“วัน แบงค็อก” เปิดออฟฟิศตึกแรกแล้ว! พื้นที่ “รีเทล” แกรนด์โอเพนนิ่งเดือนตุลาฯ ชูจุดเด่น “ช้อปปิ้ง สตรีท”

วัน แบงค็อก
ภาพจำลอง "ช้อปปิ้ง สตรีท" ในโซน Post 1928 พื้นที่รีเทลของวัน แบงค็อก
  • อภิมหาโปรเจ็กต์กลางกรุง “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) เริ่มเปิดออฟฟิศตึกแรก “Tower 4” ให้ผู้เช่าเข้าพื้นที่ได้แล้ว
  • อัปเดตพื้นที่ส่วน “รีเทล” ของโครงการแบ่งออกเป็น 3 โซน ตอบโจทย์ตั้งแต่อาหารสตรีทฟู้ดจนถึงไฟน์ไดนิ่ง ร้านฟาสต์แฟชั่นจนถึงลักชัวรีแบรนด์ พร้อมโชว์ไฮไลต์ “ช้อปปิ้ง สตรีท” รวมแบรนด์หรูระดับโลก โซนศูนย์การค้าวางเป้าแกรนด์โอเพนนิ่งเดือนตุลาคมนี้

เมกะโปรเจ็กต์ “วัน แบงค็อก” มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทของเครือตระกูลสิริวัฒนภักดีใกล้เสร็จสมบูรณ์เข้าไปทุกที โดยมีการเปิดตึกแรกในพื้นที่ 108 ไร่ก่อนที่ อาคารสำนักงาน “Tower 4” ริมถนนวิทยุ เริ่มให้ผู้เช่าเข้าตกแต่งและย้ายเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2567 รวมถึงเปิด “ทางเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน” สถานีลุมพินีเป็นที่เรียบร้อย

บรรยากาศโดยรอบจากการสำรวจของ Positioning พบว่าหลายอาคารในโครงการก็ก่อสร้างเกือบเสร็จแล้วเช่นกัน เห็นภาพชัดขึ้นว่าเมื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว วัน แบงค็อกน่าจะสร้างบรรยากาศแบบ “เมืองในเมือง” ได้จริง โดยมีจุดศูนย์รวมเป็นพื้นที่โล่งตรงกลาง แวดล้อมด้วยอาคารต่างขนาด ต่างความสูง และออกแบบแตกต่างกัน แต่รวมกันได้อย่างลงตัว

วัน แบงค็อก
บรรยากาศจริงภายในโครงการวัน แบงค็อก ตึกซ้ายมือสุดในรูปคือ “Tower 4” อาคารแรกที่เปิดใช้งาน (ถ่ายเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567)

ก่อนหน้านี้โครงการวัน แบงค็อกให้ข้อมูลด้านภาพรวมโครงการ การปล่อยเช่าพื้นที่ออฟฟิศ และเทคโนโลยีการสร้างสมาร์ทซิตี้ไปแล้ว แต่ยังมีอีกส่วนสำคัญที่ยังเหลือคือส่วน “รีเทล” ของวัน แบงค็อกที่ทุกคนรอคอยว่ากลุ่มผู้พัฒนากลุ่มนี้จะทำออกมาในรูปแบบใด

 

จุดเด่น “ช้อปปิ้ง สตรีท” ดึงแบรนด์หรูระดับโลกลงสโตร์

“ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า แนวคิดการสร้างพื้นที่รีเทลในโครงการวัน แบงค็อกเป็นการสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่ ประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า และไม่เหมือนพื้นที่รีเทลเดิมที่เคยมี ทำให้แบรนด์ที่จะได้เห็นที่นี่จะเป็นคอนเซ็ปต์ สโตร์ในรูปแบบใหม่ของแบรนด์

“พลินี คงชาญศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายรีเทล วัน แบงค็อก และ “ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด

“พลินี คงชาญศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายรีเทล วัน แบงค็อก อธิบายรายละเอียดพื้นที่รีเทล “One Bangkok Retail” ว่า จะมีพื้นที่เช่ารวมทั้งหมด 160,000 ตร.ม. แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่

1. Parade พื้นที่เช่า 85,000 ตร.ม. บนอาคาร 9 ชั้น เน้นคอนเซ็ปต์แหล่งใช้ชีวิตของ “ทุกคน ทุกวัน” ทำให้ภายในจะมีร้านอาหารประเภทราคาเข้าถึงง่าย ร้านอาหารกลุ่มครอบครัว ร้านค้าฟาสต์แฟชั่น ซูเปอร์มาร์เก็ต สนามเด็กเล่นในร่ม ร้านหนังสือคอนเซ็ปต์ใหม่ รวมถึงดิวตี้ฟรีบนพื้นที่ 5,000 ตร.ม.

