค
วันนี้หากตีความว่า การควบรวมกิจการเท่ากับความแข็งแรง ความแข็งแกร่ง และ การสร้างโอกาสในการแข่งขันก็คงไม่ผิดนัก พิสูจน์ทราบจากการควบรวมธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของรัฐอย่างบริษัท ทีโอที (TOT) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม ( CAT) ให้กลายเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของกันและกัน เสริมศักยภาพทรัพยากรด้านสื่อสารโทรคมนาคมกว่า 3 แสนล้านบาท จับมือร่วมกันแข่งขันสู้กับภาคเอกชนที่ยึดครองเป็นผู้นำเกือบทุกบริการของตลาด
หากพิจารณาย้อนหลังกลับไป ต้องบอกว่า ไม่ใช่การควบรวมทรูกับดีแทคจะเกิดขึ้นเป็นรายแรกภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.ที่ผ่านมา เพราะภายใต้ประกาศแก้ไขการรวมกิจการปี 2561 ของกสทช.ที่แค่แจ้งให้ทราบ แต่ไม่สามารถปฏิเสธการควบรวมได้นั้นเกิดการควบรวมแล้วหลายราย ยกตัวอย่างเช่น
- ALT Telecom กับ อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในปี 2562
- ALT Telecom กับ สมาร์ท อินฟราเนท ในปี 2563
- TOT กับ CAT ในปี 2564
- ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ตกับทริปเปิลที บรอดแบนด์ ในปี 2564
ถึงแม้บางกรณีจะเป็นเจ้าของเดียวกันหรือบางกรณีอาจจะเป็นรายเล็ก แต่ถ้ายึดตามกฎหมายก็จะต้องเท่าเทียมกันหมดไม่สามารถเลือกปฏิบัติรายเล็กหรือรายใหญ่ได้
TOT+CAT รวมกันเราอยู่
สมการหนึ่งที่สามารถหยิบยกกล่าวอ้างได้ว่า “การควบรวม=การแข่งขัน” เห็นได้ชัด คือ การควบรวม TOT กับ CAT
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ดีลการควบรวมกิจการของทั้งคู่เกิดขึ้นในสมัยที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เนื่องจากเล็งเห็นถึงความอยู่รอดของทั้ง 2 บริษัทเพราะหากไม่ควบรวมกัน ชะตากรรมที่ต้องประสบ คือ ภาวะการขาดทุนอย่างรุนแรง หรือ อาจถึงขั้นปิดบริษัทก็เป็นได้ เพราะรายได้วิ่งไม่ทันค่าใช้จ่าย ที่ยังพออยู่รอดเพราะการได้พาร์ตเนอร์เป็นค่ายมือถือมาหยิบยืมคลื่นความถี่ไปใช้และแบ่งปันรายได้มาให้ ซึ่งในปี 2568 สัญญาและสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ต่างๆ ที่ใช้เป็นพาร์ตเนอร์กับค่ายมือถือเอกชนจะสิ้นสุดลงพร้อมกับสภาพเสือนอนกินซึ่งวาระสุดท้ายทั้ง 2 บริษัทก็จะไปไม่รอด ทั้งๆ ที่มีสินทรัพย์ด้านโทรคมนาคมมหาศาล
ดังนั้นจึงมีการส่งเรื่องถึงคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563
โดยที่การควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียว เป็นการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนของภาครัฐ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และความมั่นคงของประเทศรวมทั้งบริการเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมโดย NT ยังคงมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีเอส และมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นทั้งหมด
ยืนยัน ควบรวม=แข่งขัน
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT ยอมรับว่า หลังการควบรวมเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 สิ่งที่หนักใจที่สุดคือพนักงาน แต่เมื่อได้ควบรวมกันแล้วพบว่า พนักงานสามารถทำงานร่วมกันได้และรู้สึกพอใจกับแผนการควบรวม เมื่อมีการปรับแผนการควบรวมจากที่บริษัทที่ปรึกษาวางแผนไว้ให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร
