กลุ่มฟู้ด “ไทยเบฟ” วางเป้าโต 1,200 สาขา เล็งส่งออก “อาหารพร้อมทาน” – ขยายต่างประเทศ

อาหาร ไทยเบฟ
  • กลุ่มฟู้ดของ “ไทยเบฟ” เดินตามวิสัยทัศน์ “PASSION 2030” ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 1,200 สาขาภายใน 6 ปี พิจารณาสยายปีกสู่ต่างประเทศ
  • เล็งส่งออก​ “อาหารพร้อมทาน” หลังพบเทรนด์ผู้บริโภคหลังโควิด-19 นิยมมากขึ้น เห็นโอกาสในตลาดอาหาร “ฮาลาล”
  • โค้งท้ายปี 2567 เตรียมโชว์เคสใหญ่ใน “วัน แบงค็อก” ขนร้านอาหารลง 16 แบรนด์

“โสภณ ราชรักษา” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดแผนระยะกลางของบริษัทตามวิสัยทัศน์ “PASSION 2030” สำหรับกลุ่มฟู้ดหรือ “ธุรกิจอาหาร” ของไทยเบฟ ในอีก 6 ปีข้างหน้าไทยเบฟต้องการจะขยายสาขาร้านอาหารครบ 1,200 สาขา จากปัจจุบันมี 819 สาขา

โดยปัจจุบันไทยเบฟมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือ 30 แบรนด์ (*ไม่รวม Starbucks) แต่ที่ถือเป็นพอร์ตใหญ่ทำรายได้รวมกันกว่า 90% ของธุรกิจ คือ “เคเอฟซี” (KFC) ซึ่งไทยเบฟเป็นหนึ่งในสามผู้ได้ไลเซนส์ขยายสาขา และ “กลุ่มโออิชิ” เช่น โออิชิ แกรนด์, โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ เป็นต้น ส่วนที่เหลือ 10% จะมาจาก “กลุ่มฟู้ดออฟเอเชีย” คือร้านอาหารสไตล์เอเชียอื่นๆ เช่น เสือใต้, Café Chilli, Man Fu Yuan, So Asean เป็นต้น

โออิชิ แกรนด์ สาขาเมกา บางนา

นอกจากการขยายสาขาในไทยแล้ว โสภณระบุว่าต้องการจะเริ่มนำธุรกิจอาหารของบริษัทไปขยายต่างประเทศในเขตอาเซียนด้วย โดยศักยภาพและโอกาสที่น่าจะส่งแบรนด์ออกไปได้น่าจะเป็นกลุ่ม “อาหารไทย” เพราะอาหารไทยมีชื่อเสียงอยู่แล้วในต่างประเทศ

จากเป้าหมายดังกล่าวทำให้กลุ่มอาหารของไทยเบฟจะมีการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ใช้ระบบ “AI” เข้ามาบริหารซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (food waste) บริหารบุคลากร รวมถึงการใช้วิเคราะห์ทำเลและขนาดร้านที่เหมาะสมกับทำเลนั้นๆ ด้วย เพื่อทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อบริษัทจะเข้าสู่การบริหารในระดับหลักพันสาขา

 

“อาหารพร้อมทาน” โอกาสในโลกหลังโควิด-19

โสภณกล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งที่จะมีการผลักดันมากขึ้นคือ อาหารพร้อมทาน (RTE: Ready to Eat) ซึ่งไทยเบฟมีสินค้าภายใต้แบรนด์ “โออิชิ” ทั้งกลุ่มแซนด์วิชแบบแช่เย็นและอบร้อน กลุ่มเกี๊ยวซ่า และกลุ่มอาหารจานเดียวสไตล์ญี่ปุ่น กลุ่มนี้ต้องการจะเพิ่มโอกาสขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศด้วย

อาหาร ไทยเบฟ
อาหารพร้อมทานในเครือไทยเบฟ

“เทรนด์การซื้ออาหารพร้อมทานติดตู้เย็นไว้เกิดขึ้นตั้งแต่โควิด-19 จนโรคระบาดหมดไปแล้วแต่พฤติกรรมผู้บริโภคตรงนี้ไม่ได้เปลี่ยน และเป็น global trend ด้วย เกิดขึ้นทั่วโลก” โสภณอธิบายถึงโอกาสที่เล็งเห็น

นอกจากอาหารพร้อมทานที่มีอยู่ปัจจุบัน กลุ่มฟู้ดยังมองด้วยว่าจากโอกาสที่ไทยเบฟนำ F&N เข้ามาอยู่ในเครือ อาจจะทำให้บริษัทสามารถผลักดันพอร์ตกลุ่มอาหารฮาลาลได้มากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกับ F&N ในมาเลเซีย

 

จัดใหญ่โชว์เคส 16 แบรนด์ลง “วัน แบงค็อก”

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มฟู้ดไทยเบฟในระยะใกล้ โสภณกล่าวว่ากลุ่มกำลังจะเปิดร้านอาหารพร้อมกัน 16 แบรนด์ในโครงการ “วัน แบงค็อก” ซึ่งเตรียมจะแกรนด์โอเพนนิ่งในส่วนรีเทลช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

โปรเจ็กต์นี้บริษัทใช้งบลงทุนรวมมากกว่า 400 ล้านบาทภายในโครงการแห่งนี้แห่งเดียว เพื่อตั้งใจจะให้เป็นจุดโชว์เคสร้านอาหารในเครือ และจะมีการเปิดแบรนด์ใหม่ที่เป็นร้านระดับ Fine Dining ด้วย

One Bangkok เตรียมเปิดบริการส่วนรีเทลปลายเดือนตุลาคมนี้

ในส่วนรายได้ของกลุ่มฟู้ดไทยเบฟช่วง 9 เดือนแรกของรอบปีบัญชี (ตุลาคม 2566 – มิถุนายน 2567) ทำรายได้ไป 15,022 ล้านบาท เติบโต 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของรอบปีก่อนหน้า โสภณเปิดเผยว่าจบ 12 เดือนรอบปีบัญชี 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) คาดกลุ่มฟู้ดของไทยเบฟจะทำรายได้อยู่ในช่วง 19,000 – 20,000 ล้านบาท

“จริงๆ ต้นปีตัวเลขค่อนข้างดีเลย แต่มาถึงปลายปีเศรษฐกิจเริ่มไม่ค่อยดี คนเริ่มกังวลและเน้นเก็บเงินไว้มากกว่า ถ้าเป็นตลาด QSR (Quick Service Restaurant) ยังขายดีอยู่ แต่ถ้าเซ็กเมนต์บนขึ้นไปหน่อย ผู้บริโภคเริ่มหายไป อาจจะเลือกทานร้านที่เน้นเรื่องราคากันมากขึ้น” โสภณกล่าว

อีกหนึ่งข้อกังวลในอนาคตอันใกล้คือประเด็น “ขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน” ซึ่งโสภณระบุว่าปัจจุบันกลุ่มฟู้ดไทยเบฟมีพนักงานกว่า 14,000 คน หากมีการปรับขึ้นค่าแรงตามตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนส่วนค่าแรงงานขึ้นทันที 8-9% ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะสามารถผลักดันไปสู่ผู้บริโภคได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยสดใส ทำให้อาจจะปรับราคาอาหารมากไม่ได้