สมาคมความร่วมมือทางการเงินแห่งเอเชีย (Asian Financial Cooperation Associationหรือ “AFCA”) ประกาศมาตรฐาน QR Code ที่นำเสนอโดยผู้ประกอบการ (Merchant-Presented QR Code) ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าและบริการโดยใช้อุปกรณ์มือถือสแกน QR Code ในงานพิธีจัดตั้ง “คณะกรรมการความร่วมมือด้านฟินเทค”(FinTech Cooperation Committee) อย่างเป็นทางการในประเทศสิงคโปร์
AFCA เป็นองค์กรเอกชนระดับภูมิภาคที่ไม่แสวงหากำไร ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นสถาบันการเงิน สมาคมอุตสาหกรรมการเงิน หน่วยงานบริการด้านวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเงินจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย
มาตรฐาน QR Code ใหม่ที่นำเสนอโดยผู้ประกอบการนี้จะกำหนดกระบวนการด้านธุรกรรมการเงิน รูปแบบข้อมูล และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของไคลเอ็นต์ซอฟต์แวร์สำหรับ QR Code ซึ่งจะเปิดตัวต่อไปเป็นลำดับในกลุ่มสมาชิก AFCA
นาย หยาง ไซปิง เลขาธิการสมาคม AFCA กล่าวว่า “มาตรฐานใหม่นี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบชำระเงินผ่านมือถือในภูมิภาค ขณะที่เรากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Community เราเชื่อว่าการผลักดัน QR Code ที่ผู้ประกอบการนำเสนอนั้นจะช่วยตอกย้ำความมุ่งมั่นของสมาชิกในการสนับสนุนนวัตกรรมและมาตรฐานเทคโนโลยีการชำระเงินผ่านมือถือ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ผู้บริโภค และช่วยให้สมาชิกของเราให้ความสำคัญกับการสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มได้อย่างเต็มที่”
มาตรฐานนี้จะใช้ในการพัฒนา การดำเนินการ การจัดการ การดูแลระบบชำระเงินและบริการเสริมต่างๆโดยใช้ QR Code
การจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือด้านฟินเทค (FTCC) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 60 รายจากประเทศและภูมิภาคต่างๆ มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของ AFCA ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดกว้าง การไม่แบ่งแยก การบริหารงานร่วมกันตามหลักธรรมาภิบาล และการได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
คณะกรรมการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสร้างแพลตฟอร์มในการสื่อสารผ่านด้านเทคโนโลยี การทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค รวมถึงการปรึกษาหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อจำกัดของพรมแดน ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านฟินเทคที่เหมาะสม และเร่งการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือและมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับฟินเทค
เกี่ยวกับสมาคมความร่วมมือทางการเงินแห่งเอเชีย (AFCA)
การดำเนินงานของ AFCA ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย ภายใต้หลักปรัชญาว่าด้วยการเปิดกว้างและการไม่แบ่งแยก โดยหลักแล้ว สมาชิกของ AFCA ประกอบด้วยสถาบันการเงิน สมาคมอุตสาหกรรมการเงิน หน่วยงานบริการด้านวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินและผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียก็สามารถเข้าร่วมกัน AFCA ได้เช่นกัน จนถึงปัจจุบัน มีสถาบันการเงินกว่า 110 แห่งจาก 27 ประเทศในเอเชีย อเมริกา ยุโรป แอฟริกา และโอเชเนีย ได้เข้าร่วมกับ AFCA ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง โดยครอบคลุมหลายภาคส่วน เช่น ธุรกิจธนาคาร การรักษาความปลอดภัย ประกันภัย กองทุน การบริหารสินทรัพย์ การศึกษาด้านการเงิน บริการด้านการเงิน และภาคธุรกิจอื่นๆ สถาบันและผู้เชี่ยวชาญในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ที่พร้อมจะปฏิบัติตามกฎระเบียบของ AFCA ก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ AFCA ได้เช่นกัน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: http://www.afca-asia.org
Related