“คนไทย” ยืนหนึ่งไม่แพ้ชนชาติใดในโลก เรื่องการฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟน ผลสำรวจระบุ มีถึง 93% ในจำนวนนี้คนอายุกว่า 24 ปีถึง 96% นิยมฟังผ่านสมาร์ทโฟน แซงหน้าภาพรวมของโลกที่มีราว 75% เท่านั้น
พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็น “ขุมทรัพย์” ที่เหล่ามิวสิกสตรีมมิ่งหลากหลายสัญชาติต่างกรีธาทัพเข้ามาทำสงคราม ที่คุ้นหน้าค่าตาพอนับได้อยู่ 3 ค่ายด้วยกันได้แก่ “JOOX” ในเครือเทนเซ็นต์ (Tencent) จากจีนแผ่นดินใหญ่ อาศัยจุดแข็งมิวสิกคอนเทนต์ใหม่ๆ และ MV มาดึงคนฟัง
“Spotify” มีประสบการในมิวสิกสตรีมมิ่งโลกกว่า 10 ปี ระบบการจัดเพลย์ลิสต์ เน้นความหลากหลาย และยังเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้และช่วยในการจัดเพลย์ลิสต์อัตโนมัติ ในขณะที่ “AppleMusic” ความง่ายในการเข้าถึงของผู้ใช้สินค้าในตระกูล iOS และคลังเพลงในมือมากกว่า 40 ล้านเพลง
แต่ละแบรนด์ก็มีจุดแข็งที่กินกันไม่ลง มีแนวโน้มแข่งขันที่รุนแรงได้ หาก “กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย กลับฉายภาพที่สวนทางว่า
“มิวสิกสตรีมมิ่งยังเป็น Blue Ocean การแข่งขันไม่ได้รุนแรงมากนัก เพราะการมีผู้เล่นหลายรายจะได้เข้ามา Educate คนไทยให้เลิกฟังเพลงจากการเสียบแฟลชไดรฟ์และซีดีเถื่อน มาฟังเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์”
ราคาคงไม่ “ลด” เพราะลงแล้วขึ้นยาก
แม้จะมองว่าเป็น “Blue Ocean” แต่โจทย์ที่ท้าทายเหล่าผู้เล่นในสังเวียนมิวสิกสตรีมมิ่ง คือการที่คนไทยยังคุ้นชินของ “ฟรี” ไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อฟังเพลง แม้แต่ละรายจะมีราคาเริ่มต้นเพียงเดือนละ 129 บาท เทียบเท่าราคาของกาแฟ 1 แก้วเท่านั้น
สะท้อนจากฐานผู้ใช้งาน JOOX ที่แอคทีฟราว 10 ล้านราย เท่ากับฮ่องกงที่เป็นตลาดหลัก ซึ่งมีไม่ถึง 10% ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อเป็น VIP ฟังเพลงได้ทั้งหมดแบบไม่ติดโฆษณา แม้รายได้ปีที่ผ่านมาเติบโต 100% จะมาจากตรงนี้คิดเป็นสัดส่วน 50% ที่เหลือมาจาก Media Partner อีกราว 30 รายก็ตาม
“กฤตธี” ยืนยัน JOOX ไม่มีแผน “ลดราคา” เพื่อดึงคนฟังให้ยอมขยับเป็น VIP เพิ่ม เพราะหากลงแล้วจะกลับมา “ขึ้นราคา” อีกเป็นไปได้ “ยาก” วิธีที่ JOOX ทำจึงแบ่งแพ็กเกจออกให้เลือกหลากหลายทั้งรายวัน สัปดาห์ และรายเดือน รวมถึงการทำโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งวิธีนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ยอมเสียเงินเพิ่มมากขึ้น ในระหว่างการทำโปรโมชั่น
ส่วนแพ็กเกจแบบครอบครัว ซึ่งจะทำให้ราคาต่อแอคเคาท์เฉลี่ยแล้วถูกลง เหมือนรายอื่นๆ ทั้ง Spotify -AppleMusic ที่มีกันอยู่ ผู้บริหาร JOOX ให้ความเห็น อาจ “เป็นไปได้” ที่จะทำ แต่ยังไม่ยืนยันในตอนนี้
“ศิลปินหน้าใหม่”
ปี 2018 มียอดสตรีมกว่า 3 พันล้านครั้งบน JOOX เติบโตกว่า 50% โดยมิวสิกคอนเทนต์ใหม่ๆ และ MV เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ฟัง ซึ่งตัวแปรที่ขาดไม่ได้คือ “ศิลปินหน้าใหม่” จากหลากหลายแนวเพลง ถือว่าบทบาทสำคัญอย่างมากบนแพลตฟอร์มของ JOOX
นั้นเพราะหนึ่งในพฤติกรรมของคนฟัง ที่มาพร้อมกับการเติบโตของมิวสิกสตรีมมิ่ง คือการที่คนฟังรู้จักแต่เพลง ไม่ได้รู้จัก “นักร้อง” เพลงจึงต้องมีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่หน้าตา จึงกลายโอกาสแจ้งเกิดกับศิลปินหน้าใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีการฟังเพลงกว่า 80 ล้านครั้ง
ทีมงานของ JOOX จะเสาะหาเพลงใหม่ๆ ฟังตามแพลตฟอร์ม หากชื่นชอบค่อยมาโหวตกัน แล้วค่อยติดต่อให้นำเพลงมาขึ้นใน JOOX ผ่าน “JOOX Spotlight” และเมื่อมีแนวโน้มความนิยมเพิ่มขึ้น ก็จะมีการให้ทุนไปทำเพลงเพิ่มหรือ MV ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการเพิ่มคอนเทนต์ของ JOOX เองด้วย
ฟากศิลปินหน้าใหม่ก็จะมีรายได้นับจากการฟังต่อ 1 วิว นอกจากนี้ยังได้จัดคอนเสิร์ตเพลงอีกราว 35 ครั้งเพื่อนำศิลปินหน้าใหม่ออกไปให้คนฟังได้รู้จัก เป็นการเพิ่มฐานแฟนเพลงไปในด้วย
ถึงเวลาลุยขุมทรัพย์ “ภูธร”
เป้าหมายของ JOOX ปี 2019 ต้องการเพิ่มฐานผู้ใช้งานเป็น 12 ล้านราย ซึ่ง JOOX กำหนดไว้ 3 แนวรบ
แนวรบแรก เจาะกลุ่ม “ต่างจังหวัด” เพราะฐานผู้ใช้งานเวลานี้ 55% เป็นอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดที่คู่แข่งเยอะ JOOX จึงต้องหนีไปหาตลาดใหม่ๆ อย่างต่างจังหวัด ซึ่งจำนวนประชากรเยอะกว่ามาก
เพียงแต่การจะเข้าไปหาได้ จะต้องเน้นแนวเพลงยอมนิยมคือ “ลูกทุ่งและเพื่อชีวิต” อยู่ในอันดับ 4 ส่วนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในปี 2019 จึงจะให้ความสำคัญกับ “ลูกทุ่งและเพื่อชีวิต” ที่ต้องการขยายทั้งคนต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยจะหาศิลปินลูกทุ่งที่เหมาะกับ “แมส” เพื่เข้ามาทำโครงการร่วมกับศิลปินเมนสตรีมมากขึ้น
โดยโปรโมตผ่านรายการ “เอะอะมะทัวร์” มี “ปิงปอง ธงชัย” เป็นพิธีกร นำศิลปินลูกทุ่ง มาสัมภาษณ์ และเสริมเป็นคาราโอเกะให้เกิดความรู้สึกร่วม
“Coins” โมเดลหารายได้ใหม่
แนวรบที่สอง คือการเพิ่มฟีเจอร์ JOOX VDO Karaoke โดยวางแผนดึง Influencer ในด้านต่างๆ มาร้องอันคลิปและให้คนที่เป็นแฟนคลับ สามารถร้องคาราโอเกะคู่กันได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ด้านวิดีโอ
โดย JOOX คาดหวังให้เกิดเป็น community คนรักเสียงดนตรี โดยปีที่ผ่านมา ฟีเจอร์ Karaoke มียอดการร้อง 5 ล้านครั้ง และมีการแชร์เพลงที่ร้องแบบคาราโอเกะไปถึง 2.6 ล้านครั้ง
และแนวรบสุดท้ายการปรับปรุงเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ซึ่งปลายปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงให้ดูง่าย เพราะผู้ใช้งานมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่
นอกจากนี้แล้วในภาพรวมยังคงมุ่งไปที่การโปรโมตและส่งเสริมผลงานศิลปินในหลากมิติ เน้นโมเดล Collaboration Project ในการสร้าง Exclusive Content ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการถ่ายทอดสด Live Concert จากเกาหลี ที่จะมีมากขึ้น
การ Live Concert เกาหลีทำให้ JOOX พบโมเดลการหารายได้ใหม่ โดยผู้ที่เข้ามาชมสามารถซื้อ Coins ราคาตั้งแต่ 35 – 1,750 บาท นำมาซื้อสติกเกอร์แบบพิเศษ เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบในศิลปิน และการซัพพอร์ต.