กลุ่มธนาคารยูโอบี ประกาศผลกำไรสุทธิปี 2561 ซึ่งทำลายสถิติสูงสุดอยู่ที่ 4.01 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์โดยสูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 18 โดยรายได้รวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 อยู่ที่ 9.12 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ ซึ่งเกิด จากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยรับสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรับสำหรับผลกำไรสุทธิหลังหักภาษีในไตรมาส 4 ของปี 2561 อยู่ที่ 916 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2560 แต่ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาส 3 ของปี 2561 ท่ามกลางความผันผวนของตลาด
แม้ว่าตลาดมีสภาวะที่ผันผวน แต่สถานะเงินทุนและฐานเงินทุนของกลุ่มธนาคารก็ยังคงแข็งแกร่ง สินเชื่อและเงินรับฝากรวมเติบโตร้อยละ 11 และร้อยละ 7 อยู่ที่ 262 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์และ 293 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 88.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 13.9 รายได้ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์นี้มาจากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 1.93 จากร้อยละ 1.63 ในปีก่อน ประกอบกับมีอัตราส่วนผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 11.3 จากร้อยละ 10.2 เมื่อปีก่อน
เพื่อเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการและทุนที่แข็งแกร่งของกลุ่มธนาคาร คณะกรรมการได้เสนอเงินปันผลที่ 50 เซ็นต์ ต่อหุ้นสามัญ และเงินปันผลพิเศษ 20 เซ็นต์ เพื่อเป็นการขอบคุณในการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ซึ่งเมื่อรวมกับเงินปันผลหุ้นระหว่างกาล 50 เซ็นต์ เงินปันผลทั้งหมดสำหรับปีบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 คิดเป็น 1.20 เซ็นต์ต่อหุ้นสามัญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อรวมเงินปันผลพิเศษแล้วอัตราการจ่ายเงินตอบแทนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50
ผลประกอบการปี 2561
ผลกำไรสุทธิปี 2561 ซึ่งทำลายสถิติสูงสุดอยู่ที่ 4.01 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์โดยสูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 18
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 อยู่ที่ 6.22 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวมและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ0.05 อยู่ที่ร้อยละ 1.82 สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เป็น 1.97 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ เนื่องจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ บัตรเครดิต การค้าต่างประเทศและการบริหารจัดการเงินกองทุน ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ ลดลงร้อยละ 20 เหลืออยู่ที่ 930 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยหลักจากกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการตีราคาหลักทรัพย์ลงทุนตามราคาตลาดและกำไรจากการขายหลักทรัพย์ลงทุนที่ลดลง
ส่วนงานธุรกิจต่างๆ ของธนาคารยังคงมีการเติบโตของรายได้ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง รายได้รวมทั้งหมดของกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4 เป็น 3.95 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการเติบโตของจำนวนลูกค้าที่อยู่ในเกณฑ์ดีและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร (Group Wholesale Banking) มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11 เป็น 3.94 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อเป็นจำนวนเลขสองหลักและค่าธรรมเนียมและรายได้จากการบริหารเงินลูกค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม รายได้รวมทั้งหมดสำหรับธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6 เป็น 465 ล้านเหรียญดอลล่าร์สิงโปร์ สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของเงินตราต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 คิดเป็น 4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยส่วนมากเกี่ยวกับการลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีสารสนเทศที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของกลุ่มธนาคาร เพื่อยกระดับความสามารถด้านผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ของลูกค้าสู่ความเป็นเลิศเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตเพื่อการก้าวไปสู่ระบบดิจิทัล ส่งผลให้อัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ร้อยละ 43.9
เงินกันสำรองรวม ลดลงร้อยละ 46% เป็น 393 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.15 แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมด้านสินเชื่อในปี 2561 ที่ค่อนข้างดีเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับภาคธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงภาคการขนส่งที่มีความเสี่ยงลดลงจากปีก่อนๆ
ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561
ไตรมาส 4 ปี 2561 เปรียบเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2560
กลุ่มธนาคารประกาศรายได้สุทธิอยู่ที่ 916 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ในไตรมาส 4 ของปี 2561 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 7 จากปีที่ผ่านมา
รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10 เป็น 1.61 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ สืบเนื่องจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อร้อยละ 11 สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.80%
รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการรับสุทธิลดลงร้อยละ 8 อยู่ที่ 467 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยเป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการความมั่งคั่งและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับสินเชื่อลดลงท่ามกลางสภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนของตลาด แม้ว่ากระแสรายรับที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ายังคงสม่ำเสมอในไตรมาสนี้ แต่รายได้อื่นๆ ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 46 อยู่ที่ 140 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลล่าร์ โดยมีปัจจัยหลักจากกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการตีราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ผันผวน
