CP ALL ปิ๊งไอเดียจัดงาน “วันแห่งโอกาสดี” หวังปั้นแบรนด์คนดีผ่านระบบซัพพลายเชน 7-11

ถึงเซเว่นอีเลฟเว่นจะเป็นธุรกิจที่ใครๆ ก็นึกถึง แต่ทุกครั้งที่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็มักจะมาพร้อมข้อกังขา โดยเฉพาะประเด็นกินรวบธุรกิจ เหมือนที่ทำให้ร้านของชำแทบจะหายไปจากสังคมไทยแล้วโดยสิ้นเชิง แม้บริษัทจะมีกิจกรรมซีเอสอาร์ที่ทำมาต่อเนื่องอย่างหนักในหลายๆ ด้าน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพยายามหาอะไรที่จะสะท้อนให้เห็นภาพของความเป็นแบรนด์คนดี ที่มีส่วนช่วยให้สังคมไทยพัฒนาขึ้นในหลายๆ แง่มุม

ล่าสุด ซีพี ออลล์ (CP ALL) สบโอกาสจัดงาน วันแห่งโอกาสดี @ CP ALL ขึ้นเป็นปีแรก

แม้ตามโจทย์ธุรกิจ งานนี้จะมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นคุณประโยชน์จากซัพพลายเชนย่อยๆ ของกลุ่มเอสเอ็มอีผู้ค้าขายกับซีพี ออลล์ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงบอกต่อด้วยว่า จากโอกาสที่พวกเขาได้รับจากซีพี ออลล์ ทำให้พวกเขาสามารถสร้างโอกาสให้กับคนรอบข้าง จนกลายเป็นการเปิดโอกาสของการให้ที่ขยายต่อออกไปได้อย่างไรบ้าง

เรียกว่า อีเวนต์ครั้งนี้จะเป็นการรวมโอกาสให้ทุกคนเข้ามาทำธุรกิจกับซีพี ออลล์ ได้ในหลายมิติ ส่วนผลลัพธ์ที่เหลือในขั้นตอนท้ายสุดที่ซีพี ออลล์ คาดหวังไว้ว่า ภาพที่รวบรวมมานำเสนอผ่านอีเวนต์เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้นี้ จะช่วยเปลี่ยนภาพซีพี ออลล์ ให้เป็นที่รักได้มากขึ้นมากน้อยแค่ไหน ต้องรอวัดผลกันเป็นระยะๆ อีกที

วันแห่งโอกาสดีฯ คืออะไร

วันแห่งโอกาสดี @ CP ALL เป็นงานที่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จะจัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรกระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 62 ณ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ในรูปแบบของตลาดนัดที่รวมเอากิจกรรมด้านธุรกิจ อาชีพ และทุนการศึกษา รวมทั้งเปิดจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีและสินค้าเกษตรที่จำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ภายใต้สังกัดของซีพี ออลล์ มารวมไว้ในงานเดียวกัน

ซีพี ออลล์ ต้องการให้งานนี้เป็นการแสดงถึงเป้าหมายของธุรกิจ ว่าต้องการมีส่วนสร้างและแบ่งปันโอกาสให้กับส่วนต่างๆ ในสังคม

เรื่องแบบนี้ไม่ต่างกับการชื่นชมผลงาน จะพูดเองก็คงไม่เหมาะ ดังนั้นนอกจากจัดให้งานนี้เป็นแหล่งรวมทุกกิจกรรมในซัพพลายเชนของธุรกิจร้านเซเว่นฯแล้ว ซีพี ออลล์ จึงใช้วิธีเปิดโอกาสให้พันธมิตรธุรกิจในส่วนต่างๆ เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จแทนแบรนด์ ขณะที่แบรนด์ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอสิ่งต่างๆ ผ่านงานครั้งนี้

สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนจะมีงานวันนี้ ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาที่มีร้านเซเว่นฯ เกิดขึ้นในไทย ถือว่าบริษัทได้รับโอกาสจากคนไทยในการตอบรับธุรกิจจนเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงเลือกจัดกิจกรรมซึ่งเป็นการคืนกลับให้สังคมใน 4 มิติ ได้แก่

