3 ค่ายมือถือ เตรียมทุ่มลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท ขยายเครือข่ายบริการ ชิงลูกค้า หลังทรูโกยลูกค้าทำยอดมือถือโต 7.3%

จากผลประกอบการ 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของไทย ทั้งเอไอเอส, ดีแทค และทรู ที่ทยอยแจ้งผลประกอบการปี 2561 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ค่ายทรูรายงานการเติบโตสูงสุดสวนทางตลาด โดยเฉพาะรายได้จากบริการมือถือโตถึง 7.3%  

สำหรับรายการได้เฉพาะบริการมือถือของทั้ง 3 ค่ายนั้น กลุ่มทรูระบุว่ามีรายได้ในส่วนนี้อยู่ที่ 72,829 ล้านบาท เติบโต 7.3% มียอดผู้ใช้บริการ 29.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นทั้งปี 2 ล้านราย ซึ่งทรูได้ชี้แจงว่า เป็นการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมเป็นปีที่ติดต่อกัน เทียบกับการหดตัวรวม 0.1% ของผู้ให้บริการรายใหญ่รายอื่นรวมกัน สาเหตุของการเติบโตมาจากการเข้าไปเจาะตลาดขยายฐานลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น  

ในขณะที่เอไอเอส มียอดเติบโตเพียง 1.3% โดยมีรายได้รวม 124,601 ล้านบาท จากจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด 41.196 ล้านราย เป็นอันดับหนึ่งในตลาดนี้ โดยมียอดผู้ใช้เพิ่ม 1.113 ล้านราย โดยที่ 72% ของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมาจากระบบรายเดือน ทั้งนี้เอไอเอสระบุว่าสาเหตุที่ยอดเติบโตไม่สูงมาก เพราะยังคงมีแรงกดดันจากการแข่งขันทางด้านราคา จากภาพรวมการแข่งขันของปี 2561 ที่ผู้ให้บริการทุกรายเน้นมาแข่งกันนำเสนอแพ็กเกจแบบใช้งานไม่จำกัดด้วยความเร็วคงที่ ที่ทำให้รายได้จากการให้บริการลดลงมาก แต่ก็ได้มีหยุดการให้บริการแพ็กเกจดังกล่าวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ไปแล้ว  

ส่วนดีแทคมีรายได้ส่วนนี้ลดลง จาก 64,821 ล้านบาท ลดลง 2.8% มาอยู่ที่ 63,014 ล้านบาท เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 21.1 ล้านราย ลดลง 1.45 ล้านราย โดยที่ดีแทคให้เหตุผลว่า ปีที่ผ่านมานั้น รายได้จากการให้บริการของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ความไม่แน่นอนในประเด็นเรื่องการหมดอายุสัญญาสัมปทานได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน 

เอไอเอส ทรู กำไร ดีแทคขาดทุน 

จากตัวเลขผลประกอบการโดยรวมแล้ว เอไอเอสมีรายได้รวมของทุกธุรกิจสูงสุด โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 169,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% เทียบกับปีก่อน จากการเติบโตของรายได้การให้บริการ การรวมรายได้ของ CSL จากการควบรวมกิจการ และรายได้ค่าเช่าเครื่องและอุปกรณ์จากการเป็นพันธมิตรกับทีโอที  

ทำให้เอไอเอสมีกำไรทั้งปีอยู่ที่ 28,682 ล้านบาท ลดลงจากรายได้รวมทั้งปี 2560 ที่อยู่ที่ 30,077 หรือลดลง 1.3%  

ในขณะที่ทรูมีรายได้รวมอยู่ที่ 162,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากปี 2560 ที่มีรายได้อยู่ที่ 141,290 ล้านบาท โดยที่ทรูระบุว่า ปี 2561 เป็นปีแรกที่มีรายได้เฉพาะจากค่าบริการทั้งหมดเกินแสนล้านบาทเป็นปีแรก โดยมีรายได้รวมส่วนนี้อยู่ที่ 101,788 ล้านบาท จากที่ปี 2560 มีรายได้รวมอยู่ที่ 97,025 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจมือถือ และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต  

ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ 68.6% มาจากธุรกิจมือถือ, 25% มาจากทรูออนไลน์ ที่รวมถึงบริการบรอดแบนด์ด้วย และ 6.4% มาจากทรูวิชั่นส์ ทำให้ทรูมีผลกำไรจากการดำเนินงานทั้งปี อยู่ที่ 7,035 ล้านบาท 

ส่วนดีแทคมีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 74,980 ล้านบาท ลดลง 4.2% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยจากรายได้จากการให้บริการและรายได้จากการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง มีค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งบนคลื่น 2300 MHz กับทีโอที ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิ 4,369 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการบันทึกค่าใช้จ่ายเพื่อการระงับข้อพิพาทกับ กสทซึ่งดีแทคได้สรุปกับ กสท.ไปเมื่อ 10 ..ที่ผ่านมา โดยที่ดีแทคจะต้องจ่ายเงินให้กับ กสท.เพื่อระงับข้อพิพาทในวงเงิน 9,510 ล้านบาท  

บรอดแบนด์เติบโตต่อเนื่อง  

ในส่วนของบริหารบรอดแบนด์จากเอไอเอสและทรู ต่างมียอดเติบโตสูงทั้งคู่ โดยที่ทรูมียอดสมาชิกเพิ่มขึ้น 332,000 ราย ทำให้มียอดรวมอยู่ที่ 3.5 ล้านราย ส่วนเอไอเอส มียอดลูกค้ารวมทั้งปีอยู่ที่ 7.3 แสนรายแล้ว โดยเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนราย

วางเป้าปี 2562 แข่งขยายเครือข่าย ชิงลูกค้าเดือด 

สำหรับแผนงานของแต่ละบริษัทในปี 2562 นี้ เอไอเอสระบุว่า มีแผนใช้งบลงทุนขยายเครือข่าย 4G อยู่ที่ 20,000-25,000 ล้านบาท และงบสำหรับขยายธุรกิจบรอดแบนด์อยู่ที่ 4,000- 5,000 ล้านบาท และคาดการณ์การเติบโตไม่มากนัก ในระดับเลขตัวเดียวเท่านั้น  

ในขณะที่ทรูนั้นระบุว่า แผนงานปี 2562 จะเน้นการขยายธุรกิจดิติทัลแพลตฟอร์ม และตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโดยรวมในอัตราเลขหนึ่งหลักช่วงกลางถึงช่วงปลาย (mid to high single-digit growth) ซึ่งคาดว่าจะยังทำกำไรได้ในปี 2562 ทั้งนี้ กลุ่มทรูคาดว่าจะใช้งบลงทุน ไม่รวมการชำระค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ในช่วงระดับ 4 หมื่นล้านบาท 

ส่วนดีแทค ระบุว่า ปี 2562 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในช่วง 13,000 ถึง 15,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าให้ดีขึ้น.