ค่าใช้จ่ายรวมลดลงร้อยละ 4 อยู่ที่ 984 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับรายได้และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่ลดลง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 44.4 เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 46.0 ของปีก่อน
เงินกันสำรองรวม ลดลงร้อยละ 9 อยู่ที่ 128 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์เนื่องจากมีการกันสำรองสำหรับภาคธุรกิจน้ำมันและก๊าซรวมถึงภาคขนส่งในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ ร้อยละ 0.22 ในไตรมาสนี้
เปรียบเทียบ ไตรมาส 4 ปี 2561 กับ ไตรมาส 3 ปี 2561
รายได้สุทธิลดลงร้อยละ 12 อยู่ที่ 916 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 1.61 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลล่าร์สอดคล้องกับไตรมาสก่อน รายได้จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเกิดจากการเติบโตของสินเชื่อในอัตราร้อยละ 3 ในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงร้อยละ 0.01 เป็นร้อยละ 1.80
รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการรับสุทธิลดลงร้อยละ 4อยู่ที่ 467ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ เนื่องมาจากค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการความมั่งคั่งและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับสินเชื่อที่ลดลงประกอบกับความเชื่อมั่นของตลาดที่ลดลง รายได้อื่นๆ ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 42โดยมีปัจจัยมาจากรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและการลงทุนที่ลดลง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของกระแสรายได้ที่เกี่ยวกับลูกค้า
ค่าใช้จ่ายรวมลดลงร้อยละ 3 ประกอบกับรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
เงินกันสำรองรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เป็น 128 ล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีปัจจัยหลักมาจากเงินกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มสูงขึ้นในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
เงินรายได้จากบริษัทในเครือลดลงจำนวน 25 ล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ในไตรมาสนี้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการตีราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทในเครือ
ฐานะการเงินที่มั่นคงและเงินทุนที่แข็งแกร่ง
สถานะเงินทุนของกลุ่มธนาคารยังคงแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากที่เข้มแข็งอยู่ที่ร้อยละ 88.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว สินเชื่อรวมเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เป็น 262 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ ขณะที่เงินรับฝากยังคงเดิมอยู่ที่ 293 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์
อัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องในสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์และสกุลเงินอื่นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 209 และร้อยละ 135 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ร้อยละ 100 และ ร้อยละ 90 อัตราส่วนการจัดหาเงินทุนสุทธิคิดเป็นร้อยละ 107 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 1.5 จากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา อัตราส่วนการตั้งสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงมีอัตราคงที่คิดเป็นร้อยละ 87 หรือร้อยละ 202 หากนับรวมหลักประกัน เงินกันสำรองรวมสำหรับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพออยู่ที่ 1.98 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เป็น 37.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์โดยปัจจัยหลักมาจากกำไรสะสมที่เพิ่มสูงขึ้น
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 13.9 อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 กว่า 2 เท่า ซึ่งกลุ่มธนาคารยังคงมีการลงทุนอย่างเหมาะสมท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในอนาคต
สาส์นจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
นาย วี อี ชอง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “การเติบโตอย่างเข้มแข็งของเครือข่ายหลักของกลุ่มธนาคารส่งผลให้เรามีผลกำไรในปี 2561 ซึ่งทำสถิติสูงสุด ด้วยงบดุลและสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของเราในอัตรา 1.00 เหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์ต่อหุ้นสามัญ และเงินปันผลพิเศษ 20 เซ็นต์สำหรับปี 2561
แม้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกที่เกิดขึ้น กลุ่มธนาคารยังคงมุ่งมั่นสานต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และดำเนินการตามแนวทางที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับอนาคตที่ท้าทาย กลุ่มธนาคารของเราอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะดำรงศักยภาพในการเติบโตอย่างเข้มแข็งให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคนี้ในฐานะผู้เล่นในระยะยาวที่มีความรู้เชิงลึกและมีเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กลุ่มธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นลงทุนสำหรับลูกค้าของเราในภูมิภาคนี้โดยเพิ่มขีดความสามารถผ่านทุกช่องทางของธนาคารและผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรในเครือข่ายระบบนิเวศทางธุรกิจของเรา เช่นพันธมิตรรายล่าสุด Prudential และ Grab อย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนอโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมและมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นเพื่อวางรากฐานในการเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ “เลือกใช้บริการมือถือเป็นลำดับแรก (Mobile first) และ กลุ่มลูกค้าที่ “เลือกใช้บริการมือถือเพียงอย่างเดียว” (Mobile only)” ให้ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนผ่านการเปิดตัวบริการธนาคารดิจิทัล โดยเริ่มจากประเทศไทยเป็นประเทศแรก