มิติแรกคือโอกาสทางธุรกิจกับซีพี ออลล์ สำหรับคู่ค้า พันธมิตร ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี และเกษตรไทยกว่า 3 หมื่นราย ให้มีช่องทางจำหน่ายสินค้าไปทั่วประเทศผ่านร้านเซเว่นฯกว่า 1 หมื่นแห่ง รวมทั้งสร้างเจ้าของธุรกิจ หรือ เจ้าของร้านเซเว่นฯ ที่ซีพี ออลล์เปลี่ยน จากอดีตในรูปแบบแฟรนไชส์ซี มาเป็น สโตร์ บิสิเนส พาร์ตเนอร์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 6,000 ร้าน

มิติที่สอง โอกาสทางอาชีพการมีงานทำ ให้กับคนไทยทั่วประเทศ โดยส่วนหนึ่งยังได้ทำงานที่จังหวัดบ้านเกิด ซึ่งปัจจุบันมีการจ้างพนักงานทั่วทุกภูมิภาคกว่า 170,000 คน

มิติที่สาม โอกาสทางการศึกษา โดยได้มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาไปแล้วกว่า 40,000 ทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (พีเอที) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ และสถานศึกษาในเครือข่าย มีการผลิตเยาวชนออกสู่สังคมไปแล้วกว่า 5 หมื่นคน

มิติที่สี่ โอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการ มีการวิจัยและพัฒนาที่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ด้าน บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงรายละเอียดภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการด้านโอกาสต่างๆ ที่จัดแสดงภายในซีพี ออลล์ พาวิเลี่ยน การแสดงสินค้าของผู้ประกอบการ SME และของบริษัทต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจซีพี ออลล์และบูธสโตร์ บิสิเนส พาร์ตเนอร์ เซเว่น อีเลฟเว่น การให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ รับสมัครงานในกลุ่มซีพี ออลล์ กว่า 35,000 อัตรา และสัมมนาฟรีในหัวข้อต่างๆ ให้กับ SME

ซีพี ออลล์ ให้อะไร ให้พันธมิตรช่วยพูด

ซีพี ออลล์ คัดตัวแทนพันธมิตร มาร่วมพูดถึงโอกาสจากการร่วมธุรกิจกับบริษัทในมุมที่ต่างกัน เริ่มจาก โชติวัฒน์ ตระกูลมีโชคชัย สโตร์พาร์ตเนอร์ หรือผู้ร่วมธุรกิจร้านเซเว่น อีเลฟเว่น คนรุ่นใหม่ที่วิ่งเล่นในร้านเซเว่นฯ ของคุณพ่อคุณแม่ที่ทำธุรกิจร้านเซเว่นฯ ตั้งแต่ 20 ปีก่อน จนครอบครัวมีร้านรวม 7 สาขา เมื่อเขาเรียนจบก็ฝึกบริหารร้านเดิมของครอบครัว แต่ด้วยสไตล์การบริหารงานแบบคนรุ่นใหม่ตอนหลังจึงเลือกที่จะแยกมาลงทุนร้านของตัวเอง

“ผมมองว่าร้านเซเว่นฯ เป็นเหมือนธุรกิจครอบครัว ที่เราสามารถสร้างการเติบโตขยายร้านได้เหมือนธุรกิจทั่วไป ด้วยความที่คนรุ่นผมกับรุ่นคุณพ่อคุณแม่ก็จะมีสไตล์การบริหารไม่เหมือนกัน ผมก็เลยแยกมาลงทุนของตัว และซีพี ออลล์ ก็ให้โอกาสเราที่จะเติบโตขยายได้โดยไม่ปิดกั้น หลังจากตัดสินใจเปิดร้านของตัวเองมา 2-3 ปี ตอนนี้ขยายเป็น 2 ร้านแล้ว”     

