หลังจากสถานการณ์ของ COVID-19 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตปกติ ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัว รายได้เริ่มกลับมาเติบโต บางแห่งรายได้เริ่มกลับมาเท่าปี 2019 หรือช่วงก่อนที่เกิด COVID-19 โดยที่ “โออิชิ กรุ๊ป” มีผลกำไรกลับมาเท่าปี 2019 แล้วเช่นกัน ในช่วงปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ และขยายพอร์ตให้ครบทุกเซ็กเมนต์
“ชาเขียว” ต้องจับทุกเซ็กเมนต์ ดันน้ำตาล 0%
ชาเขียวเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญของโออิชิ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดมีการหดตัวไปบ้าง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ เข้ามาแย่งแชร์ แย่งความสนใจจากผู้บริโภคไปได้ แต่ในปี 2022 ตลาดเริ่มกลับมาสัญญาณบวกมากขึ้น มีการเติบโต 22% มีมูลค่าตลาดกว่า 13,228 ล้านบาท
สาเหตุที่ตลาดมีการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากในตลาดมีการออกนวัตกรรมใหม่ๆ เซ็กเมนต์ใหม่ๆ อย่างชาเขียวระดับพรีเมียม ชาเขียวน้ำตาล 0% และมีทำกิจกรรมการตลาดต่อเนื่องทั้งปี ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ช่วงฤดูร้อน
รวมไปถึงการเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจ คลายล็อกดาวน์ ผู้บริโภคเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น หลายบริษัทให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ เป็นการกระตุ้นการบริโภคมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโออิชิได้พยายามเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ตามเทรนด์ผู้บริโภค อย่าง “ชาพรีเมียม” ภายใต้แบรนด์โออิชิ โกลด์ จับเทรนด์ผู้บริโภคที่ทานหวานน้อยลง และต้องการเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงเซ็กเมนต์อื่นๆ เพื่อจับผู้บริโภคระดับแมส อย่างชาผสมวุ้นมะพร้าว ชาผสมโซดา และในปีที่ผ่านมาก็ได้เปิดเซ็กเมนต์ “ชาน้ำตาล 0%” เพื่อรับกับเทรนด์ผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพมากขึ้นโดยเป็นการต่อยอดจากชารสชาติดั้งเดิมที่เป็นรสชาติขายดี
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
“ในปีที่ผ่านมาตลาดโตขึ้นจากปีก่อนๆ ส่วนหนึ่งเราพบว่ามีผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากดื่มน้ำเปล่า น้ำอัดลมมาดื่มชาเขียวมากขึ้น และโออิชิได้เปิดเซ็กเมนต์ใหม่น้ำตาล 0% ยิ่งช่วยทำให้ตลาดเติบโต โออิชิยังคงครองแชมป์เจ้าตลาดชาพร้อมดื่มหลังกวาดส่วนแบ่งตลาด 48% (ที่มา : NielsenIQ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนตุลาคม – กันยายน 2565) จากที่ 5-6 ปีก่อนเรามีส่วนแบ่งการตลาด 43%”
ในปี 2566 โออิชิได้เตรียม 4 กลยุทธ์หลักดังนี้
1) สื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวด เนื่องด้วยใบชานั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง มีสารคาเทชิน โดยเฉพาะยอดอ่อนใบชา 3 ใบ จากข้อมูลในหลายๆ งานวิจัยพบว่า คาเทชินทำหน้าที่ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระนี้เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียต่างๆ และเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่น
2) ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น
3) ขยายเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% สร้างการเติบโตให้กับสินค้ากลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออชิ ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภคหลังจากเปิดตัวไปในปีก่อน รวมถึง โออิชิ โกลด์ ก็ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และรางวัลต่าง ๆ มากมาย
4) ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน
แตกไลน์ร้านไม่ใช่บุฟเฟต์
