AIS พร้อมแล้ว 5G แต่ “ไม่รีบ”

Thanatkit

“5G” กำลังเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนรวดเร็วไปมากกว่า “4G” ซึ่งไม่ใช่แค่ในฝั่งของผู้บริโภคเท่านั้น ในฝั่งของโอเปอเรเตอร์ก็กำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง “5G” เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะกับเอไอเอสในงานประกาศวิชั่น “AIS VISION 2019” นำเทคโนโลยี 5G มาจัดแสดงเพื่อชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยี 5G จะพลิกเมืองไทยในวันนี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของผู้บริโภคและธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงโทรคมนาคมอย่างเดียว เช่น รถยนต์ไร้คนขับ, AR VR และ IoT

เพียงแต่ในมุมมองของสมชัย เลิศสุทธิวงค์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส อยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยี 5G และการลงทุนจะมีขึ้นแน่นอนในอนาคต แต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมืองไทยพร้อมสำหรับการมี 5G จริงๆ แล้วหรือยัง? ด้วย 5G จะมาพร้อมกับเม็ดเงินลงทุนที่ต้องใช้มหาศาล

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส

อย่างกรณีของ 3G – 4G เอไอเอสใช้เงินกับค่าใบอนุญาตกว่า 144,000 ล้านบาท และใช้เงินพัฒนาโครงข่ายกับเทคโนโลยีอีก 197,000 ล้านบาท ซึ่ง 5G ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชัดถึงความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะแม้แต่ใน 4 ประเทศขนาดใหญ่ในโลกทั้ง จีน เกาหลีใต้ อเมริกา ญี่ปุ่น ที่ต่างประกาศปักหมุด 5G เรียบร้อย ยังมีเพียงแค่ 2 ประเทศแรกเท่านั้นที่ประกาศทดลองให้บริการ เชิงพาณิชย์” ในเดือนมิถุนายน 2019

สมชัยบอกว่า สิ่งที่อยากให้มองจาก 4 ประเทศนี้มี 2 เรื่องด้วยกัน

  1. ทั้ง 4 ประเทศที่ประกาศสนใจ 5G โอเปอเรเตอร์ต่างได้คลื่นความถี่ฟรี หรือบางประเทศเปิดประมูลก็อยู่ในราคาที่ไม่แพง หลัก 100 ล้านบาท ไม่ใช่หลักหมื่นล้านบาทอย่างที่ทุกคนเข้าใจกันว่า คลื่นความถี่มีค่ามหาศาลขนาดนั้น เพราะคลื่นความถี่คือเครื่องมือที่โอเปอร์เรเตอร์จะต้องลงทุนอีกมากมาย เพื่อสร้างเน็ตเวิร์กให้ 5G สมบูรณ์ที่สุด
  2. เหตุที่ต้องสนใจ 5G เพราะรัฐบาลคิดว่า 5G ไม่ได้ผลักดันแค่โลกดิจิทัล แต่มีประโยชน์ที่จะทำอะไรใหม่ๆ เยอะแยะอีกมากมาย แต่ไม่ใช่วันนี้เพราะยังไม่มี “Business Case” ในการที่ 5G จะตอบผลทางธุรกิจได้เลย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือ IoT ในโลกนี้ยังไม่เกิดขึ้น

แต่ประเทศเหล่านี้จำต้องลงทุนทำ 5G อย่างจีนและเกาหลีใต้ เพราะอยู่ในฐานะผู้ผลิตที่ต้องรีบทำออกมา เพราะเมื่อใช้งานในประเทศของตัวเองแล้ว ก็สามารถนำออกไปขายไปต่างประเทศ อย่างแบรนด์หัวเว่ยและซัมซุง เมื่อพัฒนา 5G แล้ว ก็สามารถขายโทรศัพท์มือถือใหม่ๆ อเมริกาก็มีผู้ผลิตชิปเซตอย่างควอลคอมม์ และญี่ปุ่นก็หวังอย่างยิ่งให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับครองตลาด ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกรัฐบาล พยายามผลักดันให้โอเปอเรเตอร์ทำ 5G

ที่ผ่านมาไอไอเอสได้เข้าไปพูดคุยกับผู้พัฒนาเครือข่ายหลายๆ รายที่เป็นพันธมิตร เพื่อสอบถามถึงการลงทุน 5G ส่วนใหญ่จะให้คำตอบว่านับจากนี้ไปอีก 3 ปี ค่อยมาคิดว่าควรจะทำหรือไม่ทำ เพราะปัจจุบัน 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

เมืองไทยเสียเวลาและโอกาสมี 3G ช้ามาครั้งหนึ่งแล้ว ต้องรอถึง 18 ปี จึงไม่อยากให้เมืองไทยติดกับดักการมี 5G ที่เร็วเกินไปกับเทคโนโลยีบ้านเราในตอนนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า AIS จะไม่ทำ 5G เราต้องศึกษา ทดสอบ ทดลอง แต่ต้องติดตามเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้นไป

โดยวันนี้เอไอเอสได้ประกาศปล่อยสัญญาณทดสอบ 5G ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ตั้ง “5G Garage Innovation LAB” ณ อาคารวิศวฯ ๑๐๐ ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงนักพัฒนาเป็นพื้นที่ทดลอง ทดสอบ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม 5G โดยไอเอเอสได้รับอนุญาตจาก กสทช. ให้ทดสอบเป็นเวลา 2 ปี (2019 – 2020)

นอกจากเอไอเอสแล้ว ทรูก็เป็นอีกค่ายที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ให้ทดสอบ 5G เช่นเดียวกันในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรูได้ตั้ง “TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center” ไว้ที่อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วย

