ถอดรหัส 10 เทรนด์ดิจิทัลไทยจาก IDC ที่นักการตลาดไม่ควรพลาด

วันนี้หลายคนมองเศรษฐกิจไทยว่าเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นแล้ว แต่รายงานจาก IDC ตอกย้ำว่าธุรกิจดิจิทัลไทยจะยิ่งเข้มข้นขึ้นอีกหลายขั้นในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ ดังนั้นทุกองค์กรทุกอุตสาหกรรมจึงควรต้องตามติดการเปลี่ยนแปลงให้ทัน โดยเฉพาะนักการตลาดที่ไม่ควรพลาดการอัพเดตเทรนด์เหล่านี้ เพื่อมุมมองใหม่ที่เฉียบคมลื่นไหลกว่าเดิม

เทรนด์เหล่านี้สรุปจากรายงานเรื่อง IDC FutureScapes ซึ่งมีการประเมินแนวโน้มโดดเด่นที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2020-2024 

โดยทุกเทรนด์สามารถฉายภาพแรงผลักสำคัญที่จะดันให้ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัว

1. ส่วนใหญ่ของ GDP ไทยจะมาจากธุรกิจดิจิทัล

ภายในปี 2022 ไทยจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว เห็นได้ชัดจาก GDP ของประเทศไทยกว่า 61% ที่ IDC มั่นใจว่าจะมาจากธุรกิจดิจิทัล โดยแรงขับเคลื่อนจะมาพร้อมทุกบริการไอทีรอบตัวคนไทยทั้งการตลาดดิจิทัล การเดินทาง การกิน การใช้ และการอยู่ 

ประภัสสร เพชรแก้ว นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโส ด้านบริการไอทีประเทศไทย บริษัท ไอดีซี อธิบายว่า การเติบโตนี้จะครอบคลุมทุกเซ็กเตอร์ในธุรกิจไทย แต่จุดหลักที่ไดรฟ์คือองค์กรจะสร้างบริการไอทีใหม่สำหรับใช้แทนหรือเสริมกับธุรกิจเดิมในฐานะแพลตฟอร์มที่ 3 (3rd platform) ซึ่งจะเห็นจากบริการหุ่นยนต์, AR, Mobility, Cloud ฯลฯ

“Cloud จะดึงให้การลงทุนดิจิทัลโตขึ้นอีก จะแตะ 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019-2022 การสำรวจพบว่า 90% ขององค์กรไทย เชื่อว่าจะทำธุรกิจได้ดีขึ้นถ้าลงทุนดิจิทัล” 

ประภัสสรเชื่อว่าองค์กรจะลงทุนเรื่องการทำงานร่วมกันจากระยะไกล ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาทักษะให้พนักงานในองค์กรใช้งานเทคโนโลยีได้ดีขึ้น องค์กรจะเห็นความสำคัญของฝ่ายไอทีที่ต้องเลือกเทคโนโลยีมาใช้กับองค์กรมากขึ้น และองค์กรไทยในอนาคตจะมองประสบการณ์ผู้ใช้บนระบบดิจิทัล หรือ DX เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

2. 3rd platform โตแม้จะมีระบบเก่าอยู่

ภายในปี 2022 การวิจัยของ IDC พบว่าการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทย 60% จะถูกใช้ลงทุนเพื่อสร้าง 3rd platform คาดว่าส่วนนี้จะเติบโตสูงมากเป็นเลข 2 หลัก จนครองส่วนแบ่งมากที่สุดในการใช้จ่ายไอทีภายในปี 2022

แม้จะมีระบบเก่าอยู่ แต่ทุกองค์กรไทยเห็นประโยชน์ และเข้าใจดีว่าต้องทำ 3rd platform แต่ปัญหาคือระบบเก่าที่ทำให้กังวลเรื่องความยุ่งยากในการทำระบบใหม่บนระบบเดิม ไม่ว่าอย่างไร ทุกคนก็จะพยายาม

เทรนด์นี้เริ่มเห็นแล้วในแบรนด์ใหญ่อย่าง Tesco Lotus ที่ใช้เทคโนโลยี becons ในการกระจายข่าวสารถึงลูกค้าที่อยู่ใกล้สาขา หรือธนาคารไทยพาณิชย์ที่ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูงเพื่อให้บริการทางการเงินเป็นรายแรกของประเทศไทยในชื่อ SCB Abacus ขณะที่ Honda ค่ายรถแดนปลาดิบที่มีระบบ My connected car เป็น 3rd platform ที่รองรับความต้องการของลูกค้าโดยไม่เน้นแต่มุมการขายรถเพียงอย่างเดียว

