“โออิชิ แกรนด์” พลิกโฉมครั้งใหญ่ จับ “โอมากาเสะ” มาอยู่ในรูปแบบบุฟเฟต์

“โออิชิ แกรนด์” พอร์ตร้านอาหารญี่ปุ่นพรีเมียมในเครือโออิชิ กรุ๊ป พลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 8 ปี จับเทรนด์โอมากาเสะ ซูชิวัตถุดิบพรีเมียมมาอยู่ในไลน์บุฟเฟต์ เน้น Made to order เพื่อความสดใหม่ และลดขยะอาหาร พร้อมรีโนเวตเปลี่ยนโลเคชั่นใหม่

จับเทรนด์โอมากาเสะ อยู่ในไลน์บุฟเฟต์

อาหารญี่ปุ่นยังคงติดท็อปลิสต์อาหารยอดนิยมในดวงใจของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่คนไทยได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว หรืออาหาร ย่อมเป็นที่โปรดปรานอยู่ในอันดับแรกๆ ส่งผลให้ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผู้เล่นทั้งเชนร้านอาหารรายใหญ่ และร้านเล็กๆ อินดี้ทั้งหลายก็ลงมาจับตลาดนี้

ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมากินเวลา 2 ปีกว่า ก็มีส่วนทำให้ร้านอาหารล้มหายตายจากไปค่อนข้างมาก ส่วนตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็จะเป็นร้านเล็กๆ ร้านในระดับแมส ส่วนเซ็กเมนต์ในระดับพรีเมียมไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เพราะยังมีกลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออยู่ อีกทั้งในช่วงที่หลายคนยังเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ก็ใช้จ่ายเงินในการซื้อของ หรือทานอาหารที่พรีเมียมมากขึ้น เพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง

ในช่วงปีที่ผ่านมาจึงเห็นเทรนด์ของ “โอมากาเสะ” เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในแง่ของผู้บริโภคเองก็ต้องการอาหารที่พรีเมียมขึ้น เลือกจากวัตถุดิบดีๆ อาจจะไม่ได้เน้นที่ความคุ้มค่าอย่างเดียวแล้ว ส่วนในแง่ของร้านอาหาร ก็ได้เห็นการเปิดใหม่มากขึ้นเช่นกัน เพื่อรับกับเทรนด์ผู้บริโภค

“โออิชิ กรุ๊ป” เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น ในพอร์ตในร้านอาหารญี่ปุ่นเกือบครบทุกเซ็กเมนต์ ทั้งบุฟเฟต์ ปิ้งย่าง ชาบู ราเมน และข้าวหน้าต่างๆ เป็นต้น ในส่วนของเซ็กเมนต์พรีเมียมโออิชิ กรุ๊ปมี “โออิชิ แกรนด์” เป็นหัวหอกหลัก ยืนหยัดสาขาเดียวที่สยาม พารากอน เพื่อคงคาแร็กเตอร์ความพรีเมียม

โออิชิแกรนด์ทำตลาดมา 23 ปีแล้ว แรกเริ่มเดิมทีได้พื้นที่ตั้งอยู่ที่ “สยามดิสคัฟเวอรี่” หลังจากนั้นได้ทำการรีโนเวต รีแบรนดิ้งใหม่ พร้อมย้ายโลเคชั่นมาอยู่ที่สยามพารากอนได้ราวๆ 8-9 ปีแล้ว ในปีนี้ก็เป็นปีแห่งการโยกย้ายอีกครั้ง ได้ย้ายโลเคชั่นมาอยู่ในโซนฟู้ด พาสสาจ ชั้น 4 อยู่ในชั้นเดิม เพิ่มเติมคือเดินเข้ามาในโซนอาหารด้านในสุด ใช้เวลาปรับปรุงร้านประมาณ 3 เดือน

ทำเลใหม่นี้ทราฟฟิกอาจจะน้องกว่าที่เดิม เพราะต้องเดินเข้ามาด้านในเกือบจะถึงทางออกลานจอดรถ แต่เป็นช่วงที่ทางร้านหมดสัญญากับทางศูนย์พอดี อีกทั้งทางศูนย์ต้องการเพิ่มทราฟฟิกให้โซนฟู้ด พาสสาจ จึงอยากให้โอชิแกรนด์เป็นหนึ่งในแม็กเน็ตในการเพิ่มทราฟฟิกตรงนี้

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มเล่าว่า

“โออิชิ แกรนด์โฉมใหม่ จะไม่เหมือนแบบเดิม ยังคงเป็นบุฟเฟต์อยู่ แต่จะเป็นแนวอาลาคาร์ทบุฟเฟต์ เน้นที่คุณภาพ และความเป็นญี่ปุ่นแท้ พร้อมกับเราเห็นอินไซต์ของผู้บริโภคพบว่าเน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อยากกินของดี เน้นความยั่งยืน เลยเอาอินไซต์เหล่านั้นมาปรับปรุงร้านใหม่”

ไฮไลต์ของโออิชิ แกรนด์โฉมใหม่ก็คือ การจับเทรนด์ของโอมากาเสะที่กำลังได้รับความนิยม โดยนำวัตถุดิบเทียบเท่ากับซูชิระดับโอมากาเสะ มาอยู่ในไลน์บุฟเฟต์ นั่นก็คือสามารถสั่งโอมากาเสะได้แบบไม่อั้น

โออิชิ แกรนด์โฉมใหม่มีพื้นที่ 400 ตารางเมตร มีที่นั่งทั้งหมด 130 ที่นั่ง เล็กกว่าที่เดิมประมาณหนึ่ง ที่เดิมมีพื้นที่ 600 ตารางเมตร มีที่นั่งรวม 200 ที่นั่ง แต่ทางผู้บริหารบอกว่าที่ใหม่อาจจะเล็กกว่า แต่จะเทิร์นโอเวอร์ได้ดีกว่า เพราะที่เดิมโต๊ะจะเคลื่อนย้ายไม่ได้ฟิกซ์อยู่กับที่ เวลามีลูกค้ากลุ่มใหญ่ก็จะปรับยาก ส่วนที่ใหม่โต๊ะจะปรับได้สะดวกกว่า

เมนูที่นี่จะเน้นความวาไรตี้มากขึ้น มีเมนูรวมกว่า 200 รายการ โดยมีบุฟเฟต์ 3 ระดับ 3 ราคา

  • ระดับ PREMIUM Buffet : เมนูยอดนิยมรวมกว่า 140 รายการ ในราคา 1,059 บาท++
  • ระดับ PLATINUM Buffet : เมนูพิเศษ อาทิ ซูชิโฮตาเตะย่างซอสอูนิ ยากินิคุเนื้อวากิว หอยเชลล์ซอสมิโสะย่างใบโฮบะ ฯลฯ รวมกว่า 190 รายการ ในราคา 1,659 บาท++
  • ระดับ PRESTIGE Buffet : เมนูพิเศษ อาทิ ซูชิชูโทโร่คาเวียร์ กุนกันอูนิเนกิโทโร่คาเวียร์ ยากินิคุเนื้อวากิวญี่ปุ่น A4 ฯลฯ รวมกว่า 200 รายการ ในราคา 2,659 บาท++

โดยแต่ละระดับนั้นสามารถใช้บริการและรับประทานอาหารได้ไม่จำกัด ภายในระยะเวลาถึง 2 ชั่วโมงเต็ม ราคาเริ่มต้นถือว่าเพิ่มขึ้นจากที่เดิมซึ่งมีราคา 995 บาท เป็นราคาสุทธิแล้ว