หลังจากนี้ทั้ง 2 ค่ายจะได้ขยายพื้นที่ทดสอบออกไปครอบคลุม สยามสแควร์ ก่อน ภายในเดือนมีนาคมจะมีการปล่อยสัญญาณ 5G ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจ EEC ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส ให้ความเห็นเพิ่มเติมการจับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการทดสอบในพื้นที่สยามสแควร์มีความสำคัญ ในแง่ของสยามสแควร์ถือเป็นเมืองขนาดเล็ก ทำให้สามารถเห็นทิศทางของการใช้งาน และเศรษฐกิจจะเติบโตไปในทิศทางไหน

ปรัธนา ให้ความเห็นอีกว่า การให้ทดสอบก่อนของ กสทช. ถือว่ามาถูกทางแล้ว คือ ลองใช้ก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะหากทุ่มเงินก้อนใหญ่แล้วยังไม่พร้อม ก็ต้องทิ้งร้างไปนานซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ และแม้จะยังไม่มา แต่โอเปอเรเตอร์จำเป็นต้องเตรียมให้โครงข่ายหลักสามารถรองรับได้ 100% ในแง่ของสายสัญญาณควรเตรียมก่อนเวลา ส่วนการส่งสัญญาณต้องรอไปก่อน

ปัจจัยสำคัญที่เมืองไทยจะพร้อมมี 5G คือ มี Business Case ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในวงการที่กว้าง นอกเหนือจากโครงข่าย อุปกรณ์ที่สามารถใช้ 5G ได้ก็ต้องสามารถหาซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม คาดต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีถึงจะพร้อม ส่วนปีนี้อาจจะเห็นสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G เข้ามาเมืองไทยประมาณ 1-2 รุ่น

ประโยชน์ที่แท้จริงของ 5G ไม่ใช่เพื่อการใช้งานสมาร์ทโฟน เพราะความเร็วของ 4G ในวันนี้เพียงพอต่อการใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ แล้ว ประโยชน์จริงๆ จึงอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากกว่า เช่น การใช้งาน 4G สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ราว 1 แสนชิ้น แต่ 5G มากถึงล้านชิ้นต่อตารางเมตร 

ขณะเดียวกัน แม่ทัพใหญ่เอไอเอส ได้ฉายภาพปี 2018 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจริงๆ โทรคมนาคมถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกดิจิทัล ผู้บริโภคไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน เพื่อการติดต่อสื่อสารอย่างเดียวแล้ว แต่หันมาใช้ทำงานหรือธุรกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นบนสมาร์ทโฟน

ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้บริโภคที่เข้าถึงและใช้งาน 4G ได้กลายเป็นสัดส่วนหลักไปแล้วประมาณ 65-70% ของจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์ในปี 2018 ที่ผ่านมากว่า 90 ล้านเลขหมาย โดยใช้เวลาแซงหน้า 3G ภายระยะเวลา 3 ปี

ส่วนการใช้งานฟิกซ์บรอดแบนด์ จากการกระตุ้นของผู้ให้บริการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจาก ADSL มาเป็น Fibre ความเร็วของอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มจาก 8 Mbps เป็น 50 Mbps โดยจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 9.1 ล้านราย มีการใช้งาน Fibre เป็นสัดส่วนหลักแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากเทคโนโลยีแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภค ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หันมางานดาต้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบการใช้งานปี 2018 กับปี 2017 พบมีการใช้งานดาต้าเติบโตถึง 60% หรือจาก 7.3 GB เป็น 11.6 GB ต่อเดือน และจำนวนการใช้เวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน ได้เพิ่มจากเฉลี่ย 3 ชั่วโมงเป็น 6 ชั่วโมงแล้ว

แนวโน้มพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทำให้เอไอเอสซึ่งได้ประกาศเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก โมบาย โอเปอเรเตอร์ ไปสู่ ดิจิทัล เซอร์วิส โพรไวเดอร์ วางแผนพัฒนาในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต้องสร้าง ดิจิทัล แพลตฟอร์มสำหรับคนไทยขึ้น

โดยให้ความสำคัญใน 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ “Big Data” เตรียมตั้งทีม Data Analytics ขึ้นมาอีกหนึ่งทีม เพื่อนำ Data ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์สำหรับธุรกิจไปแล้ว มาทำให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง ก่อนหน้า Data Analytics เป็นเพียงการวิเคราห์พฤติกรรมลูกค้า 41 ล้านคนของเอไอเอส ว่าต้องการอะไรบ้าง หากปี 2019 จะเป็นการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

วันนี้เอไอเอสมีคอนเนกชั่น และฐานลูกค้า 41 ล้านราย แต่ที่ผ่านมาได้จำกัดฐานลูกค้าไว้สำหรับเอไอเอสเท่านั้น ในปีนี้เป็นต้นไปจะเปิดฐานลูกค้าให้กับทุกอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด

อีกส่วนคือไซเบอร์ ซีเคียวริตี้กำลังเพิ่มเข้ามาดูให้ความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และเติมเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้ง AI AR/VR บล็อกเชน หุ่นยนต์ เข้าไปด้วย

นอกจากนั้นในปี 2019 ไอไอเอสได้วางแผนทำอีก 2 โครงการได้แก่ AIS Green ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาร่วมกันเก็บขณะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยได้ตระหนัก และ Cyber Wellness การให้ความรู้เรื่อง ความอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ DQ – Digital Intelligence Quotient แก่สู่เยาวชน.