ในอนาคต เราจะเห็นการรีวิวพาร์ตเนอร์ขององค์กรด้วย เพราะการไปดิจิทัลจะทำให้พาร์ตเนอร์ที่เคยดี อาจไม่รองรับทั่วถึงอีกต่อไป ภายในองค์กรก็จะต้องมีการทำงานร่วมกับฝั่งไอที เพื่อจะร่วมกันชี้หรือเลือกพาร์ตเนอร์ที่ดีที่สุด

IDC เชื่อว่ามากกว่า 30% ขององค์กรไทยจะสร้างสภาพแวดล้อมไอทีแบบแท้จริง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ภายในปี 2022

3. ไม่เก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ 100%

ธุรกิจไทยจะไม่เก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ 100% แต่จะเลือกเก็บไว้ใกล้ตัวเพื่อทำงานร่วมกับการดึงข้อมูลจากระบบคลาวด์ การประมวลผลแบบผสมนี้เรียกว่า Edge computing หรือการประมวลผลที่ขอบระบบ ซึ่งมีจุดเด่นที่ความรวดเร็วที่เหนือกว่าคลาวด์ 100% คาดว่าการลงทุนในเทคโนโลยีนี้จะร้อนแรงมากขึ้นในปี 2022 ซึ่งจะเป็นปีที่องค์กรไม่น้อยกว่า 20% จะเทเงินลงทุนในเทคโนโลยีนี้ เพื่อรองรับ 25% ของอุปกรณ์ในมือคนไทยที่จะใช้อัลกอริธึม AI

ข้อดีของการเก็บข้อมูลขึ้น Cloud คือการตอบโจทย์เรื่องการรองรับจำนวนข้อมูลมหาศาลได้ไม่อั้น แต่ระบบ Edge จะทำให้เกิดการทำงานรวดเร็วกว่าเพราะไม่ต้องเสียเวลาดึงข้อมูลจากคลาวด์ การใช้ Edge จะเชื่อมกับการมาของ 5G ด้วย ซึ่งจะทำได้ดีขึ้น

ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับปริมาณสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และนานาอุปกรณ์ไอทีที่ถูกเรียกรวมว่า endpoint device เนื่องจากการที่อุปกรณ์มีจำนวนมาก ข้อมูลก็จะมีสูงมากตามไปด้วย องค์กรไทยในอนาคตจะอยากใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาล เวลานั้น AI จะตอบโจทย์ตรงนี้ คาดว่า 25% ของอุปกรณ์และระบบ endpoint ทั่วไทยจะทำบน AI ซึ่งเวลานั้นองค์กรไทยก็จะทำธุรกิจโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากขึ้น

4. คนสร้างแอปไม่ต้องเก่งเขียนโปรแกรม

วงการพัฒนาแอปพลิเคชันไทยจะถูกปฏิวัติในปี 2022 จุดนี้ IDC คาดว่าแอปพลิเคชั่นใหม่ของประเทศไทย 70% จะมีสถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส ที่ทำให้นักพัฒนาไม่ต้องเขียนโค้ดคำสั่งขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้น สามารถนำโค้ดมาใช้ซ้ำใหม่หรือพัฒนาข้ามขั้นตอนได้สะดวก การพัฒนาแอปพลิเคชั่นของไทยในอนาคตจึงมีโอกาสสร้างเสร็จเพื่อให้บริการได้เร็วกว่าเดิม คาดว่า 25% ของแอปพลิเคชั่นไทยทั้งหมดจะเป็นระบบคลาวด์ในช่วง 3 ปีนับจากนี้

สถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส เป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบการสร้างแอป แต่ก่อนนี้แอปพลิเคชั่นต้องถูกพัฒนาเป็นขั้นตอนตั้งแต่เริ่มกระทั่งครบต้นจนจบ แต่สถาปัตยกรรมนี้จะทำให้การพัฒนาทำได้แยกส่วนกัน ส่วนท้ายอาจพัฒนาพร้อมส่วนหัว ทำให้การพัฒนาแอปเร็วขึ้น

