ผ่าดีล ควบรวม “TMB” – “ธนชาต” มูลค่า 1.4 แสนล้าน อาจต้องลดสาขา แต่ไม่ลดคน

หลังจากเมื่อคืน (26 กุมภาพันธ์ตกเป็นข่าวครึกโครมเรื่องที่ “TMB” และ “ธนชาต” จะมีการควบรวมอย่างเป็นทางการเช้าวันนี้ (27 กุมภาพันธ์ทั้งคู่ได้จูงมือกันออกมาแถลงข่าวร่วมกันพร้อมกับผู้ถือหุ้นหลักของทั้ง 2 ธนาคาร ได้แก่ ผู้บริหารจากกระทรวงการคลัง, ING Groep N.V. (ING) และ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP)

ท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมการเงินที่รุนแรงมากขึ้นทุกวันธนาคาร ไม่ได้แข่งกับธนาคารด้วยกันอีกต่อไป แต่คู่แข่งที่ขยับเข้ามาใกล้มากขึ้นทุกทีกลับเป็นฟินเทค (FinTech)” ทั้ง “TMB” และธนชาต บอกว่าการควบรวมกันในครั้งนี้จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งเงินทุนมากเพียงพอและช่องทางการให้บริการที่เพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัว

โจทย์การแข่งขันเปลี่ยนไป การมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะสร้างความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน

เพราะ “TMB” มีจุดเด่นในการระดมเงินฝาก, Deposit Franchise และรูปแบบการให้บริการด้านการเงินที่แตกต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม (Traditional Bank) ส่วนธนชาตเป็นผู้เชี่ยวชาญการให้บริการสินเชื่อรายย่อยโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ เป็นผู้นำอันดับ 1 ของตลาด

หลังการควบรวมจะทำให้มีมูลค่าธุรกรรม 1.4 แสนล้านบาท สินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่หกในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย

เมื่อแยกย่อยลงไป จะพบว่าสินเชื่อรถยนต์ ก็จะยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาด, สินเชื่อบ้าน ขยับขึ้นมาเป็นเบอร์4, สินเชื่อ SME” ขึ้นมาเบอร์ 5 และจำนวนผู้ใช้โมบายแบงกิ้งเกือบ 4 ล้านราย

วันนี้ธนชาตมีจำนวนสาขา 512 สาขา พนักงาน 12,000 คน ฐานโมบายแบงกิ้ง 1 ล้านราย ส่วน TMB มีจำนวนสาขา 400 สาขาต้นๆ พนักงาน 8,000 คน ฐานผู้ใช้โมบายแบงกิ้ง 1 ล้านราย

เมื่อพิจารณาการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่นๆ จะพบว่ามีการปิดสาขาและลดจำนวนคน เพราะลูกค้าได้ย้ายการทำธุรกรรมไปสู่ช่องทางดิจิทัลหมดแล้ว เช่นเดียวกับธนาคารทั้งคู่ที่บอกว่า ภายหลังการควบรวมอาจจะมีบางสาขาที่ต้องถูกนำมารวมกัน

ส่วนพนักงานที่มีรวมกันกว่า 20,000 คน ยังยืนยัน ณ วันนี้ ไม่ได้มีแผนลดจำนวนคน แต่จะปรับพนักงานที่ไม่ได้อยู่หน้าสาขาไปทำอย่างอื่น เช่น ย้ายไปสู่โมบายแบงกิ้ง หรือปรับเพิ่มทักษะอย่างอื่นเพื่อขายผลิตภัณฑ์การเงิน เป็นต้น

ส่วนโครงสร้างการบริหาร ใครขึ้นมาเป็น CEO ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน วันนี้ทั้ง 2 ธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจไปตามปรกติ ส่วนที่ว่าจะมีการเปลี่ยน “ชื่อใหม่” (Rebranding) คาดว่าชื่อจะออกมาหลังการควบรวมกิจการ อาจจะใช้เวลาหลักเดือน หรือยาวไปถึง 1 ปีก็เป็นไปได้

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น หลังจากนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบสถานะการเงิน (Due Diligence) คาดใช้เวลาราว 2-3 เดือน และเตรียมการเจรจาตกลงเกี่ยวกับสัญญาหลัก (Definitive Agreement) และดำเนินการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยจะเสนอขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและเงินลงทุนอื่น

โดย TMB จะเป็นฝ่ายดำเนินการจัดหาเงินทุนมูลค่าประมาณ 1.30-1.40 แสนล้านบาททั้งนี้ ประมาณ 70% ของเงินทุนที่ต้องจัดหาทั้งหมดนั้นจะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุน และส่วนที่เหลือจะดำเนินการจัดหาด้วยการออกตราสารหนี้

ในส่วนของการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น จะแบ่งสรรเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ โดยหุ้นเพิ่มทุนส่วนแรกมูลค่าประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท จะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ TCAP และ Bank of Nova Scotia (BNS) ในเบื้องต้นคาดว่าหุ้นเพิ่มทุนของ TMB จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีที่ปรับปรุงล่าสุดภายหลังจากการเพิ่มทุน และกระบวนการต่างๆ ที่จะมีการกำหนดไว้ต่อไปในสัญญาหลัก

สำหรับหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาทนั้น TMB จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบันของธนาคาร รวมทั้งอาจจะมีการออกหุ้นเพื่อเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันรายอื่นๆ หรือนักลงทุนรายใหม่ในวงจำกัดอีกด้วย

คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2562 โดยหลังจากนี้ทางกระทวงการคลัง, ING Groep N.V. (ING) และ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) จะเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือไม่น้อยกว่า 20%.


ข่าวเกี่ยวเนื่อง

ไม่ต้องลือแล้ว! “TMB” ประกาศควบรวม “ธนชาต” เป็นทางการ ขึ้นอันดับ 6 แบงก์ไทย เตรียมเปลี่ยนชื่อใหม่เร็วๆ นี้