ร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โออิชิมีมูฟเมนต์ค่อนข้างสูง ในช่วงปี 2565 ได้เปิดแบรนด์ใหม่ถึง 2 ร้าน ได้แก่ “โออิชิ บิซโทโระ” ร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน และ “ชาบู บาย โออิชิ” ร้านชาบู ชาบูในรูปแบบอะลาคาร์ท รวมถึงมีการรีโนเวต “โออิชิ แกรนด์” โฉมใหม่ที่สายามพารากอน
เหตุผลที่โออิชิเปิดแบรนด์ใหม่เยอะมากขึ้น เพื่อเป็นการบาลานซ์พอร์ตร้านอาหารที่ไม่ใช่บุฟเฟต์ จะสังเกตว่าร้านอาหารในเครือโออิชิแม้จะมีครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเมนต์แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบบุฟเฟต์ จนหลายคนมองว่าเป็นเจ้าพ่อร้านบุฟเฟต์ ทั้งโออิชิบุฟเฟต์, ชาบูชิ, โออิชิ แกรนด์ และโออิชิ อีทเทอเรียม
การมีร้านอาหารที่เป็นอาลาคาร์ท จะช่วยทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากขึ้น หลากหลายขึ้น อีกทั้งยังขยายสาขาออกมานอกศูนย์การค้ามากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงถ้าเกิดสถานการณ์ล็อกดาวน์ และยังสามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่ด้วย นอกเหนือจากเวลาทำการของศูนย์การค้า
“ในส่วนของธุรกิจร้านอาหารปีที่แล้วเปิดสาขาเพิ่ม 20 ร้าน มีแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์ โออิชิ บิซโทโระ และชาบู บาย โออิชิ เพื่อต้องการบาลานซ์พอร์ตที่ไม่ใช่มีแค่บุฟเฟต์ ในปีนี้ก็จะขยายสาขามากขึ้น ปรับโมเดลหลายอย่าง มีโมเดลไลท์ขึ้น อาจจะไซส์เล็กลง ไม่ต้องเข้าหัวเมืองใหญ่ เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น”
ในปีนี้โออิชิเตรียมขยายสาขาในเครือรวมทั้งหมด 30 สาขา จากแต่เดิมขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 12-15 สาขา เนื่องจากบางร้านมีไซส์เล็กลง ทำให้ขยายสาขาได้เร็วขึ้น มีโมเดลที่หลากหลายขึ้น ไปในจังหวัดรองมากขึ้น
ส่วนโออิชิ บิซโทโระจะเป็นแบรนด์แรกในเครือที่จะเริ่มนำร่องในการขายแฟรนไชส์ ด้วยตัวร้านเป็นประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นเมนูเข้าถึงง่าย ราคาย่อมเยา ทำให้ขยายสาขาได้ง่าย
ด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ในช่วงก่อนและหลังสถานการณ์แพร่ระบาด อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงพร้อมทาน ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มีคุณภาพ มีความสะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลายของประเภทอาหาร บริษัทฯ จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารสำเร็จรูปฯ โดยชูจุดแข็งด้านรสชาติ คุณค่าโภชนาการ และคุณภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ประกอบกับการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส (รวมทั้งน้ำซุปสุกี้ยากี้เข้มข้น), กลุ่มอาหารพร้อมทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส – แช่แข็ง)
กำไรกลับมาเกือบเท่าปี 2019
ด้านผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงได้ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้นจำนวน 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,878 ล้านบาท เติบโต 29.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,042 ล้านบาท เติบโต 16.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,836 ล้านบาท เติบโต 51.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ในส่วนของกำไรสุทธิรวมของบริษัทฯ คิดเป็นจำนวน 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 654 ล้านบาท เติบโต 120% จากปีที่ผ่านมา มาจากการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นมากเป็นหลัก และจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารที่ทำให้มีผู้บริโภคกลับมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น
นงนุชเผยว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาฟื้นตัว มีผลกำไรเกือบเท่าปี 2019 หรือในช่วงก่อนที่มี COVID-19 ที่ตอนนั้นมียอดขาย 13,631 ล้านบาท และกำไร 1,251 ล้านบาท