IDC เชื่อว่าธุรกิจ B2C ไทย ที่จะลงทุนสร้างแอปพลิเคชั่นในรูปแบบนี้มากที่สุดคือกลุ่มแบรนด์อย่าง Unilever, Central, CIMB, Aliexpress, Laz และ Shopee เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ต้องการให้ลูกค้าใช้งานแอปได้เร็ว เป็นกลุ่มที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากอย่างชัดเจน

5. ในปี 2024 จำนวนนักพัฒนาไทยเพิ่มเกิน 20%

ก่อนหน้านี้ องค์กรไทยอาจมีปัญหาเรื่องทีมพัฒนาแอปที่มีความรู้ความสามารถจำกัด ทำให้การพัฒนาแอปได้ช้า สิ่งที่จะเกิดในอนาคตคือการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ที่ไม่ต้องใช้การเขียนโค้ด แต่ออกแบบให้ทำงานได้เร็วและสะดวกขึ้น 

เครื่องมือใหม่ที่เข้ามาตอบโจทย์ จะเป็นแรงผลักดันให้นักพัฒนาในไทยมีการร่วมมือประสานงานมากขึ้น ยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐ มีการสนับสนุนทุน การเรียนการสอนผ่านหลักสูตรมากมาย ทั้งหมดทำให้มั่นใจว่านักพัฒนาไทยจะมีจำนวนมากขึ้นแน่นอน

เรียกว่าในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นจะใช้งานง่ายขึ้น ความจำเป็นการในการเขียนโค้ดน้อยลง องค์กรอาจจะใช้เครื่องมือช่วยให้พนักงานที่ไม่จบสายโปรแกรมเมอร์โดยตรง สามารถเป็นทีมพัฒนาให้องค์กรได้โดยไม่ต้องจ้างบริษัทอื่น

สิ่งสำคัญในเทรนด์นี้คือองค์กรต้องปรับนโยบาย เพื่อให้นักพัฒนาทำงานได้ดีขึ้น อาจจะเป็นการปรับให้นักพัฒนาเข้าถึงข้อมูลได้ดีขึ้น หลากหลายขึ้น อีกจุดคือ self service ที่จะเอื้อให้พนักงานทำงานด้วยตัวเองมากขึ้น คาดว่าองค์กรจะต้องรีวิวและเพิ่มงบประมาณที่จำเป็น ซึ่งกรณีนี้เป็นไปได้ทั้งการเพิ่มหรือลดงบประมาณลง

6. แอปใหม่เกิน 4 ล้านแอปในไทยจะถูกสร้างขึ้นโดยแนวคิดใหม่

เมื่อมีเครื่องมือมากมายให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นทำงานได้ง่ายกว่าเดิม และไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางแบบที่ผ่านมา คาดว่าจะมีแอปใหม่กว่า 4 ล้านแอปในไทยที่จะถูกสร้างขึ้นโดยเครื่องมือใหม่เหล่านี้ โดยภายในปี 2023 ราว 95% ของประชากรไทยจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งาน จุดนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซไทยอย่างจริงจัง คาดว่า 41% ของการซื้อจะเกิดบนสมาร์ทโฟน 

หลายธนาคารพัฒนาแอปแล้ว เชื่อว่าจะเห็นการพัฒนาที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต แต่ผลกระทบคือเวลาที่คนไทยใช้แอปพลิเคชั่นจะลดลงอย่างมาก ดังนั้นองค์กรที่ไม่ใช้ประโยชน์จากระบบเรียนรู้ด้วยเรื่อง (ML) จะเสียความสามารถในการแข่งขันได้

7. ลงทุนฮาร์ดแวร์

IDC มองว่าองค์กรไทยจะมีการใช้งานระบบประมวลผลเทคโนโลยีใหม่ที่มีพลังประมวลผลสูงมาก เช่น quantum มากขึ้น คาดว่าในปี 2022 องค์กรกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนราว 15% ของธุรกิจไทย

IDC มองว่าการปรับตัวเพื่อยกระดับฮาร์ดแวร์ของธุรกิจจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบ AI บริษัทไทยที่เริ่มลงทุนระบบ quantum แล้วคือไทยพาณิชย์ ที่ลงทุนในบริษัทผู้พัฒนาระบบ quantum ชื่อ 1QBit อย่างจริงจัง

การเพิ่มขึ้นของซูเปอร์แอป จะทำให้เราเห็นความร่วมมือระหว่างองค์กรไทยกับแบรนด์ต่างชาติด้วย ทั้งหมดนี้จะเห็นผลอย่างช้าๆ

8. คนไทยคุยกับ AI มากขึ้น

แทนที่จะต้องใช้แอปพลิเคชั่นหรือเมนูหน้าเว็บไซต์ผ่านหน้าจอ IDC ฟันธงว่าเทคโนโลยี AI จะเป็นส่วนติดต่อผู้ใช้หรือ UI ใหม่ซึ่งจะมาแทนแอปพลิเคชั่น 1 ใน 3 ที่คนไทยใช้งานผ่านอุปกรณ์ในปัจจุบัน 

ประเด็นนี้น่าสนใจมากเพราะข้อมูล IDC บอกว่าปี 2024 ระบบแชตบอทเทคโนโลยี AI จะเติบโต 230.2% ในไทย ถือเป็นการเติบโตที่สูงมากจนอาจจะทดแทนแอปพลิเคชั่นบางส่วน ซึ่งลูกค้าไทยอาจจะไม่ทันสังเกตว่าเป็นระบบอัตโนมัติก็ได้

คาดว่าผู้ประกอบการไทยเกิน 20% จะใช้เทคโนโลยีแชตอัตโนมัติภายในปี 2024

9. เข้ารหัสแรง บล็อกเชนร้อน

ในช่วง 4 ปีนับจากนี้ 25% ของเซิร์ฟเวอร์ไทยจะมีการเข้ารหัสข้อมูล คาดว่าการแจ้งเตือนความปลอดภัยมากกว่า 20% ในไทยจะถูกจัดการโดยระบบอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยี AI 

นอกจากนี้ ในช่วง 4 ปีเดียวกัน IDC เชื่อว่าคนไทย 3.5 ล้านคนจะมีตัวตนดิจิทัลเทคโนโลยีบล็อกเชน กรณีนี้จะมีผลใหญ่เพราะจะเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนามุมดิจิทัลในสเต็ปต่อไป 

บริการดิจิทัลแบงกิ้ง หรือองค์กรที่มีระบบ KYC (Know Your Customer) จะได้เปรียบ ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยสมัครใจเก็บข้อมูลตัวตนดิจิทับคือบริการด้านการเงิน ซึ่งภาครัฐก็จะผลักดันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนไทยให้ไปดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่โดดเด่นมากที่สุดคือบล็อกเชน

อย่างไรก็ตาม IDC ตั้งข้อสังเกตว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย นั้นนำหน้าไทยเรื่องตัวตนดิจิทัลไปมากกว่า 1-2 ขั้นแล้ว ทำให้มีโอกาสสูงที่ไทยจะเดินตามรูปแบบการพัฒนาระบบตัวตนดิจิทัลของ 2 ประเทศนี้

สิ่งสำคัญเมื่อคนไทยเกิน 3 ล้านคนมีตัวตนดิจิทัล คือการทำประโยชน์จากข้อมูลเส้นทางดิจิทัลของคนกลุ่มนี้ เนื่องจากแม้ส่วนใหญ่จะอยู่กับแบงก์ แต่ก็จะแพร่หลายไปใช้บริการทั่วทุกอุตสาหกรรม นอกจากนี้คือประเด็นการรักษาความปลอดภัย ไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

10. Multicloud ผสมให้ยืดหยุ่น

IDC ย้ำว่าองค์กรไทยจะใช้ Multicloud ซึ่งเป็นระบบผสมระหว่างที่ทำให้การเก็บข้อมูลลูกค้าหรือข้อมูลการดำเนินงานของบริษัททำได้ยืดหยุ่นกว่าการเลือกประเภท cloud อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

เทรนด์นี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายบริษัทที่เชื่อว่าองค์กรจะลงทุนมหาศาลเพื่อรับมือกับการล็อกอินใช้งานบริการ ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย จุดนี้ IDC ทิ้งท้ายว่า การปรับใช้ Hybrid Cloud และ Private Cloud จะเป็นเรื่องธรรมดาเพราะ 54% ขององค์กรไทยจะเน้นลงทุนเพื่อเชื่อม Cloud สาธารณะเข้ากับ Cloud ส่วนตัวเพื่อให้บริการของตัวเองลื่นไหลที่สุด.