ภาพ : Designed by Freepik
หลังจากที่ก่อนหน้านี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่าน “ร่างกฎหมายเก็บภาษีพ่อค้า–แม่ค้าออนไลน์” ไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ล่าสุดได้ประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ในวันนี้ (20 มีนาคม 2561) ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th
ใจความสำคัญของกฎหมายนี้ได้ระบุว่า หากมีธุรกรรมใดธุรกรรมหนึ่งที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี ได้แก่
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝาก หรือ รับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป
ใครที่เข้าข่ายจะต้องส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ต่อกรมสรรพากรครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 หากใครไม่กำหนดปฏิบัติตามได้ กำหนดบทลงโทษทางปรับทางปกครองไม่เกิน “100,000 บาท” และปรับอีกไม่เกินวันละ “10,000 บาท” ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎหมายนี้ย้อนแย้งนโยบายสนับสนุนสังคมไร้เงินสดหรือไม่ โดยเฉพาะหากเจ้าของบัญชีที่ไม่ได้เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่บังเอิญบัญชีมีการเคลื่อนไหวตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30 – 39 ปี ที่มี 10.7 ล้านคน พบว่าเป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย และไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน โดยยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง
“ผมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย”
อ้างอิง :
- https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/034/T_0023.PDF
- https://mgronline.com/daily/detail/9610000121779