รวมทั้งเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยกรร่วมกันทำให้ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน รวมถึงการเจรจายุติข้อพิพาทต่างๆ และการเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาทำงานร่วมกับธุรกิจของ NT ทั้ง 5 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม, กลุ่มบริการระหว่างประเทศ, กลุ่มโทรศัพท์ประจำที่ และบรอดแบนด์ , กลุ่มโทรศัพท์มือถือและกลุ่มบริการดิจิทัล
การควบรวมระหว่าง TOT กับ CAT ทำให้ทรัพยากรด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของ NT มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (ซับมารีน เคเบิล) 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.การถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านความถี่ มีจำนวน 600 MHz 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร ทั่วประเทศ 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก รวมถึงมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่ง
“ทั้งหมดนี้เป็นแต้มต่อสำคัญของ NT ในการใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน สิ่งที่มีอยู่แล้วหากซ้ำซ้อนกันก็ไม่ต้องสร้างใหม่ ให้นำมาใช้ร่วมกัน หรือในพื้นที่ไหนที่มีซ้ำซ้อนกันให้ใช้เป็นทรัพยากรสำรองซึ่งกันและกัน”
ความแข็งแรงของ NT เห็นได้จากธุรกิจด้านมีสายบรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กับธุรกิจด้านไร้สายอย่างบริการ 5G NT เป็นองค์กรที่สามารถให้บริการได้หลากหลายและมีศักยภาพที่เอกชนไม่สามารถมองข้ามได้โดยเฉพาะบริการบรอดแบนด์ซึ่งข้อมูลปี 2564 พบว่า NT มีลูกค้าบรอดแบนด์ จำนวน 1,864,924 พอร์ต แบ่งเป็น NT1 คือ CAT เดิม 236,414 พอร์ต คิดเป็นสัดส่วน 12.68% และ NT2 คือ TOT เดิม 1,628,510 พอร์ต คิดเป็นสัดส่วน 87.32%
น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ 2 องค์กรรวมกันเป็นหนึ่ง ก็ได้เริ่มสำรวจทรัพย์สินร่วมกันและเริ่มทดลองทดสอบการใช้งานโครงข่ายบรอดแบนด์ร่วมกัน ตลอดจนนำมาทดลองใช้ทดแทนกัน
ดังนั้นเมื่อการควบรวมเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการก็เริ่มดำเนินการบูรณาการทรัพย์สินร่วมกันได้ทันที โดยเฉพาะบริการบรอดแบนด์ซึ่งเป็นบริการที่ NT มีความแข็งแกร่งที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายไฟเบอร์ออปติก อุปกรณ์โครงข่าย ทีมช่าง ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้า
NT จึงได้นำร่องเปิด ‘ราชบุรี โมเดล’ ในการผสานเน็ตเวิร์กของทั้ง 2 บริษัทเดิมมาให้บริการกับลูกค้าของ NT ในจังหวัดราชบุรีทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 แห่ง อาทิ รพ.ราชบุรี, ร.ร.ปากท่อพิทยาคม, บริษัท ราชาเซรามิค จำกัดและบริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะขยายการทำงานในรูปแบบนี้ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ‘ราชบุรี โมเดล’ อยู่ภายใต้โครงการ ‘Dual Network Solution’ สำหรับลูกค้าเอกชนและราชการ ซึ่งเป็นการทำงานกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องของทีมบรอดแบนด์ของทั้ง 2 องค์กรเดิมที่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีการเชื่อมต่อโครงข่ายร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ โดยการทำงานของคณะทำงานบรอดแบนด์นี้ได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่ก่อนการควบรวมอย่างเป็นทางการแล้ว
ในการศึกษารูปแบบโครงข่ายและการให้บริการของกันและกันรวมถึงเรื่องมาตรฐานด้านโครงข่าย, อุปกรณ์ตลอดจนมาตรฐานงานติดตั้งและการแก้ไขเหตุเสีย ขัดข้องเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทีมช่างในพื้นที่จ.ราชบุรี ของทั้ง 2 องค์กรเดิมมีการสื่อสารและทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีทำให้เกิดการออกแบบรูปแบบการทำงานร่วมกันว่าตรงส่วนไหนต้องใช้อุปกรณ์หรือโครงข่ายของใครในการเชื่อมต่อให้ลูกค้า เพื่อให้เป็นบริการเนื้อเดียวกันให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด
‘ราชบุรี โมเดล’ จึงนับเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมแรกของ NT หลังจากควบรวมกิจการ และขยายโมเดลนี้ไปทั่วประเทศทำให้บรอดแบนด์ของ NT สามารถแข่งกับเอกชนได้ด้วยโครงข่ายที่มากกว่าแต่ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง
ด้านธุรกิจไร้สาย 5G นั้น NT มี 2 คลื่นความถี่ในมือ คือ คลื่นความถี่ 700 MHz และคลื่นความถี่ 26 GHz ซึ่ง NT ก็ไม่ได้นิ่งเฉยในการเดินหน้าแผน 5G แต่อย่างใด โดยคลื่นความถี่ 700 MHz ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาหาพันธมิตร ซึ่งมีอยู่ 2 รายที่อยู่ระหว่างพิจารณาทั้งทรูและเอไอเอส ในขณะที่คลื่นที่สามารถทำ 5G ได้ทันทีคือคลื่น 26 GHz เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในการให้บริการเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน NT ได้เซ็นสัญญากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เพื่อสร้างบ้านฉางโมเดล จ.ระยอง ให้เป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะสร้างชุมชนให้ปลอดภัยด้วยระบบ CCTV
ด้วยเทคโนโลยี 5G บนคลื่น 26 GHz ของ NT รวมถึงโครงข่ายด้านโทรคมนาคมที่มีครบและมากที่สุด ทำให้ NT มีความได้เปรียบในการผสานเทคโนโลยีเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ รวมทั้ง NT ยังเซ็นสัญญากับ AJA หรือ บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยีจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของ ‘อาลีบาบา คลาวด์’ เป็นเวลา 3 ปี ในการนำโซลูชันหรือแพลตฟอร์ม 5G ของอาลีบาบาที่มีกว่า 200 โซลูชันและใช้งานจริงในประเทศจีนมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทย
กำไร 3 พันล้านบาทหลังควบรวม 1 ปี
ทั้งนี้ผลประกอบการน่าจะเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าทิศทางที่เดินมาถูกต้องมากน้อยแค่ไหน หลังควบรวมเป็น NT เพียง 1 ปี NT มีกำไรสุทธิ 3,142 ล้านบาท โดยรายได้ 12 เดือน (7 ม.ค.-31 ธ.ค.2564) อยู่ที่ 98,254 ล้านบาท รายจ่ายปี 2564 อยู่ที่ 96,066 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายโครงการเกษียณก่อนกำหนดอีก 2,464 ล้านบาท ซึ่งทำให้ NT มีผลประกอบการขาดทุน 276 ล้านบาท แต่ NT รับรู้รายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียม USO (Universal Service Obligation หรือบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม) ปี 2554-2555 จำนวน 3,418 ล้านบาท ทำให้ปี 2564 NT มีกำไรสุทธิ 3,142 ล้านบาท
สำหรับรายได้ปี 2564 จำนวน 98,254 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการให้บริการ 38,156 ล้านบาท รายได้จากพันธมิตร 52,610 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงินและรายได้ 4,178 ล้านบาท รายได้ข้อพิพาท AIS DPC TRUE จำนวน 3,310 ล้านบาท ยังไม่รวมรายได้รับคืนค่าธรรมเนียม USO ปี 2554-2555 จำนวน 3,418 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกันจะทำให้ NT มีรายรับอยู่ที่ 101,672 ล้านบาท
ขณะที่รายจ่ายปี 2564 อยู่ที่ 98,530 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายจากการดำเนินการ 96,066 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายโครงการเกษียณก่อนกำหนด 2,464 ล้านบาท
