Facebook แจงโฆษณา จัดการเนื้อหา ช่วงเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

แม้กำหนดที่ชัดเจนของวันเลือกตั้งใหญ่ 2562 จะยังไม่ออกมา แต่ที่ผ่านมาก็พบเห็นการหาเสียงเลือกตั้งขึ้นมาบ้างแล้ว ทั้งในนามของพรรคการเมืองและผู้สมัครส่วนบุคคล โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Twitter

เหตุที่มุ่งเข้าไปในทั้ง 2 แพลตฟอร์ม เพราะต้องการเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกประมาณ 7-8 ล้านคน แน่นอนการจะเข้าไปหากลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ต้องมุ่งไปยังพื้นที่ที่เข้าอยู่อย่างโซเชียลมีเดีย จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เม็ดเงินโฆษณาหลักๆ จะอยู่ในช่องทางนี้

เพื่อเป็นแนวทางในการหาเสียง กกต. หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกข้อกำหนดให้พรรการเมือง ต้องแจ้ง กกต. ถึงบัญชีที่จะใช้ในการหาเสียงในช่องทางออนไลน์ทั้งหมด

โดยพรรคต้องรับผิดชอบข้อมูลข้อความในการโฆษณาซึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง (ที่มา : https://mgronline.com/daily/detail/9610000124627) ซึ่ง กกต. อาจจะต้องวอร์รูมขึ้นมาติดตาม

ก่อนหน้านี้ ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI ให้สัมภาษณ์กับ Positioning ว่า แต่ละแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดีย ได้แจ้งความชัดเจนเรื่องการรับลงโฆษณา ดังนี้

โดย Facebook รับในทุกรูปแบบ, Line รับทุกรูปแบบเหมือนกัน แต่ถ้ามีข้อความที่พิจารณาแล้วล่อแหลม จะถอดออกเลยโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ส่วน Google และ Youtube ไม่รับโปรโมตทุกรูปแบบ ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะในไทย นโยบายนี้ใช้กันทั่วโลก ยกเว้นที่อเมริกาแห่งเดียว

ล่าสุดได้มีความคืบหน้าจากตัวเจ้าของแพลตฟอร์มเองแล้วโดย “Facebook” ซึ่งแต่ละเดือนมีผู้ใช้งาน 52 ล้านคน บอกว่า ได้เข้าหารือกับ กกต. บ้างแล้วเรื่องข้อกำหนดในการหาเสียง แต่เป็นการหารือในมุมกว้าง ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เพราะยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน

เคธี ฮาร์บาธ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองระดับโลกและการประสานงานภาครัฐของ Facebook อธิบายต่อว่า สำหรับเครื่องมือการซื้อโฆษณา หรือ บูสต์โพตส์สามารถใช้ได้ทุกเครื่องมือ ขอแค่ไม่ละเมิดข้อกำหนดของ กกต.

ขณะเดียวกัน Facebook ก็ได้วางมาตรการป้องกันทั้งไม่อนุญาตให้คนที่อยู่ต่างประเทศ บูสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องเรื่องการเมือง, คอยมอนิเตอร์เพจที่มีการเปลี่ยนชื่อในภายหลัง แล้วเปลี่ยนไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นต้น โดยการลงโทษมีตั้งแต่ลดจำนวนการมองเห็นในหน้าฟีด ไปจนถึงลบบัญชีผู้ใช้งาน

ภายในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ Facebook ได้เตรียมนำเครื่องมือใหม่มาใช้ โดยจะเปิดเผยถึงรายละเอียดของการโฆษณาที่มากกว่า ที่โชว์อยู่ในฟังก์ชันการโฆษณาของเพจที่แจ้งอยู่ตอนนี้แล้ว เช่น การเปิดเผยถึงจำนวนเงินที่ใช้, ใครเป็นผู้สนับสนุนจ่ายเงินโฆษณาชิ้นนั้นๆ และจำนวนผู้เข้าถึงมีอยู่เท่าไหร่ เป็นต้น

Facebook ไม่แน่ใจว่าเครื่องมือนี้ประเทศไทยจะได้ใช้ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะถึงนี้

นอกจากนั้น Facebook ได้แจง 5 มาตรการดูแลเนื้อหาช่วงเรื่องเลือกตั้ง

1. กวาดล้างบัญชีผู้ใช้ปลอม (Cracking Down On Fake Accounts)

Facebook ใช้ AI ในการตรวจสอบซึ่งได้ผลถึง 99.6% และยังมีคนอีก 30,000 คนในการช่วยดู ซึ่งการใช้คนจะช่วยกรองความผิดพลาด เพราะในแต่ละประเทศบริบทก็จะไม่เหมือนกัน

2. ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม (Reducing The Distribution Of False News)

Facebook จะพยายามให้โพสต์จากคนใกล้ดูขึ้นหน้าฟีดก่อน โดยทำนายจากการกดถูกใจและการมีส่วนร่วมในโพสต์ ส่วนเพจไหนที่มีเนื้อหาสุมเสี่ยงก็จะมีการลดการมองเห็น ไปจนถึงการแบนบัญชี

ในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2018 Facebook ได้ปิดบัญชีปลอมจำนวน 754 ล้านบัญชี ซึ่งบัญชีส่วนใหญ่มาจากการโจมตีแบบสแปม ที่มีแรงจูงใจในการแสวงหาผลกำไร

3. ทำให้โฆษณาโปร่งใสมากขึ้น (Making Advertising More Transparent)

โดยจะแสดงข้อมูลให้เห็นในเพจเลยว่ามีโพสต์ไหนบ้างที่ถูกบูสต์ และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร หรือเพจที่มีการเปลี่ยนชื่อภายหลังและเปลี่ยนลักษณะการโพสต์ไปเลย

4. ยับยั้งการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์ม (Disrupting Bad Actors)

ตรวจสอบพฤติกรรมเสี่ยงและการแทรกแซงที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ เช่นเพจที่แสดงเนื้อหาในประเทศหนึ่งแต่แอดมินอยู่อีกประเทศหนึ่ง

5. สนับสนุนการให้ข้อมูลในช่วงเลือกตั้ง (Supporting An Informed Electorate)

พยายามให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แจ้งข้อมูล สถานที่ในการเลือกตั้ง เป็นต้น