ด้าน วุฒิชัย เจริญศุภกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังผัก จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ผักสลัดและผลไม้พร้อมรับประทาน แบรนด์ “โอ้! เวจจี้” กล่าวว่า โอกาสที่บริษัทได้จากเซเว่นฯ คือการเปิดตลาดสลัดผักพร้อมทานแบรนด์แรกในร้านสะดวกซื้อเมื่อ 8 ปีก่อน เริ่มจาก 300 ร้านค้า แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ได้ทีมวิจัยตลาดเซเว่นฯ คอยช่วย บวกกับการลงสำรวจตลาดด้วยตัวเอง ทำให้บริษัทจับตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ถูกทาง

“ไม่ใช่ทุกสาขาที่ขายได้ เพราะผมขาย 29 บาท แต่สลัดผักในตลาดขาย 25 บาท แถมมีไข่เป็นลูกด้วย แต่ก็ไม่ได้ถอยทีเดียว เพราะหลังจากลงไปสำรวจพบบางสาขาขายได้ เช่น สาขาในโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย อาคารสำนักงาน ฯลฯ พอรู้ตลาด เราก็กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และเลือกพื้นที่จำหน่ายได้ดีขึ้น จากนั้นก็เพิ่มไลน์สินค้าขยายไปสู่ผลไม้พร้อมทาน อย่างมะม่วงน้ำปลาหวาน จนปัจจุบันสามารถขยายสินค้ากระจายไปทั่วประเทศ รวมแล้วมีสินค้า 15 SKU ที่ขายอยู่ในเซเว่นฯ”

วุฒิชัย กล่าวด้วยว่า การเติบโตของโอ้ เวจจี้ ยังมีผลต่อเกษตรกรผู้ปลูกผักผลไม้ ที่ส่งสินค้าให้บริษัทมีตลาดที่แน่นอนตามมาด้วย เพราะเมื่อบริษัทสามารถกำหนดปริมาณการขายที่แน่นอน ทำให้วางแผนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เกษตรกรผู้ปลูกผักวางแผนการปลูกและรู้ราคารู้รายได้ล่วงหน้า มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ   

วีระ ตั้งวุฒิไกรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ละมาย ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ขนมหวานวุ้นมะพร้าวตราแม่ละมาย เป็นอีกรายที่เติบโตมาพร้อมกับเซเว่นฯ เริ่มจากติดต่อขอส่งวุ้นขายในเซเว่นฯ 20 สาขา ยอดส่งสินค้าหลักร้อยต่อวัน ปัจจุบันมียอดส่งสินค้าทั่วประเทศกว่า 40,000 ชิ้น ก็เติบโตมาในลักษณะใกล้เคียงกัน และยังสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรายย่อยรวมทั้งเกษตรกรในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการทำอาชีพเพิ่มขึ้น

ประสบการณ์ของผู้ประกอบการพันธมิตรแต่ละรายที่เซเว่นฯ เชิญมาเป็นตัวแทนเล่าถึงโอกาสที่ได้รับจากบริษัทฯ และโอกาสที่พวกเขาสร้างขึ้นส่งต่อให้สังคมรอบข้างเหล่านี้ คือสิ่งที่ซีพี ออลล์ อยากให้ผู้บริโภคทั่วไปรู้จักซีพี ออลล์ หรือ เซเว่นฯ ในอีกมุมหนึ่งผ่านงานที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้

ที่สำคัญที่สุด คือความคาดหวังที่จะทำให้ผู้บริโภคทั่วไปรู้สึกตรงกันว่า นอกเหนือจากที่ซีพี ออลล์ สามารถทำธุรกิจให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังเป็นผู้ให้ที่สำคัญคนหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ความพยายามของซีพี ออลล์ในด้านนี้ไม่เคยหยุดเหมือนกับจำนวนสาขาเซเว่นฯ ที่มีตัวเลขให้นับต่ออยู่เสมอ เพียงแต่ยังไม่เคยรวบรวมที่จะนำมาพูดในงานเดียวกันเหมือนงานที่จะจัดขึ้นในปีนี้เพื่อให้เกิดภาพสะท้อนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น.