Made to Order ลดขยะอาหาร

นอกจากที่โออิชิ แกรนด์ได้วางจุดยืนเป็นโอมากาเสะระดับบุเฟต์แล้ว ยังเป็นอาลาคาร์ทบุฟเฟต์ด้วย นั่นก็คือสามารถสั่งอาหารแบบ Made to Order เพื่อการปรุงอาหารแบบสดใหม่ ลดการวางอาหารที่เคาน์เตอร์บาร์ สามารถลดจำนวนของขยะอาหาร หรือ Food Waste ได้

“โออิชิ แกรนด์ที่เดิมจะเน้นปริมาณ มีความเป็นญี่ปุ่น และอินเตอร์เนชันนอลบุฟเฟต์ ส่วนโฉมใหม่จะเน้นที่คุณภาพ เน้นวาไรตี้ของอาหารของซูชิ และซาซิมิที่หลากหลายขึ้น ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้เมนูต่อเมนู ได้อาหารที่สดใหม่ อีกส่วนหนึ่งสามารถลดขยะอาหารที่เหลือโดยไม่จำเป็นจากบุฟเฟต์ด้วย” 

นงนุชยังเสริมอีกว่า แต่ความเป็นบุฟเฟต์ก็ยังไม่สามารถละทิ้งบาร์อาหารบุฟเฟต์ไปได้ เพราะอินไซต์ของคนที่มาทานบุฟเฟต์คือคนที่หิวจัด ไม่อยากรอนาน จำเป็นต้องมีเคาน์เตอร์วางอาหารบุฟเฟต์ 10% เป็นส่วนของซูชิ และอาหารทานเล่น ขนมหวาน ส่วนซูชิ ซชิมิแบบโอมากาเสะก็สามารถสั่งได้ ยังคงต้องใช้โมเดลแบบไฮบริด ไม่สามารถโละเคาน์เตอร์บุฟเฟต์ออกไปได้เลย

โออิชิ แกรนด์โฉมใหม่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา อาจจะยังประเมินได้ยากถึงเป้าหมายทั้งทราฟฟิกผู้ใช้บริการ และรายได้ อาจจะต้องทดลองตลาดสักพัก แต่ทางผู้บริหารเชื่อว่าคอนเซ็ปต์ใหม่จะได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากมีการปรับปรุงตามเทรนด์ผู้บริโภค อีกทั้งยังเน้นความยั่งยืนมากขึ้น

ปัจจุบันโออิชิ กรุ๊ปมีร้านอาหารในเครือที่ครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเมนต์ ได้แก่

ร้านอาหารระดับพรีเมียม (ราคา 1,000 บาทขึ้นไป)

  • SAKAE (ซาคาเอะ)
  • HOU YUU (โฮว ยู)
  • OISHI GRAND (โออิชิ แกรนด์)

ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส (ราคา 700 บาทขึ้นไป)

  • OISHI EATERIUM (โออิชิ อีทเทอเรียม)
  • OISHI BUFFET (โออิชิ บุฟเฟต์)
  • NIKUYA By OISHI (นิกุยะ)
  • SHABU By OISHI (ชาบู บาย โออิชิ)

ร้านอาหารระดับแมส (ราคาไม่เกิน 500 บาท)

  • Shabushi By OISHI (ชาบูชิ)
  • OISHI RAMEN (โออิชิ ราเมน)
  • KAKASHI By OISHI (คาคาชิ)
  • OISHI BIZTORO (โออิชิ บิซโทโระ)

สำหรับผลประกอบการใน 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565) โออิชิ กรุ๊ปมีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,362 ล้านบาท เติบโตเป็นจำนวน 1,724 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22.6% จาก 9 เดือนแรกของปีก่อน โดยเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 689 ล้านบาท หรือ 14.6% และรายได้จากธุรกิจอาหาร 3,962 บาท เพิ่มขึ้น 1,035 ล้านบาท หรือ 35.4% ส่วนกำไรสุทธิรวม 1,011 ล้านบาท สูงขึ้นกว่า 485 ล้านบาท หรือ 92% จาก 9 เดือนแรกของปีก่อนจากทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจอาหาร