Event
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปี 2018 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.7%YOY จากที่เติบโต 3.2%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นการเติบโต 0.8%QOQ_sa ทำให้ทั้งปี 2018 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.1%YOY ใกล้เคียงกับที่อีไอซีคาดการณ์ไว้ที่ 4.2%YOY
Analysis
ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2018 ถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เป็นสำคัญ โดยจากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนนับเป็นเครื่องยนต์หลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาส 4 นอกจากนี้ ส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก สินค้ายานยนต์ สินค้าด้านการผลิตคอมพิวเตอร์ และทองคำ ขณะที่ภาคส่งออกยังคงมีทิศทางหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
การบริโภคภาคเอกชนเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเติบโตสูงสุดในรอบ 23 ไตรมาสที่ 5.3%YOY ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.0%YOY โดยสินค้าหมวดคงทนยังคงขยายตัวได้ดีที่ 8.0%YOY แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 10.6%YOY ขณะที่สินค้าไม่คงทนขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0%YOY จาก 0.0%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐด้าน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ให้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้น้อยในช่วงปลายปี 2018 จำนวน 500 บาทต่อคน ทั้งหมด 14.5 ล้านคน
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากการลงทุนด้านเครื่องจักร เครื่องมือเป็นสำคัญ โดยการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 5.5%YOY จาก 3.8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า เร่งขึ้นจากการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือในหมวดยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งที่ขยายตัว 7.7%YOY ตามปริมาณจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น รถรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
อุปสงค์จากต่างประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว การส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.8%YOY สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการส่งออกสินค้ายังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ขยายตัวเพียง 2.6%YOY ลดลงจากครึ่งแรกของปี ที่ขยายตัวถึง 10.8%YOY ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทขยายตัวที่ 4.5%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัว 9.9%YOY
ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 มีการหดตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยหดตัวที่ -0.2%YOY ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -2.2%YOY ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 4.3%YOY จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 1.9%YOY
การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 การลงทุนภาครัฐหดตัวที่ -0.1%YOY จากการขยายตัวที่ 4.2%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งการหดตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการลดลงของการลงทุนรัฐบาลที่ -3.0%YOY เนื่องจากหลายหน่วยงานมีการชะลอการเบิกจ่ายเพื่อทบทวนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวที่ 4.6%YOY
Implication
อีไอซีคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ 3.8% จากแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่มีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีทิศทางชะลอลงเช่นเดียวกัน ในส่วนของการลงทุนคาดว่า มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นได้ในปี 2019 (รูปที่2)
การลงทุนภาคเอกชนในปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยจากการเติบโตที่ดีในไตรมาส 4 ที่ 5.5% เป็นตัวสะท้อนสัญญาณที่ดีด้านการลงทุนในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มส่งโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องมายังปี 2019 นอกจากนี้ การลงทุนในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงส์จากโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี แม้จะมีบางโครงการที่ล่าช้าไปบ้าง และรวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเริ่มเห็นความสนใจจากภาคเอกชนชัดเจนยิ่งขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น 137%YOY (สถิติทั้งปี 2018) อย่างไรก็ดี หากการลงทุนภาครัฐมีความล่าช้ามากขึ้น ก็อาจจะส่งผลต่อการขยายตัวของการลงทุนในระยะต่อไป นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า การลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกอาจมีทิศทางชะลอตัวจากช่วงปลายปี 2018 เนื่องจากความไม่แน่นอนของการเลือกตั้ง โดยหากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างราบรื่น ก็จะมีแนวโน้มส่งผลดีต่อการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้
การบริโภคภาคเอกชนปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง การขยายตัวได้ดีของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มส่งผลดีต่อเนื่องต่อการขยายตัวของการบริโภคในระยะต่อไป นอกจากนี้ ในปี 2019 ก็ยังมีอีกหลายมาตรการภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน อาทิ มาตรการคืน vat ช่วงตรุษจีน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุผ่านการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน และค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงแนวโน้มรายได้ครัวเรือนในปี 2019 ก็พบว่ามีทิศทางฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยค่าจ้างมีทิศทางเติบโตในระดับต่ำ เนื่องจากยังคงมี slack ในตลาดแรงงานอยู่ ขณะที่รายได้ภาคเกษตรมีทิศทางทรงตัวจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับฐานการบริโภคสินค้ายานยนต์ที่สูงในปี 2018 จึงทำให้คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงที่ 3.5%
ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 2019 ประกอบด้วยความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า และความไม่นอนจากการเลือกตั้ง โดยจะต้องติดตามผลการเจรจาในวันที่ 1 มีนาคม 2019 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดช่วงสงบศึก 90 วันของทางสหรัฐฯ และจีน ซึ่งหากทั้งสองประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีเพิ่มเติมจากเดิมที่อัตรา 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนอาจมีมาตรการตอบโต้ โดยหากเหตุการณ์มีความรุนแรงมากกว่าคาด ก็อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการส่งออกสินค้าเพิ่มเติมได้ ในส่วนของความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้ง อาจส่งผลต่อการชะลอการลงทุนและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2019 นี้