โดยรายจ่ายจากการดำเนินงาน 96,066 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการ 53,464 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายพันธมิตร 38,438 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่นและภาษีเงินได้ 2,427 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายข้อพิพาท AIS DPC TRUE จำนวน 1,737 ล้านบาท
เมื่อมองกรณี NT แล้วย้อนกลับมาดู กรณีของดีลประวัติศาสตร์ทรูดีแทคแม้ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจไปได้ข้อสรุปที่ศาล เพราะต่างมีไทม์ไลน์ของตัวเอง กรณีทรูหากกสทช.ไม่มีมาตรการอะไรออกมาภายในเดือนพ.ค.ก็อาจฟ้องแน่ เพราะทรูถือว่าทำตามขั้นตอนการควบรวมตามกฎหมายในขณะฝ่ายที่เห็นต่างหาก กสทช.อนุมัติให้ควบรวม ก็อาจถูกฟ้องม.157 ฐานละเว้นปฎิบัติก็มีความเป็นไปได้สูง
แต่หากมองในเชิงการควบรวมเพื่อนำไปสู่การเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ จุดที่เหมือนกันระหว่างกรณี TOT ควบรวม CAT กับ ทรู ควบรวม ดีแทค นั่นก็คือ สถานะก่อนที่จะควบรวมต่างมีภาวะการทำธุรกิจที่ยากลำบาก ต้นทุนสูง หรือ กระทั่งฐานะรายได้ขาดทุน (ดูอินโฟกราฟฟิกประกอบ)
เปรียบเทียบกับ ผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งทุกด้าน ศักยภาพการแข่งขันเป็นที่เข้าใจได้ว่า หากไม่รวมกันจะยิ่งอ่อนแอลง และ ยิ่งมองไปถึงอนาคตอันใกล้ที่เข้าสู่ยุค 6G ธุรกิจโทรคมนาคมของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้ประกอบการไทยที่แข็งแกร่งมากกว่า1รายอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องหมายความรวมไปถึง NT และ อาจจะหมายถึง True -Dtac หลังควบรวม
แน่นอนว่า แม้ทรูจะควบรวมกับดีแทคได้สำเร็จ ในแง่ของศักยภาพต้องยอมรับความจริงว่า ช่องว่างของผู้นำตลาดยังคงมีอยู่ ซี่งการจะไล่ตามให้ทันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าจะวิเคราะห์กันถึงผู้นำตลาดอย่าง AIS วันนี้ หนึ่ง ความแข็งแกร่งในด้านการปฎิบัติการที่เป็น ”single command” สอง มีต้นทุนการทำธุรกิจที่ต่ำกว่า สาม สภาพคล่องดีกว่า สี่ ทรูและดีแทคต้องใช้เวลาหล่อหลอมปฏิบัติการที่กว่าจะเดินหน้าเต็มสูบก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปี
เพราะฉะนั้น เป็นความได้เปรียบความด้านความพร้อม ทั้งในเรื่องต้นทุนการดำเนินงาน-ของผู้นำตลาดที่พร้อมจะโกอินเตอร์ ขณะที่ทรูและดีแทคต้องแบกรับภาระในการปรับตัวเพื่อก้าวตาม
ทว่า การแข่งขันเช่นนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาซึ่งกันและกันทั้งผู้นำและผู้ตามในการก้าวไปสู่ การเพิ่มโอกาส เพิ่มศักยภาพเพื่อแข่งขันกับตลาดต่างประเทศในระดับที่ สิงเทล หรือ สิงคโปร์เทเลคอมมูนิเคชั่นส์ หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง เทเลนอร์ ของนอร์เวย์ ทำอยู่
ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง ที่มีการคัดค้านมองในแง่ของจำนวนผู้ใช้บริการของทั้งทรูและดีแทครวมกันส่งผลต่อสัดส่วนของตลาด และจำนวนของผู้ประกอบธุรกิจ
แม้แต่ทางการเมืองหากจะให้เกิดสมดุลยังต้องมีขั้วการเมืองรึพรรคขนาดใหญ่สองขั้วที่แข่งขันกันได้อย่างสูสี ไม่ใช่มีพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียวส่วนพรรคเล็กๆ อื่นๆ แทบไม่มีความหมายอะไร ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ดังนั้นโจทย์ที่ กสทช. จะต้องตีให้แตกนอกจากเรื่องของข้อกฏหมายแล้วจึงต้องเข้าใจป่าทั้งป่า เข้าใจธุรกิจโทรคมนาคมอย่างถ่องแท้ และต้องมองข้ามไปถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง 6G และที่สำคัญมีวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจโทรคมนาคมของไทยไม่ใช่เพียง ณ ปัจจุบันนี้ หากแต่เชื่อมต่อไปถึงยุทธศาสตร์แห่งชาติอย่างไร
…….
(โปรดติดตาม ตอนต่อไปได้ในวันจันทร์หน้า)