ลดหวานแล้วโต “เนสท์เล่” โชว์พอร์ต “สินค้าสุขภาพ” พุ่งเหนือตลาด F&B

หลังจาก พ.ร.บ. สรรพสามิตฉบับใหม่ เรียกเก็บภาษีความหวาน จากผลิตภัณฑ์ทุกชนิดรอบแรกเดือนกันยายน 2560 ในเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานเกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิมิตร ต้องเสียภาษี และเดือนตุลาคมนี้ ภาษีน้ำหวานรอบใหม่ จะจัดเก็บเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่เกิน 10 กรัมต่อ 100 มิลลิมิตร แบบขั้นบันได อัตราสูงสุดเพิ่มขึ้น 400% ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการจึงเดินหน้า “ลดหวาน” กันเต็มสตึม

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่าในจำนวนสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage หรือ F&B) 14 แคทิกอรี่ กว่า 500 เอสเคยู ในปี 2018 เติบโต 3.1% สูงกว่าภาพรวมตลาด F&B ที่ขยายตัว 1.9% หรือมีมูลค่า 104,000 ล้านบาท ปี 2019 เชื่อว่ายังเติบโตได้ในระดับ 3.5%

วิคเตอร์ เซียห์

ปัจจัยที่ทำให้ เนสท์เล่ เติบโตได้เหนือตลาด มาจากการขับเคลื่อนของกลุ่มสินค้ากาแฟ “เนสกาแฟ” ซึ่งมีสัดส่วน 50% ของพอร์ตโฟลิโอ ที่ยังเติบโตได้ 3% ในปีก่อน จากสินค้านวัตกรรมใหม่และ “เนสกาแฟ ฮับ” ร้านกาแฟเสิร์ฟผู้บริโภคนอกบ้าน เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ที่ยังมีเทรนด์ขยายตัว ทั้งเครื่องดื่มไมโล ซอสปรุงอาหารแม็กกี้ กลุ่มไอศกรีม

48 สินค้าทางเลือกสุขภาพลุยตลาด

ปฎิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มสินค้าที่ผลักดันการเติบโตมากจาก การพัฒนาสินค้าทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice Logo หรือ HCL) ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเนสท์เล่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ 48 ผลิตภัณฑ์มากที่สุดในประเทศไทยและจะมีเพิ่มเป็น 50 ผลิตภัณฑ์ในเร็วนี้ๆ การพัฒนาโปรดักต์ดังกล่าวมาจากเทรนด์ดูแลสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และนโยบายรัฐบาลมุ่งส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากภาษีความหวาน

ปัจจุบันเนสท์เล่มีสัดส่วนรายได้จากสินค้าทางเลือกสุขภาพ 30% วางเป้าหมายเพิ่มเป็น 50% ในอนาคต โดยจะมีการเปิดตัวสินค้านวัตกรรมใหม่ในกลุ่มนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ชูน้ำตาลต่ำเสริมพอร์ต

สมฤดี บุญให้เจริญ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและบริการทางการตลาด บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาสินค้าทางเลือกสุขภาพ จะเริ่มที่ลดน้ำตาลให้ต่ำกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เป็นลำดับแรก เพราะต้องยอมรับว่าผู้บริโภคยังติดเรื่อง “รสชาติ” ผลิตภัณฑ์

แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรม “ไม่เติมน้ำตาลทราย” และยังคงรสชาติดี ก็จะพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ออกมาทำตลาดเช่นกัน ที่เปิดตัวไปแล้วคือ “ไมโล” สูตรไม่เติมน้ำตาลทราย เปิดตัวทำตลาดครั้งแรกของโลกช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและได้รับผลตอบรับดี ขณะที่ ไมโล สูตรน้ำตาลต่ำ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้าช่วยกระตุ้นการเติบโตไมโล เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก สูงกว่าภาพรวมเครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ที่เติบโต 4-5% มีมูลค่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กาแฟดำ อเมริกาโน่ ของเนสกาแฟ ที่มีน้ำตาลต่ำ เป็นสินค้าที่เติบโตก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับร้านกาแฟ “เนสกาแฟ ฮับ” ได้เปิดตัวเครื่องดื่ม 3 สูตรใหม่ น้ำตาลต่ำ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค

ปีนี้จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไม่เติมน้ำตาลอีก 2-3 นวัตกรรม รวมทั้งกลุ่ม “น้ำตาลต่ำ” เพื่อผลักดันพอร์ตโฟลิโอ กลุ่มสินค้าทางเลือกสุขภาพให้มีรายได้ตามเป้าหมายที่สัดส่วน 50% ในอนาคต

ปัจจุบันเนสท์เล่ให้งบประมาณ R&D ราว 2-3% ของยอดขายในการพัฒนานวัตกรรมโปรดักต์ใหม่ ประเทศไทยในงบประมาณในสัดส่วนดังกล่าว ซึ่งการพัฒนาสินค้าทางเลือกสุขภาพแต่ละผลิตภัณฑ์จะใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน บางตัวใช้เวลา 4 เดือน บางตัว 2 ปี แต่จะมีสินค้าออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี

เปิดแคมเปญเนสท์เล่คนไทยแข็งแรง

เนสท์เล่ทำตลาดไทยมากว่า 126 ปี ภายใต้แนวคิด Good Food, Good Life ปัจจุบันคนไทยบริโภคสินค้าของเนสท์เล่วันละ 1 ล้านคน ล่าสุดได้เปิดตัวแคมเปญประจำปี 2562 เนสท์เล่คนไทยแข็งแรง ด้วย “3 อ” ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับแคมเปญ “เนสท์เล่คนไทยแข็งแรง” ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 85 ล้านบาทในการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ เช่น เว็บฟิล์ม 3 ตอน ที่นำรูปแบบของรายการขายตรงแบบโฮมช้อปปิ้งทางทีวี โดยใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ที่หาง่ายๆ ภายในบ้าน มาทำให้เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยออกกำลังกาย ที่ทุกคนเริ่มต้นทำได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รวมทั้งกิจกรรมสื่อดิจิทัลและสื่อโซเชียลมีเดีย โดยร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ โปรโมตแนวคิด “3 อ” ให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ การเปิดตัว ซูเปอร์มัมแช็ตบอต เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ด้านโภชนาการด้วยกิจกรรมและช่องทางการสื่อสารต่างๆ คาดว่าแคมเปญนี้จะเข้าถึงผู้คนกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศไทย