รูปประกอบภาพจาก
- https://www.facebook.com/coffeeworldthailand
- https://www.facebook.com/punthaicoffee/
ราคาของน้ำที่ผันผวนตลอดช่วงหลายปีมานี้ ทำให้บริษัทที่มีธุรกิจ non-oil ในเมืองไทย ต่างขยับตัวกันอย่างคึกคัก เพื่อหารายได้ประจำที่มั่นคง ลดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
ปตท. ถือเป็นบริษัทที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่กลางปีที่แล้วบริษัทแม่ได้มีการโอนธุรกิจในส่วนของ non-oil ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการยื่นแบบแสดงคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) คาดจะเริ่มซื้อ – ขายภายในปี 2019
ภายใต้ PTTOR ประกอบไปด้วย คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ศูนย์บำรุงรักษารถยนต์ FIT Auto ร้านชานมไข่มุก “เพิร์ลลี่ที” ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ (Jiffy) ร้านโดนัทแด๊ดดี้โด (Daddy Dough) ร้านติ่มซำ ฮั่วเซ่งฮง และร้านฟาสต์ฟู้ดประเภทไก่ทอด เท็กซัสชิคเก้น (Texas Chicken) รวมกันเกือบ 3,000 สาขา
ความคืบหน้าของ PTTOR ได้กระตุ้นให้บริษัทน้ำมันอื่นๆ หันมาปักธงธุรกิจ non-oil กันอย่างคึกคัก โดยล่าสุด บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG หรือปั๊มน้ำมัน PT ซึ่งมียอดขายเป็นอันดับ 2 รองจาก ปตท. ได้ออกมาผลักดันธุรกิจ non-oil โดยตั้งความหวังไปที่ร้านกาแฟที่มีอยู่ในมือทั้ง ร้านกาแฟพันธุ์ไทย และ คอฟฟี่เวิลด์ มาเป็นหัวหอก
ปัจจุบันธุรกิจ non-oil ของ PTG ประกอบไปด้วย ร้านสะดวกซื้อ Max Mart, ร้านกาแฟพันธุ์ไทย, ร้านคอฟฟี่เวิลด์, ร้านข้าวแกงครัวบ้านจิตร, ร้านซ่อมบำรุงสำหรับรถบรรทุก, Autobacs และ Max CAMP เป็นต้น มีจำนวนรวมกว่า 504 สาขา
ในจำนวนปั๊มในปีที่ผ่านมา 1,883 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2,000 สาขา เน้นการขยายสาขาในทำเลที่สามารถรองรับการให้บริการ non-oil ภายใต้งบลงทุนรวม 3,500 ล้านบาท โดยเป้าหมายของ PTG ต้องการผลักดันให้สัดส่วนกำไรของ non-oil เพิ่มจาก 10% ในปีที่ผ่านมา เป็น 60-70% ภายในปี 2023
พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า
“PTG สนใจบุกธุรกิจ non-oil มาได้ 4-5 ปีแล้ว เพราะราคาของน้ำมันที่ไม่นิ่ง บริษัทจึงต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังอยู่ธุรกิจที่นิ่งกว่า โดยเฉพาะร้านกาแฟ ซึ่งหากเทียบให้เห็นภาพที่ชัดคือ ในขณะที่น้ำมันมีกำไรขั้นต้นเพียง 7-8% แต่ร้านกาแฟสูงถึง 60-70%”
ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า ธุรกิจร้านกาแฟยังเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งร้านกาแฟยังมีโอกาสเติบโตอีกมากจากข้อมูลจากสมาคมกาแฟไทย/สมาพันธ์กาแฟอาเซียน พบว่าตลาดร้านกาแฟในไทย มีมูลค่าตลาดรวม 17,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ทั่วไป 9,000 ล้านบาท และพรีเมียม 8,000 ล้านบาท
และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากอัตราการบริโภคของคนไทยที่มีอยู่เพียง 300 แก้ว/คน/ปี น้อยกว่าคนญี่ปุ่น 400 แก้ว/คน/ปี, ยุโรป 600 แก้ว/คน/ปี และยิ่งเทียบไม่ได้เลยกับกลุ่มสแกนดิเนเวียที่บริโภคสูงถึง 1,000 แก้ว/คน/ปี
โดยคอกาแฟไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเจนเอ็กซ์และเจนวายที่มีกำลังซื้อ และยังมีแนวโน้มฐานคนดื่มที่น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่รู้จักกาแฟมากกว่าสายพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า อีกทั้งยังต้องการวิธีการกิจกาแฟใหม่ๆ เพื่อเสพความเป็นอีโมชันนอลมากกว่าฟังก์ชั่นอย่างเดียว
สำหรับการบุกหนักร้านกาแฟของ PTG ในครั้งนี้เกิดจากความพร้อมในการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์ ซึ่งธุรกิจร้านกาแฟเกมการแข่งขันหลักไม่ได้อยู่ที่ราคา เพราะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่อยู่ที่ใครมีสาขาให้ลูกค้าเดินเข้าไปได้มากกว่ากัน และแม้ PTG จะมีแบรนด์ร้านค้ากาแฟอยู่ในมือ 2 แบรนด์ แต่ทั้งคู่ก็จับกลุ่มเป้าหมายไม่เหมือนกัน
“กาแฟพันธุ์ไทย” เป็นแบรนด์ที่ PTG ปั้นขึ้นมาเอง ภายใต้บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัดเมื่อ 7 ปีก่อน โดยเปิดสาขาแรกที่ปั๊มบางปะหัน อยุธยา วางโพสิซั่นจับลูกค้าในกลุ่มแมส ราคา 40-60 บาทต่อแก้ว ปัจจุบันมีทั้งหมด 203 สาขา เน้นขยายสาขาในปั๊มเป็นหลัง โดยเป็นเบอร์ 3 ในตลาดรองจาก “กาแฟอินทนิล” ของปั๊มบางจาก
ปีนี้วางแผนขยับขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 โดยตั้งเป้าเปิดอีกประมาณ 130 – 140 สาขา ในจำนวนนี้ราว 100 สาขา อยู่ในรูปแบบของแฟรนไชส์ โดยได้มีการวางแผยขยายออกไปนอกปั๊มด้วย ทั้งในมหาวิทยาลัยและอาคารสำนักงาน เป็นต้น ภายในปี 2023 ตั้งเป้ามีทั้งหมด 1,170 สาขา แบ่งเป็นลงทุนเอง 400 สาขา และแฟรนไชส์ 770 สาขา
ส่วน “คอฟฟี่เวิลด์” ได้ใช้เงิน 205 ล้านบาท ให้บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เข้าซื้อกิจการ และดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทเดิม บริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด วางโพสิชั่นเป็นกาแฟพรีเมียมราคาแก้วละ 100 บาทขึ้นไป เน้นขายในศูนย์การค้า ปัจจุบันมีในประเทศ 71 สาขา และต่างประเทศอีก 5 ประเทศ 10 สาขา
ในปีนี้วางแผนขยาย 20 สาขา เป็นการลงทุนเอง 10 สาขา และแฟรนไชส์ 10 สาขา และยังมีการขยายที่จีนอีก 30 สาขา และช่วงกลางปีวางแผนรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้ดูอายุน้อยลง โดยภายในปี 2023 ตั้งเป้ามีทั้งหมด 232 สาขา แบ่งเป็นลงทุนเอง 56 สาขา และแฟรนไชส์ 176 สาขา
หากเป็นไปตามแผนในปี 2023 จะมีสาขารวมกันราว 1,400 สาขา PTG จะผลักดันธุรกิจกาแฟให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ด้วยต้นเอง มีการหาทุนโดยไม่พึ่งบริษัทแม่ ที่สำคัญยังหารายได้เพิ่มเข้ามาอีกด้วย
ปีที่ผ่านมา PTG มีรายได้รวมประมาณ 107,000 ล้านบาท ปี 2019 ตั้งเป้าเติบโต 40% หรือคิดเป็นรายได้ 140,000 ล้านบาท เติบโต 40%.