PwC สำรวจ “ซีอีโออาเซียน” รู้ว่า AI สำคัญ แต่ยังไม่พร้อมลงทุน

เป็นประจำทุกปีที่ “ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส” หรือ PwC จัดทำผลสำรวจ Global CEO Survey ด้านดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นของ “ซีอีโอ” ทั่วโลก ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 22 ในปี 2562 ความเห็นของซีอีโอทั่วโลกและอาเซียนมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ แนวโน้มเศรษฐกิจ “ขาลง” และเห็นถึงความสำคัญของการปฏิวัติ “เอไอ”

ปัจจุบันพบว่าผู้นำธุรกิจต่างตระหนักดีว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ “เอไอ” กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจทั่วโลก

ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจ Global CEO Survey พบว่า 72% ของซีอีโออาเซียน คาดว่าการปฏิวัติของ “เอไอ” จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลกยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ตในปี 1990 และ 87% ยังเห็นด้วยว่า “เอไอ” จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

แต่ผลสำรวจกลับพบว่า ธุรกิจอาเซียนเกือบ 40% ยังไม่มีการนำเอไอเข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก 32% มีแผนที่จะนำเอไอเข้ามาใช้งานในอีก 3 ปี ข้างหน้า สัดส่วน 28% มีการใช้งานเอไอในวงจำกัด และมีเพียง 4% ที่มีการใช้เอไออย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร

สาเหตุสำคัญที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงไม่ตื่นตัวในการพัฒนาหรือลงทุน เพื่อนำเอไอเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างจริงจัง แม้ว่าจะตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้ เป็นเพราะช่องว่างทางทักษะของแรงงานที่มีความรู้ไม่เพียงพอในการใช้งานเอไอ

“ทักษะดิจิทัล” จุดบอดการใช้เอไอ

ทั้งนี้ ช่องว่างทางทักษะ (Skills gap) ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะปัจจุบันหลายธุรกิจประสบปัญหาการมีแรงงานที่มีทักษะในการทำงานน้อยกว่าที่คาด หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

โดย 58% ของซีอีโออาเซียน มองว่าปัญหานี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์กรไม่สามารถใช้งานเอไอได้เต็มที่และสูญเสียโอกาสในการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ผลกระทบรองลงมา คือต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่สูงเกินกว่าที่คาด และมีผลต่อคุณภาพ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

“การเข้ามาของเอไอ จะเป็นไปในลักษณะของเพื่อนร่วมงาน ที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ และเปิดโอกาสให้แรงงานคนได้ไปใช้ทักษะในด้านอื่นมากกว่าเข้ามาแย่งงาน”

แต่การทำงานร่วมกับ “เอไอ” จะต้องรู้จักวิธีและมีทักษะด้านดิจิทัล โดยสถาบันการศึกษาควรส่งเสริมหลักสูตร “สะเต็มศึกษา” คือ การนำความรู้  4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มาใช้แก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ ให้แก่บุคลากรที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“ซีอีโอ”อาเซียนเชื่อมั่นวูบ

ทางด้านภาพรวมความเชื่อมั่นของ “ซีอีโอทั่วโลก” ปี 2562 มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ จะเติบโต “ลดลง” อยู่ที่ 28% นับเป็นตัวเลขสูงกว่าปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 5% และถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี แสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจปีนี้ว่าจะเติบโตได้

ขณะที่ “ซีอีโออาเซียน” เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อน คล้ายคลึงกับมุมมองของซีอีโอโลกเช่นกัน แต่พบว่าเป็นสัดส่วนสูงถึง 46% ที่เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะ “ลดลง” จากปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 10% เท่านั้น  อีกทั้งเป็นตัวเลขความ “ไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจ” สูงสุดในรอบ 3 ปี “เรียกได้ว่าเป็นดัชนีที่ร่วงแรง”

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ “เสี่ยง”

พบว่า 5 อันดับปัจจัยเสี่ยง ที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียนในปี 2562 ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้า 83% ซีอีโอทั่วโลกอยู่ที่ 70%, ความไม่แน่นอนทางการเมือง 81% ซีอีโอทั่วโลกอยู่ที่ 75% ประเด็นนี้เกิดจากความกังวลเรื่อง “เลือกตั้ง” ของประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย โดยในช่วงการสำรวจความเห็นเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2561 ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่กำหนดวันเลือกตั้ง เชื่อว่าการสำรวจในครั้งต่อไป ปัจจัยความกังวลเรื่องการเมืองจะลดลง    

นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบาย 78% เท่ากับซีอีโอโลก กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวด 77% โดยซีอีโอโลกอยูที่ 73% และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก 73% เท่ากับซีอีโอโลก

“ซีอีโอมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง จากประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จะส่งผลต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”

ชะลอซื้อกิจการ

จากมุมมองของซีอีโอ ที่เชื่อว่าปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วง “ขาลง” ทำให้การวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนการเติบโตปีนี้ของ “ซีอีโออาเซียน” มุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 72% ซีอีโอทั่วโลกอยู่ที่ 77%, การเติบโตตามปกติ (Organic growth) 67% ซีอีโอทั่วโลก อยู่ที่ 71%

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ 60% ซีอีโอทั่วโลกอยู่ที่ 62%, พันธมิตรทางกลยุทธ์ใหม่หรือการร่วมทุน 41% ซีอีโอทั่วโลกอยู่ที่ 40% และการขยายตลาดใหม่ 35% ซีอีโอทั่วโลกอยู่ที่ 37%

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าธุรกิจใช้กลยุทธ์ผลักดันการเติบโตด้วยการร่วมทุนและเทกโอเวอร์อยู่ในกลุ่มท็อป 3 ของกลยุทธ์การเติบโต แต่ปีนี้อยู่ที่อันดับ 4-5 เป็นผลมาจากการไม่มั่นใจเศรษฐกิจปีนี้”

ขณะที่แนวทางการเติบโตปีนี้ ด้วยการมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พบว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ในกลุ่มการเงิน ธนาคาร ธุรกิจประกัน กลุ่มโทรคมนาคม ค้าปลีก ใช้วิธีร่วมทุนและซื้อสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นการลงทุนไม่มาก เพื่อเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลและพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้องค์กรแทนการพัฒนาด้วยตัวเอง ซึ่งทำได้ล่าช้าเพราะขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัล

3 ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจ

ด้านมุมมองที่เป็นอุปสรรคสำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียนในปีนี้ ได้แก่

  1. การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 82% 
  2. ภัยคุกคามทางไซเบอร์ 81%
  3. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 72%

การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะ “ทักษะทางด้านดิจิทัล” ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทเสียโอกาสหลายอย่าง ทั้งความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการขยายสู่ตลาดใหม่ๆ อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน

อันดับน่าลงทุน “ไทย”ร่วง

ผู้นำธุรกิจอาเซียนยังมองด้วยว่า “3 อันดับ” ตลาดน่าลงทุนที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้ในปีนี้ ได้แก่ จีน 42% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 24% และอันดับ 3 คือ สหรัฐฯ 21% ตามลำดับ

ขณะที่อันดับ 4 เวียดนาม 5 อินเดีย 6 เมียนมา 7 มาเลเซีย โดยไทยอยู่อันดับ 8 ร่วมกับ ญี่ปุ่น กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ต้องถือว่าอันดับน่าลงทุนของประเทศไทยในสายตามกลุ่มอาเซียน “ลดลง” จากปีก่อนอยู่อันดับ 5

ปัจจัยสำคัญต่อมุมมองด้านนี้ มาจากจำนวนประชากรของประเทศที่น่าลงทุนในอันดับต้นๆ ถือเป็นประเทศขนาดใหญ่กว่าไทย นักลงทุนจึงมองโอกาสเข้าลงทุนเพื่อเข้าถึงกำลังซื้อจำนวนมาก อีกด้านมาจากสถานการณ์การเมือง แต่เชื่อว่าหลังเลือกตั้งปัจจัยด้านนี้จะปรับตัวดีขึ้น

PwC ได้จัดทำผลสำรวจ Global CEO Survey ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561  จำนวน 1,378 ซีอีโอทั่วโลก ใน 91 เขตเศรษฐกิจ ครอบคลุมกว่า 30 อุตสาหกรรม  โดยสัดส่วน 48% มีรายได้กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.1 หมื่นล้านบาท) ในการสำรวจครั้งนี้มี “ซีอีโออาเซียน” จำนวน 78 คน จากกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย.