หลังประกาศการจับมือตั้งแต่ปี 2565 ในที่สุดบริษัทร่วมทุนระหว่าง “บุญรอด” กับ “OR” ได้ฤกษ์เปิดตัวสองผลิตภัณฑ์แรก คือ “ชาเขียว Haru Cold Brew” และ “กาแฟ Café Amazon” ทั้งหมดอยู่ในเซ็กเมนต์เครื่องดื่มพร้อมดื่ม (RTD) ระดับ “พรีเมียม” พร้อมท้าชนในตลาดโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ คำถามคือ งานนี้ทำไมยักษ์ใหญ่จึงต้องจับมือกันเพื่อเข้าตลาด และต้องแข่งขันกับใครบ้าง
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นหนึ่งในยักษ์ตลาดเครื่องดื่มไทย ในเครือมีผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ เฉพาะตลาด ‘นอน-แอลฯ’ มีจำหน่ายน้ำดื่มตราสิงห์ น้ำแร่ตราเพอร์ร่าและฟิจิ โซดาสิงห์ และสิงห์เลมอนโซดา
ขณะที่ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ก็เป็นยักษ์น้ำมันที่แตกไลน์มาพัฒนาร้านกาแฟผ่านแบรนด์ Café Amazon จนเป็นเจ้าตลาด ขายได้ปีละกว่า 300 ล้านแก้ว
แต่เหตุที่เลือกจับมือกัน เพราะต่างมีเป้าหมายการขยายธุรกิจที่เล็งเห็นแล้วว่า “ไปด้วยกัน ไปได้เร็วกว่า”
“ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะขยายไลน์พัฒนาสินค้าประเภท FMCG ที่ลงขายในรีเทลให้มากขึ้น ขณะที่ “ภูริต ภิรมย์ภักดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กำลังหาโอกาสขยายไลน์สินค้าประเภท “กาแฟ” ที่บริษัทไม่เคยผลิตมาก่อน
ด้วยสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจากการเป็นคู่ค้าซื้อน้ำมันกันมา ทำให้มีโอกาสพูดคุยและนำมาสู่การร่วมลงทุน เพราะเห็นจุดแข็งของอีกฝ่ายที่ช่วยเติมเต็มกันได้
โดยจุดแข็งของบุญรอดคือการมีเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้า FMCG พร้อมทั่วประเทศ ช่วยเป็นสปริงบอร์ดให้ OR เข้าตลาดรีเทลได้ทันที
ขณะที่จุดแข็งของ OR คือความเชี่ยวชาญด้านเมล็ดกาแฟ มีแหล่งจัดซื้อและมีโรงคั่วของตัวเอง ที่สำคัญมี ‘economy of scale’ เพราะจัดซื้อร่วมกับร้านกาแฟ ซึ่งทำให้บุญรอดมีแต้มต่อเรื่องต้นทุนทันทีเช่นกัน
หลังจากซุ่มพัฒนาโปรดักส์กันมา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 บริษัทร่วมทุน ‘บริษัท ดริ๊งค์ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด’ จึงเริ่มเปิดตัวสินค้า 2 ตัวแรกของบริษัทคือ “ชาเขียวพร้อมดื่ม Haru Cold Brew” และ “กาแฟพร้อมดื่ม Café Amazon” ลุยชิงส่วนแบ่งตลาด
ชาเขียว Haru สู้ด้วยสไตล์ “มินิมอล”
สำหรับตลาด “ชาพร้อมดื่ม” นั้น ข้อมูลจากนีลเส็นระบุว่าเมื่อปี 2565 มีมูลค่าตลาดกว่า 13,000 ล้านบาท เติบโต 22% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยทำให้ตลาดโตหลักๆ มาจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลาย
ขณะที่การลงตลาดชาพร้อมดื่มของ JV ดริ๊งค์ เอนเตอร์ไพรส์ จะลุยตลาด “พรีเมียม” เป็นหลัก ด้วยราคาขวดละ 30 บาท
“ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล” ซีเอ็มโอของ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดชาพร้อมดื่มในกลุ่มพรีเมียมนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10-20% ของตลาดรวม และมีผู้เล่นหลัก 3 ราย คือ โออิชิ, อิชิตัน และ ฟูจิ นอกจากนั้นเป็นรายเล็ก เช่น อิโตเอ็น
ดังนั้น เมื่อจะสู้กับรายหลักที่อยู่มาก่อน ธิติพรกล่าวว่า ชาเขียว Haru Cold Brew มีการวางตำแหน่งทางการตลาดให้ฉีกออกจากคู่แข่งหลายด้าน เริ่มจากรูปลักษณ์ที่เป็น “Modern Japanese” เป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่ มินิมอล ซึ่งสอดคล้องกับภาพจำความเป็นญี่ปุ่นของคนรุ่นใหม่ที่เป็นเป้าหมายของแบรนด์ และฉีกจากคู่แข่งที่เน้นความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิม ไปจนถึงสูตรการผลิตที่เป็นชาเขียว “สกัดเย็น” เจ้าเดียวในตลาดขณะนี้ ให้รสชาติที่นุ่มนวลกว่า ใช้ปริมาณใบชาต่อมิลลิลิตรมากกว่า
แม้จะเสียเปรียบที่ต้องปั้นแบรนด์ใหม่ให้ติดหูติดปาก แต่ด้วยงบการตลาดและแผนปูพรมทั้งออนไลน์, สื่อนอกบ้าน (OOH), สื่อ ณ จุดขาย เชื่อว่าจะได้ผลตอบรับที่ดีได้
ธิติพรเล่าย้อนความเป็นมาด้วยว่า ที่จริงค่ายสิงห์เคยชิมลางตลาดชาพร้อมดื่มมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ขณะนั้นตลาดยังเป็นศึกช้างชนช้างของโออิชิกับอิชิตัน สาดโปรโมชันกันหนัก ทำให้ความพยายามผลักดันตลาดชาพรีเมียมของบุญรอดยังไม่ได้ผล การเปิดแบรนด์ Haru Cold Brew ครั้งนี้จึงถือเป็นการ ‘กลับมา’ ลุยตลาดชาพร้อมดื่มอีกครั้ง
กาแฟ RTD พรีเมียมยังโตได้อีกเยอะ
ฟากตลาดกาแฟพร้อมดื่มก็น่าสนใจเช่นกัน “สุชาติ ระมาศ” ผู้อำนวยการใหญ่ OR ฉายภาพ อัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1.5-1.6 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถ้าเทียบกับคนญี่ปุ่นที่บริโภคกาแฟ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แปลว่าการดื่มกาแฟของคนไทยยังเติบโตได้อีกมาก
ส่วนหนึ่งที่จะทำให้โตได้คือ “เพิ่มโอกาสการดื่ม” ของคนรักกาแฟ โดยสุชาติมองว่า คนหนุ่มสาวยุคนี้ที่ดื่มกาแฟสดมักจะใส่ใจเรื่องคุณภาพกาแฟมาก ทำให้ในช่วงที่ร้านกาแฟสดปิดซึ่งมักจะเป็นช่วงค่ำๆ ไปจนถึงกลางดึก หรือหากเป็นวันที่เร่งรีบมาก มีงานติดพัน ร้านกาแฟสดจะเสียโอกาสการขาย และลูกค้าก็ไม่มีตัวเลือกกาแฟดีๆ ในการดื่มทดแทน
นั่นเป็นช่องว่างของตลาด เพราะตลาดกาแฟพร้อมดื่ม RTD ที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ถึง 30,000 ล้านบาท มีเพียง 400-500 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นของกาแฟ RTD พรีเมียม สุชาติกล่าวว่า ถ้าเทียบกับในญี่ปุ่นแล้ว ในร้านสะดวกซื้อจะเรียงรายไปด้วยกาแฟพรีเมียมบนชั้นวาง แต่ตลาดไทยยังมีน้อยมาก เท่าที่เห็นก็เช่น เนสกาแฟ, บอส คอฟฟี่, ทรู คอฟฟี่ เป็นต้น
โอกาสของ Café Amazon แบบขวดจึงเปิดกว้าง ด้วยแบรนด์ที่แข็งแรงจากร้านกาแฟ เชื่อว่าผู้บริโภคจะตอบรับดี และเป็นไปได้ที่จะขึ้น Top 3 กาแฟ RTD กลุ่มพรีเมียมได้ตั้งแต่ปีแรก!
เป้าหมาย 1,000 ล้านภายใน 1-2 ปี
ธิติพรและสุชาติสรุปร่วมกันว่า เป้าหมายของดริ๊งค์ เอนเตอร์ไพรส์จากนี้ ปีแรกต้องการทำยอดขายกาแฟ Café Amazon แตะ 8 ล้านขวด และชาเขียว Haru Cold Brew แตะ 10 ล้านขวด
ส่วนเป้าหมายยอดขายใน 1-2 ปีนี้ ต้องการไปถึง 1,000 ล้านบาทต่อปีให้ได้ ขณะที่การออกสินค้าใหม่ๆ ก็จะมีเพิ่มเติมอีกแน่นอน โดยทั้งสองฝ่ายจะมองหาโอกาสและนำมาตัดสินใจร่วมกัน ด้วยเป้าหมายคือผลักดัน “ดริ๊งค์ เอนเตอร์ไพรส์” ให้เป็นรายใหญ่ของตลาดเครื่องดื่ม