ธนาคารเอชเอสบีซีเผยปัจจัยท้าทายทั่วโลกบีบให้แผนบูรณาการของอาเซียนเดินหน้าเร็วขึ้นในปี 2562

ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเอชเอสบีซี แสดงทัศนะว่าภัยเสี่ยงจากปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเป็นแรงขับให้อาเซียนจำเป็นต้องผลักดันวาระการปฏิรูปอย่างจริงจังมากขึ้นในปี 2562

ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” มองภาพอาเซียนในเชิงบวกโดยมุ่งให้ความสำคัญในหลายด้าน

นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์โลกในปีนี้กำลังดำเนินไปในลักษณะที่สะท้อนจากหัวข้อข่าว อาทิ ตลาดวิพากษ์วิจารณ์การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัว การมีข้อตกลงจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit deal) หรือการถอนตัวโดยไร้ข้อตกลง (no deal) การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจากความไม่แน่นอนทางด้านภาษีการค้า และราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวไม่ผันแปรตามปัจจัยแวดล้อม”

“ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา อาเซียนยังเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปิดกว้างและมีศักยภาพเชิงบวกที่สุดในโลก และในปี 2562 นี้อาเซียนมีโอกาสจะสร้างจุดเด่นให้ตนเองมากขึ้นด้วยการผลักดันการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องและแสวงหาการเปิดกว้างที่เพิ่มขึ้น”

ธนาคารเอชเอสบีซีมองว่าเรื่องที่อาเซียนควรจะให้ความสำคัญในปี 2562 มีดังนี้

1) เพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเพื่อชดเชยการชะลอตัวของการค้าโลก

เศรษฐกิจอาเซียนสามารถชดเชยผลกระทบจากการค้าที่ชะลอตัวลงได้บ้าง หากการเปลี่ยนวิถีห่วงโซ่อุปทานที่ถกเถียงกันอย่างมากย้ายจากจีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจริงขึ้นมา แต่การเพิ่มความสะดวกในการไหลเวียนสินค้าและบริการทั่วอาเซียนจะทำให้การเปลี่ยนวิถีห่วงโซ่อุปทานนี้แพร่กระจายเป็นวงกว้างขึ้น

ทั้งนี้ มีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ

  • การเตรียมออกโครงการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-Certification scheme) ซึ่งได้อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีสิทธิสามารถรับรองถิ่นกำเนิดของการส่งออกได้ด้วยตนเอง

  • ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งได้นำมาใช้ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2561 ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนสินค้าระหว่างประเทศลดลงจาก 5-10 วันเหลือเพียง 1 วัน

แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นเพื่อทำให้การไหลเวียนของสินค้าและบริการทั่วอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งการผลักดันให้นำระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ทำให้ต้นทุนและระยะเวลาดำเนินการด้านศุลกากรเป็นมาตรฐานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้ที่มีทักษะทางวิชาชีพอย่างเสรีทั่วภูมิภาค

2) ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น

การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคหลังวิกฤติการเงินโลกฟื้นตัวดีขึ้น แต่จำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศที่คาดว่าห่วงโซ่อุปทานจะเติบโตในอนาคตให้มากขึ้น อย่างเช่นไทย อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์

แน่นอนว่าแม่แรงสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนเข้าสู่อาเซียนอย่างกว้างขวางขึ้น ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่สมเหตุสมผล สถาบันการเงินที่มีเสถียรภาพ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น อุปสรรคทางภาษีและการนำเข้าสินค้าสำหรับปัจจัยการผลิตที่ลดลง และทักษะฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น

ส่วนแนวทางเพิ่มเติมที่จะส่งเสริมแรงดึงดูดการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถดำเนินการผ่านความตกลงการค้าเสรี อันได้แก่

  • เปิดรับสมาชิกใหม่เข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้

  • เร่งหาข้อสรุปการเจรจาความตกลงใหม่ อย่างเช่นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป

  • ปรับปรุงความตกลงการค้าที่มีอยู่แล้วกับความตกลงการค้าเสรีฮ่องกงและจีน

3) การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล

การขยายการเชื่อมโยงทางดิจิทัล (Digital Connectivity) และเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อสนับสนุนฐานลูกค้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของอาเซียนสามารถพลิกเกมและเปลี่ยนอนาคตได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงศักยภาพห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนและเพิ่มแรงดึงดูดบริษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจให้เข้ามาลงทุน

แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนปี 2568 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ระบุว่าน่าจะมีการอัดฉีดเงินทุนประมาณ 220-650 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่อาเซียนภายในปี 2573 เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่และเศรษฐกิจดิจิทัล

สมาชิกอาเซียนได้ลงนามความตกลงทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม การผลักดันความตกลงดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึง

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค

  • การผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายธุรกิจระหว่างประเทศ

  • ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อปลูกฝังความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและรัฐบาล

4) ผลักดันสู่อาเซียนที่ยั่งยืน

ความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับอาเซียนมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะของเหตุการณ์ทางธรรมชาติมากกว่ามาจากฝีมือมนุษย์ เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีโอกาสประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก ทั้งยังถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากด้านสภาพอากาศแล้ว การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองบ่งชี้ว่าภายในปี 2573 ประชากรกว่า 100 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอพยพเข้ามาอาศัยในเขตเมือง โดยมีความต้องการอย่างมหาศาลในทรัพยากรด้านอาหาร สุขอนามัย และโครงสร้างพื้นฐาน

เรื่องที่มุ่งเน้นเพื่อผลักดันไปสู่อาเซียนที่ยั่งยืน รวมถึง

  • พัฒนากรอบแนวคิดและมาตรฐานด้านสิทธิประโยชน์ในระดับภูมิภาค (เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการให้คำปรึกษาด้านการเงินและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อสีเขียวหรือออกพันธบัตรสีเขียว) ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุน และนำไปสู่การเป็นเครื่องมือทางการเงินที่น่าสนใจสำหรับองค์กรธุรกิจ

  • ขับเคลื่อนแนวคิดเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ซึ่งริเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2561 ไปสู่โครงการเมืองอัจฉริยะครอบคลุมเมืองนำร่อง 26 แห่ง

  • ร่วมมือกับจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนหมายมั่นให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายสำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพเชิงธุรกิจและมีความโปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดอุปสงค์เพื่อการพาณิชย์ และนำไปสู่การบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน

นายแทน กล่าวสรุปว่า “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรก ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีภายใต้การนำของไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยที่ประชุมสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องในหลายประเด็นสำคัญซึ่งได้หยิบยกขึ้นมาหารือ เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค แน่นอนว่าการบูรณาการอย่างต่อเนื่องของอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญภายใต้สถานการณ์โลกที่ท้าทายของปี 2562 องค์กรธุรกิจต่าง ๆ กำลังเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น กระตุ้นการลงทุนระหว่างประเทศ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ดังนั้น การบรรลุเป้าหมายการปฏิรูป การบูรณาการ และการเปิดกว้างที่เพิ่มขึ้นในปี 2562 จะช่วยให้อาเซียนสามารถระดมทุนและสร้างเกราะกำบังตนเองจากกระแสโลกที่มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า”