วัน แบงค็อก

2. The Storeys พื้นที่เช่า 35,000 ตร.ม. บนอาคาร 5 ชั้น แหล่งรวมแฟชั่นไลฟ์สไตล์สุดฮิป และมีร้านอาหารพร้อมบริการได้ตั้งแต่เช้าจนถึงดึก ด้วยโซนบาร์แอนด์บิสโทร แหล่งแฮงเอาต์ยามค่ำคืน

3. Post 1928 พื้นที่เช่า 40,000 ตร.ม. บนอาคาร 5 ชั้น และพื้นที่ “ช้อปปิ้ง สตรีท” กลางแจ้ง ด้วยถนนกว้าง 33 เมตร ยาว 250 เมตร เรียงรายไปด้วยร้านค้าแบรนด์ระดับลักชัวรี ทั้งในกลุ่มแฟชั่น นาฬิกา และเครื่องประดับ

วัน แบงค็อก

สรุปรวมทั้ง 3 โซนจะมีร้านค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์กว่า 900 ร้าน ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มฟาสต์แฟชั่นถึงลักชัวรีแบรนด์

ขณะที่ร้านอาหารจะมีตั้งแต่กลุ่มสตรีทฟู้ดจนถึงไฟน์ไดนิ่งรวมกว่า 250 ร้าน ที่มาทานได้ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงตี 3 และโครงการยังออกแบบให้โซนร้านอาหารสามารถเดินเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้ง 3 โซน ความยาวกว่า 1.5 กิโลเมตร

One Bangkok Retail จะเปิดเฉพาะ 2 โซนแรกคือ “Parade” และ “The Storeys” ก่อนในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนโซน “Post 1928” จะเปิดบริการภายในปี 2568

 

“คิง พาวเวอร์” แม่เหล็กสำคัญ

พลินีกล่าวต่อว่า ขณะนี้ส่วนรีเทลมีผู้เช่าแล้ว 75% ของพื้นที่ทั้งหมด วางเป้าภายในสิ้นปีนี้จะปิดดีลผู้เช่าได้ 90% ของพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยแบรนด์ที่เข้ามาได้ แต่ยอมรับว่าส่วนดิวตี้ฟรีขนาดใหญ่ 5,000 ตร.ม. คือ “คิง พาวเวอร์” ซึ่งเป็นดิวตี้ฟรีเจ้าใหญ่ที่สุดของไทย

ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านหนังสือ “One Content Store” จะเป็นแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่ ไม่เคยมีในไทยมาก่อน

 

พร้อมจัดอีเวนต์ทั้งในร่ม กลางแจ้ง มีบันไดเดินพรมแดง

อีกองค์ประกอบสำคัญของโครงการวัน แบงค็อก คือการสร้างประสบการณ์และกิจกรรมภายในพื้นที่ โดยมีเมนหลักคือ อาคาร “Forum” เป็นอารีนาในร่มที่สามารถจุคนดูได้ถึง 6,000 ที่นั่ง พร้อมจัดทั้งคอนเสิร์ต ไลฟ์โชว์ นิทรรศการ ฯลฯ อาคารนี้ยังมีไฮไลต์เป็นบันไดยักษ์ด้านหน้าที่สามารถจัดเดินพรมแดงได้อย่างงดงาม

อาคาร Forum อารีนาจัดคอนเสิร์ตได้สูงสุด 6,000 ที่นั่ง

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่กลางแจ้งที่สามารถจัดอีเวนต์ต่างๆ ได้ ทั้งส่วนช้อปปิ้ง สตรีทที่โซน Post 1928, สวนสีเขียว One Bangkok Park ตรงใจกลาง และสวนสีเขียวอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโครงการ รวมแล้วมีพื้นที่พร้อมจัดอีเวนต์รวมทั้งในร่มและกลางแจ้ง 20,000 ตร.ม.

ความเป็นมิกซ์ยูสของโครงการวัน แบงค็อก จะทำให้โครงการสามารถดึงทราฟฟิกเข้ามาในส่วนรีเทลได้ โดยในส่วน “One Bangkok Retail” ตั้งเป้ามีผู้เข้าใช้บริการไว้ถึง 90 ล้านคนต่อปี คาดว่า 60% จะเป็นกลุ่มคนไทยและ expat และอีก 40% เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว

วัน แบงค็อก
ทางเชื่อม MRT ลุมพินีของ “วัน แบงค็อก”

ปณตกล่าวสรุปถึงภาพรวมโครงการวัน แบงค็อกที่ต้องการจะเป็น “เมืองกลางใจ” (The Heart of Bangkok) ว่า ภายในสิ้นปีนี้โครงการจะได้เผยโฉมพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการ ได้แก่ ออฟฟิศ 2 อาคาร, รีเทล 2 โซน, โรงแรม 2 อาคาร (เดอะ ริทซ์ คาร์ลตัน แบงค็อก และ แอนดาซ วัน แบงค็อก) รวมถึงอารีนา Forum สำหรับจัดอีเวนต์ และพื้นที่สวนสาธารณะต่างๆ

“ผมเชื่อว่าเราได้ลงทุนในทำเลที่ไม่มีที่ไหนแทนที่ได้ ด้วยการเชื่อมต่อกับ MRT ในสายที่เป็น Circle Line ของกรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อดึงประชากรเข้ามาได้ทั้งจากฝั่งตะวันตกและตะวันออก กลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่ไม่เหมือนใคร” ปณตกล่าว “ขอยกเครดิตให้วิสัยทัศน์ของคุณเจริญ (เจริญ สิริวัฒนภักดี) ที่เล็งเห็นว่าพื้นที่นี้จะมีอนาคตและให้เราเข้าไปประมูลแข่งขันกับบริษัทอีกกว่า 40 รายจนได้มาเป็นโครงการที่จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯ วันนี้”